จากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานราว 800 ปีของประเทศไทย ทำให้มีการสะสมแนวทางของวิถีชีวิต จนเกิดเป็นภูมิปัญญาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิต ผสมผสานกับความเชื่อความเข้าใจในธรรมชาติ ตามการค้นพบในยุคต่างๆ รวมถึงการสร้างสรรค์ศิลปะ ที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์สำคัญของแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่น
ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย โดยในปัจจุบัน มูลค่าของภูมิปัญญานอกจากจะแสดงถึงอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ ยังได้รับการต่อยอดมาสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ที่สามารถค้าขายและแลกเปลี่ยนได้ทั่วโลก
การนำภูมิปัญญามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่แตกต่างจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หลักของหลายประเทศ รองจากภาคอุตสาหกรรม การค้าและการส่งออก ดังนั้น การส่งออกสินค้าท้องถิ่น จึงเป็นการใช้ทรัพยกรธรรมชาติในท้องถิ่น ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาออกเป็นสินค้า “สินค้าที่มาจากภูมิปัญญา” จึงเป็นอาวุธสำคัญทางการค้า ที่ไม่ได้ทำให้ประเทศที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กได้เปรียบ เสียเปรียบไปมากกว่ากัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางสินค้านี้ จึงเป็นโอกาสการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมากมาย
“สิ่งที่มีประจำและเห็นอยู่ทุกวันอาจมีมูลค่าต่ำ” คือ มุมมองที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น แต่หากภูมิปัญญาเหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดผ่านความภาคภูมิใจออกมาเป็นสินค้าที่เห็นได้ยากในตลาดต่างประเทศ ก็สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้น การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาหรือมีที่ไปของทรัพยากร วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นขนมหรือหัตถกรรมที่เป็นสินค้าส่งออกนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ชาวต่างชาติยอมรับในตัวสินค้ามากขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออก “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่เป็นการใช้ช่องทางการสื่อสารหรือขนส่งในปัจจุบันในการแสดงวัฒนธรรมไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ประเทศ
……….ไม่ใช่การกระตุ้น GDP โดยการสร้างธุรกิจจากมูลค่าในเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่การส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า เป็นการกระจายรายได้คืนสู่ท้องถิ่นที่มีภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นอยู่แล้ว
หากกล่าวถึงสินค้าภูมิปัญญาที่มีการส่งออกและได้ความนิยมในต่างประเทศ สำหรับไทย นั่นก็คือ OTOP ที่มีการสนับสนุนทำสินค้าภูมิปัญญา หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยเป็นโครงการที่ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตสินค้าออกมา และมีการคัดเกรด เพื่อนำเสนอต่อตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สินค้าหลายรายการได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ แต่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการจากทั้งหมด 186,000 รายการ ที่ยังต้องการการส่งเสริมเพื่อส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่นิยมสินค้า OTOP จากไทยหลายชนิด และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างสดใหม่และรวดเร็ว สร้างความหลากหลายในการส่งออกได้มากขึ้น
“การขยายการผลิตสินค้าภูมิปัญญา” ทำได้หลายรูปแบบ โดยอาศัยการแยกกระบวนการผลิตไปยังต่างประเทศ เช่นการใช้วัตถุดิบในประเทศไทย ส่งไปแปรรูปในโรงงานที่ตั้งภายนอกประเทศ การทำในลักษณะนี้จะช่วยทำให้สินค้าประเภทอาหารมีความสดใหม่ และยังช่วยระบายวัตถุดิบในไทยไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย แตกต่างจากการตั้งโรงงานผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ การทำกระบวนการแบบนี้ ผู้ผลิตเป็นผู้มอบเทคนิควิธีการผลิตและภูมิปัญญาไปสู่โรงงานที่ผลิต (อาจมีความเสี่ยงในด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ทางภูมิปัญญานำไปผลิตเองทำให้เกิดคู่แข่งทางการตลาด) หรืออีกช่องทางหนึ่งนั่น คือ การผลิตที่ประเทศไทยเพื่อรักษากระบวนการผลิตและคุณภาพไว้ แต่นำไปบรรจุที่ตลาดต่างประเทศ ก็จะเป็นการผลิตและส่งสินค้าจำนวนมากได้ ทั้งนี้ กระบวนการผลิตแบบใดจะเหมาะสมกับสินค้าชนิดใด ขึ้นอยู่กับประเภทและกระบวนการผลิตที่เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ
…..นี่อาจเป็นเพียงช่องทางหนึ่งของการส่งเสริมและขยายตลาดของ “สินค้าภูมิปัญญา” …โดยยังมีแนวทางการขยายตลาดเพื่อส่งออกสินค้า ของกิน และเครื่องใช้ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมอีก ซึ่งจะเป็นการส่งออกวัฒนธรรมไปด้วยอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากการเผยแพร่ด้วยสื่อแบบ “ซอฟเพาเวอร์” อื่นๆ
……………………………………………………………………