อินเดียและจีนต่างถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียมาอย่างต่อเนื่องด้วยขนาดประชากรที่มีจำนวนมาก ตลอดจนเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญไปกว่านั้นทั้งสองประเทศต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากช่วงอาณานิคม ซึ่งทำให้ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิทั้งสองเสื่อมถอย
นับตั้งอินเดียได้รับเอกราชในปี 2490 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 ทั้งสองประเทศก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นนับตั้งแต่นั้น ผ่านสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีเนห์รูของอินเดีย กับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีน
แต่นับตั้งแต่จีนสามารถยึดครองทิเบตได้สำเร็จส่งผลให้จีน-อินเดียมีพรมแดนติดกันอย่างเป็นทางการ ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสองประเทศจากมุมมองทางด้านแผนที่ที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งดังกล่าวจบลงด้วยสงครามในปี 2505 และกลายเป็นความบาดหมางที่ร้าวลึกระหว่างสองประเทศ
อย่างไรก็ตามในปี 2531 อินเดียและจีนหันกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง และตัดสินใจที่จะวางปัญหาทางด้านพรมแดนไว้ก่อน และหันมาให้ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในปีนั้นนายกรัฐมนตรีราจีพ คานธีของอินเดียได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองประเทศก็ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ
กระทั่งพฤษภาคม 2563 ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนกลับมาตึงเครียดอีกครั้งหลังเกิดการปะทะกันตามแนวพรมแดนจนเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายต้องเสียทหารไป ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งทางด้านพรมแดนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีเลยก็ว่าได้
ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาซึ่งการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของกระแสเกลียดกลัวจีนในหมู่คนอินเดีย นำมาซึ่งมาตรการทางด้านเศรษฐกิจมากมายไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการแบนแอปพลิเคชั่นสัญชาติจีนในอินเดีย การกีดกันการลงทุนจากนักธุรกิจจีน ตลอดจนการวางมาตรการเพื่อป้องกันการเข้ามาพัฒนา 5G ของบริษัทจีนในอินเดีย
หลายคนมองว่าปัญหาความสัมพันธ์อินเดีย-จีนนั้นดูจะเลวร้ายอย่างยิ่งในสภาพที่เรียกได้ว่าคงไม่สามารถร่วมมือใด ๆ กันต่อไปได้ หรือผลกระทบทางด้านการทหารคงส่งผลให้ทั้งสองประเทศลดความร่วมมือกันอย่างมาก
แต่ดูเหมือนว่าบทวิเคราะห์ดังกล่าวจะใช้ได้เพียงกับในมิติทางการทหารและการเมืองเท่านั้น เพราะในเชิงเศรษฐกิจ ข้อมูลการค้าระหว่างสองประเทศดูจะสวนทางอย่างยิ่งจากความตึงเครียดทางด้านพรมแดน เพราะในปี 2563 ที่ผ่านมาจีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดีย และมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศยังเพิ่มสูงถึง 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่ข้อมูลการค้าอินเดีย-จีนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 พบว่ามูลค่าการค้าสูงถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 49 ฉะนั้นมีการคาดกันว่าในปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือในมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น อินเดียเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าจากจีนจำนวนมหาศาล จนกล่าวได้ว่าอินเดียเสียเปรียบดุลการค้าให้กับจีนมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ที่ทำการค้ากับอินเดีย ทั้งนี้เป็นผลมาจากอินเดียต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจำนวนมากจากจีนเพื่อนำมาป้อนอุตสาหกรรมในประเทศ ในขณะเดียวกันหลายธุรกิจของอินเดียไม่สามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนอยู่ในสภาพที่คลุมเครือ จะรักจนหมดใจและให้ความช่วยเหลือกันและกันตลอดเวลาก็คงทำไม่ได้ ในขณะเดียวกันจะตัดกันให้ขาดจนไม่เหลือเยื่อใยก็ดูจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการขยายอิทธิพลของจีนที่รวดเร็วเข้ามาในเอเชียใต้ซึ่งเปรียบเหมือนหลังบ้านของอินเดีย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารของจีนตามแนวพรมแดนของอินเดีย
ปัจจัยทั้งสองจะส่งผลให้อินเดียต้องวางนโยบายทางด้านความมั่นคง การต่างประเทศ และการทหารเพื่อป้องปรามการขยายอิทธิพลของจีนมากขึ้น
ลักษณะเช่นนี้หากกระบวนการพุดคุยกันระหว่างอินเดียและจีนนั้นไม่ราบรื่นและหาความสันติร่วมกันไม่ได้ อาจส่งผลให้ทั้งสองประเทศปะทะกันอีกครั้ง เพราะจนถึงวันนี้แม้จะมีการเจรจาทางด้านพรมแดนหลายครั้ง แต่ทั้งสองประเทศยังไม่สามารถตัดสินใจเอาทหารออกจากพื้นที่พิพาทบางจุดได้
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน