ในช่วงปลายปี 2566 ดูเหมือนว่าบรรยากาศความมั่นคงระหว่างประเทศนั้นตึงเครียดและคุกรุ่นไปทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ ความรุนแรงในฉนวนกาซาที่ยังไม่คลี่คลาย การปะทะในเมียนมาที่น่ากังวลมากขึ้น และล่าสุดเกิด “จุดเดือด” แห่งใหม่ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ อย่างเวเนซุเอลา และกายอานา…ประเทศเพื่อนบ้านกันที่กระทบกระทั่งกันเรื่องพื้นที่พิพาท ชื่อว่า Essequibo อ่านว่า “เอสซิควีโบ” ดินแดนที่กว้างประมาณ 160,000 ตารางกิโลเมตร อยู่ติดกับภาคตะวันออกของเวเนซุเอลา และภาคตะวันตกของกายอานา เป็นพื้นที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ชายฝั่งติดมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งแร่ธาตุมากมายนั่นเอง
ดังนั้น…….. ประเทศใดที่ครอบครองพื้นที่ Essequibo ก็จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง
ความขัดแย้งที่คุกรุ่นในครั้งนี้ เริ่มจากผู้นำเวเนซุเอลา หรือประธานาธิบดี Nicolás Maduro ประกาศเอาดื้อ ๆ เมื่อ 3 ธันวาคม 2566 ว่าจะทำประชามติในประเทศ เพื่อเดินหน้าผนวกพื้นที่พิพาท Essequibo เป็นส่วนหนึ่งของเวเนซุเอลา รวมทั้งเตรียมจะตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นจังหวัด Guayana Esequiba ของเวเนซุเอลาแล้ว เพราะชาวเวเนซุเอลาส่วนมากเห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับสัญชาติเวเนซุเอลา และยื่นเงื่อนไขให้บริษัทน้ำมันของกายอานา ออกจากพื้นที่ภายใน 3 เดือน!!…… การดำเนินการของผู้นำเวเนซุเอลาหมายถึงการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทดังกล่าว ทั้งที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้อาณาเขตการจัดการของกายอานา ตามอนุสัญญาเจนีวาเมื่อปี 2509 ที่เวเนซุเอลาตกลงร่วมกับอังกฤษ และบริติช เกียนา ก่อนที่บริติช เกียนา จะได้รับเอกราชจากอังกฤษ และกลายเป็น “สาธารณรัฐกายอานา” เมื่อกลางปีเดียวกันนั่นเอง
การที่กายอานา ประเทศที่มีประชากรอยู่ที่ประมาณ 800,000 คน มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ Essequibo ทำให้กลายเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วอันดับต้น ๆ ของโลกในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่องใน 5 ปีข้างหน้า เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีพื้นที่ที่คาดว่ามีน้ำมันอยู่มากถึง 11,000 ล้านบาร์เรล ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้มากมาย ซึ่งการที่กายอานาเดินหน้าประมูลแหล่งน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวเนซุเอลาไม่พอใจ เพราะยังเป็นพื้นที่พิพาทของทั้ง 2 ประเทศ
ผู้นำเวเนซุเอลาเห็นเป็นแบบนั้นอาจจะยิ่งขุ่นเคืองใจ เลยตัดสินใจเร่งแผนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวในตอนนี้ ทั้งเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมาให้ประชาชน รวมทั้งอาจเป็นแผนเพื่อสร้างแรงสนับสนุนในช่วงที่การเมืองภายในของเวเนซุเอลาก็ใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะมีการเลือกตั้งในปี 2567 ด้วย
จริง ๆ แล้วความตั้งใจของประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในเรื่องนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ที่ประธานาธิบดี Maduro ประกาศว่าเวเนซุเอลาจะมุ่งมั่นใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรจากพื้นที่พิพาทดังกล่าว และที่น่ากังวลจนทำให้สหประชาชาติต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อยับยั้งความขัดแย้ง เพราะหลายฝ่ายกลัวว่าเวเนซุเอลาจะผนวกดินแดนดังกล่าวด้วยการใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองพื้นที่ Essequibo จนทำให้ประเทศมหาอำนาจใกล้ ๆ กับภูมิภาคอเมริกาใต้อย่างสหรัฐอเมริกา ต้องออกโรงใหญ่ปกป้องกายอานา ด้วยการฝึกร่วมทางการทหารกับกายอานา
….และในเวลาใกล้เคียงกับที่ประธานาธิบดีเวเนซุเอลามีท่าทีแข็งกร้าว ประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ก็ไม่ได้นิ่งดูสถานการณ์อยู่เฉย ๆ เพราะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันของบราซิล (พี่ใหญ่ในภูมิภาค) อาร์เจนตินา ชิลี เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เปรูและอุรุกวัย เพื่อเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศเจรจากันเพื่อหาแนวทางยุติข้อพิพาทครั้งนี้ ขณะที่สหประชาชาติต้องนัดหมายการประชุมระหว่างผู้แทนของเวเนซุเอลาและกายอานา เพื่อหาทางยุติและยับยั้งความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลาย
ส่วนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ (International Court of Justice) ก็เข้าไปมีบทบาทด้วยการขอให้เวเนซุเอลายกเลิกการลงประชามติ แต่ดูเหมือนเวเนซุเอลาจะไม่สนใจ ICJ ทั้งที่ปัจจุบัน ICJ มีอำนาจในการตัดสินเกี่ยวกับข้อพิพาททางดินแดนแห่งนี้ ตามกระบวนการที่สหประชาชาติเสนอ
แน่นอนว่าแต่ไหนแต่ไรมา พื้นที่ Essequibo เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างทั้ง 2 ประเทศมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งของข้อพิพาทนี้ นอกจากเรื่อง “ทรัพยากรธรรมชาติ” อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเรื่องการเมืองภายในของเวนซุเอลา ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น “มรดกจากยุคล่าอาณานิคม” เหมือนในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ฝ่ายเวเนซุเอลาในอดีตตกเป็นดินแดนภายใต้อาณานิคมของสเปน ซึ่งสเปนก็ครอบครองมาถึงพื้นที่ Essequibo ด้วย ตามแผนที่เมื่อปี 2320 แต่เมื่ออังกฤษเข้ามาจัดสรรปันส่วน รวมทั้งรวมเอาพื้นที่ทางตะวันออกของเวเนซุเอลาเป็นบริติช เกียนา และให้เอกราชเป็นกายอานาในที่สุด แต่ไม่ได้ตกลงให้ชัดเจนในอนุสัญญาเจนีวา ว่าจะมีขั้นตอนและแนวทางการยุติข้อพิพาทระหว่าง 2 พื้นที่นี้อย่างไร แม้ว่าเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษจะรู้อยู่แล้วว่า เวเนซุเอลาคัดค้านการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี 2442 ที่ให้อังกฤษได้กรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวไป จนทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งเหนือพื้นที่พิพาทได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
บทบาทของประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้อาจมีความสำคัญมากที่สุด เพราะไม่มีประเทศใดต้องการให้เกิดภาวะสงครามที่จะกระทบบรรยากาศความมั่นคงของภูมิภาค ขณะที่สหประชาชาติน่าจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดระดับความตึงเครียด เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย กลายเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งที่บั่นทอนความร่วมมือระหว่างประเทศ
……….และท้ายที่สุดนี้ บทบาทและความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ปกป้องกายอานา และรัสเซีย ที่เป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดกับเวเนซุเอลา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าติดตามในสถานการณ์นี้เช่นกัน ..ตำนานพื้นที่พิพาทที่มีประวัติศาสตร์นานกว่า 100 ปีอาจจะหาทางออกที่ได้รับชัยชนะทุกฝ่าย (win-win solution) ได้ไม่ง่าย แต่หากมีการยื่นเงื่อนไขที่ประนีประนอมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย (หรือหลายฝ่าย??) ก็อาจลดความดุเดือดและคลายเส้นตึงเครียดในอเมริกาใต้ตอนนี้ลงได้ไปอีกสักระยะ….