การประกาศความร่วมมือทางด้านความมั่นคงสามฝ่ายระหว่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า AUKUS เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ได้สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งโลก
โดยเฉพาะประเทศซึ่งอยู่ในแถบอินโด-แปซิฟิกซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรอบความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคงนี้ เพราะถือเป็นกรอบความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงแรก ๆ ในระดับภูมิภาค
ยิ่งไปกว่านั้นคือภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีผลอย่างมากต่อดุลแห่งอำนาจภายในภูมิภาค
ถึงแม้ว่าทั้งสามประเทศไม่ได้ระบุชัดเจนว่าภัยคุกคามร่วมกันภายในภูมิภาคนี้คือใครอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐอเมริกามีนโยบายทางความมั่นคงที่ชัดเจนในการปิดล้อมจีน ซึ่งทำให้ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว
แต่ดูเหมือนว่า AUKUS ไม่ได้สร้างความหวาดวิตกกับจีนอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ข้อตกลงนี้กลับทำให้บรรดาพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และพื้นที่อื่น ๆ ต้องกลับมาตั้งคำถามกับผลประโยชน์ของตัวเองในข้อตกลงนี้
หนึ่งในนั้นก็คืออินเดีย เพราะเมื่อเทียบกับจีนแล้ว อินเดียถือว่าใกล้กับออสเตรเลียมากกว่า แถมทั้งสองประเทศมีการแบ่งปันพื้นที่ภายในมหาสมุทรบางส่วนร่วมกันด้วย เมื่อปีที่แล้วอินเดียได้มีการเชิญออสเตรเลียให้เข้าร่วมการฝึกรบทางทะเล หรือที่เรียกว่า “Malabar exercise”
ในวงวิชาการทางด้านความมั่นคงและการต่างประเทศมีการถกเถียงกันอยู่มากถึงการมาของข้อตกลง AUKUS ว่าสุดท้ายแล้วอินเดียได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด และอินเดียควรมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว
แน่นอนว่าเสียงส่วนใหญ่ในตอนนี้มองว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่ออินเดียมากกว่าผลเสียเนื่องจากออสเตรเลียนั้นเป็นพันธมิตรในกลุ่ม QUAD อยู่แต่เดิม และสายสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก็ดีมาโดยตลอดทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้นการที่ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ไม่ได้สร้างภัยคุกคามใด ๆ ต่ออินเดียเท่าไหร่นัก เพราะรอบข้างอินเดีย โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานและจีน ซึ่งมีปัญหากับอินเดียมาอยู่เนือง ๆ ต่างก็เป็นชาตินิวเคลียร์ด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่พันธมิตรของอินเดียมีสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
อย่างไรก็ตามแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่อินเดียก็ไม่สามารถแสดงท่าทีได้อย่างเต็มที่มากนัก เพราะอินเดียยังคงมีเพื่อนบ้านเป็นจีน การที่ข้อตกลงนี้คุกคามจีน การแสดงท่าทีใด ๆ ของอินเดียอาจส่งผลต่อสายสัมพันธ์ต่อจีนได้
ที่สำคัญการมาของ AUKUS นั้นมาพร้อมความเสียหายจำนวนมหาศาลของฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญมากประเทศหนึ่งของอินเดีย
แต่ที่ขาดเสียไม่ได้คือการคาดการณ์อนาคตเพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันอินเดียถือเป็นไม่กี่ประเทศที่มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย ฉะนั้นหากวันข้างหน้าออสเตรเลียแปรเปลี่ยนจากมิตรเป็นคู่ขัดแย้ง อินเดียจะต้องเผชิญปัญหาภัยคุกคามทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียตะวันออกเช่นกัน
ฉะนั้นในวันนี้เราจึงยังเห็นท่าทีที่ไม่ชัดเจนของอินเดียต่อ AUKUS แต่ที่แน่นอนคืออินเดียคงเลือกไม่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ เนื่องจากอินเดียค่อนข้างมีแนวนโยบายความมั่นคงที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการถูกบีบบังคับหรือเข้าไปพัวพันกับกรอบความร่วมมือด้านการทหารที่ตัวเองกำหนดทิศทางไม่ได้
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน