เว็บไซต์ ScienceAlert รายงานเมื่อ 3 มี.ค. 68 ว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กและโคโลญของเยอรมนี ได้ศึกษาการลดใช้งานโทรศัพท์มือถือว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการทำงานของสมอง ซึ่งทดลองกับผู้ใหญ่อายุ 18 – 30 ปี จำนวน 25 คน โดยคนกลุ่มนี้จะถูกจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง โดยให้ใช้งานได้เฉพาะการพูดคุยสำคัญและการทำงานเท่านั้น เมื่อจบการทดสอบ ผู้ทดสอบจะเข้ารับการสแกนสมองด้วยเครื่องถ่ายภาพร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging – MRI) และการทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบประสาทหลังจากการจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือ
การทดสอบด้วยการสแกนสมองพบการเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่สมองส่วนเชื่อมโยงการให้รางวัลและความอยากเมื่อแสดงภาพโทรศัพท์มือถือให้ดู ซึ่งมีผลคล้ายกับสมองของคนที่มีการเสพสารเสพติด และมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อสมอง ได้แก่ โดปามีนและเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับสมองหลายส่วนรวมถึงส่วนควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ จึงคาดว่าโทรศัพท์มือถือสามารถทำให้เกิดการเสพติดได้เหมือนกับนิโคตินและแอลกอฮอล์ ส่วนการทดสอบทางจิตวิทยาไม่พบการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความอยากใช้โทรศัพท์ในกลุ่มผู้เข้าทดลอง
นักวิจัยระบุว่า การศึกษานี้ยังไม่สามารถเจาะลึกรายละเอียดได้ว่าพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างไร เนื่องจากอาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และการทดสอบนี้ยังไม่สามารถแยกระหว่างความรู้สึกอยากให้งานโทรศัพท์มือถือและความรู้สึกอยากมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมออกจากกันได้ เพราะความรู้สึกเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น การศึกษาต่อในอนาคตจะพยายามแยกความรู้สึกเหล่านี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น