สังคมมนุษย์ยุคบรรพกาล ที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ สังคมมนุษย์ในยุคนั้นยังเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ที่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นหลักแหล่ง จนกระทั่งเมื่อรู้จักการทำเกษตร มนุษย์ส่วนใหญ่จึงเริ่มลงหลักปักฐาน ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชน คงมีเหลือแค่บางเผ่าที่ยังคงวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน ซึ่งปัจจุบันก็เหลือน้อยมาก ๆ
แต่การมาถึงของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้การประกอบอาชีพบนโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องธรรมดา ชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่ได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงเริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง เรียกกันว่า “digital nomad” หรือชนเผ่าเร่ร่อนในยุคดิจิทัล ที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการทำมาหากิน ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ถาวรในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่สามารถท่องเที่ยวและย้ายที่ทำงานไปได้เรื่อย ๆ ทั่วโลก ไม่มีเส้นเขตแดนเป็นข้อจำกัด
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกี่ยวพันกับประเทศไทย ในฐานะพื้นที่ยอดนิยมที่ชาวชนเผ่าเร่ร่อนนิยมมาใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ข้อมูลจากรายงาน “The 2021 State of Digital Nomads” ที่สำรวจความคิดเห็นชาว digital nomad และเผยแพร่บนเว็บไซต์ nomadlist.com ที่เป็นชุมชนของชาว digital nomad ทั่วโลก จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีชาว digital nomad มาเยี่ยมเยียนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 5 จากกลุ่มตัวอย่าง 148,516 คน (อันดับ 1 คือสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 16) ส่วนถ้าว่าถึงความชื่นชอบ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ชายจัดอันดับให้เชียงใหม่เป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 3 ส่วนกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงจัดให้เชียงใหม่อยู่อันดับที่ 4 จากทุกเมืองทั่วโลก
ทำไมประเทศไทยจึงครองใจชนเผ่าเร่ร่อนดิจิทัล? ถ้าไปดูรายละเอียดบนเว็บไซต์ดังกล่าว จะพบว่าเมืองของไทยที่ติดอันดับอย่างทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และเกาะพะงัน มีจุดเด่นร่วมกันในหัวข้อมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ค่าครองชีพต่ำ และเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ
ความเป็นมิตรกับชาวต่างชาติเป็นจุดเด่นของประเทศไทยมาเนิ่นนาน จากการที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยความยินดี ส่วนเรื่องค่าครองชีพ ไทยถือเป็นดินแดนที่สมบูรณ์แบบสำหรับ digital nomad เนื่องจากพวกเขาสามารถทำงานออนไลน์กับบริษัทตะวันตก รับเงินเดือนสูงตามมาตรฐานโลกตะวันตก ขณะที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในไทยที่ค่าครองชีพแสนถูก และยังมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของชนเผ่าเร่ร่อนดิจิทัล แน่นอนว่าไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถทำงานผ่านระบบทางไกลได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอาชีพส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่ทำงานสายไอที (รายงาน The 2021 State of Digital Nomads บอกว่าส่วนใหญ่ทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัป นักพัฒนาเว็บไซต์ ฯลฯ) ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตที่ไวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก(เว็บไซต์ speedtest.com จัดอันดับให้อยู่ที่49 ของโลก) ราคาค่าอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้สูงมาก แล้วยังมีวัฒนธรรมร้านกาแฟที่มีไวไฟไว้ให้ใช้ฟรี ก็ยิ่งเหมือนกับสวรรค์ของ digital nomad เลยทีเดียว
การเติบโตของ digital nomad โดยเฉพาะในยุค COVID-19 ที่การทำงานผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น ไม่ได้หลุดพ้นสายตาการสอดส่องหาลูกค้าของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้กลุ่ม digital nomad เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดให้มาใช้ไทยเป็นฐานในการทำงานพร้อมกับท่องเที่ยวไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าการท่องเที่ยวในยุคเริ่มต้นของการเปิดประเทศคงต้องมุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวที่ใช้เวลาในไทยค่อนข้างนาน จากข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศที่คงยังไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่ได้ง่ายนัก
รายงาน “The 2021 State of Digital Nomads” ให้ภาพของกลุ่ม digital nomad ว่าส่วนใหญ่เป็นชายโสด อายุเฉลี่ย 32 ปี มีทัศนคติทางการเมืองแบบหัวก้าวหน้า ไม่นับถือศาสนา รายได้เฉลี่ยปีละ 50,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำงานสายไอที และเป็นชาวอเมริกันถึงร้อยละ 50 รายละเอียดเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ของไทยว่าจะเอาศักยภาพของตัวเองออกมาแสดงเพื่อดึงดูดชนเผ่าเร่ร่อนแห่งโลกยุคใหม่เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
——————————————————-