ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ปัจจุบันต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบทางด้านพลังงานจากภายนอกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ราคาพลังงานของประเทศไทยต้องพึ่งพากลไกราคาของตลาดโลกเป็นสำคัญ
.
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตลาดพลังงานโลกมีความผันผวนอย่างมากจากหลากหลายปัจจัยทั้งความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายมากยิ่งขึ้น
.
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง และการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายในประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบและสินค้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของโลก
.
ในขณะที่นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหลายประเทศในเขตเหนือเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการทำความร้อนในภาคครัวเรือน เพื่อสร้างความอบอุ่น
.
ทั้งสองปัจจัยนี้ผลักดันให้อัตราการบริโภคพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อุปทานด้านพลังงานนั้นไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ หรือแหล่งผลิตพลังงานในบางประเทศเผชิญปัญหาในการผลิต
.
เมื่อความสามารถในการผลิตพลังงานไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเร็วนี้ได้อย่างทันท่วงที ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ราคาวัตถุดิบทางด้านพลังงานโลกจึงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ และในหลายประเทศต้องเผชิญความขาดแคลนทางด้านพลังงานจนเกิดปัญหาไฟฟ้าดับอีกด้วย
.
แน่นอนว่าประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานจากภายนอกจำนวนมากนั้นไม่สามารถหลุดพ้นจากความผันผวนดังกล่าวได้ ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจาก อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลาพอสมควรหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19
.
แต่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่คงราคานี้ไว้ได้อีกไม่นานนักเนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า และในปัจจุบันเรามีการนำเข้าพลังงานนี้เข้ามาใช้เป็นจำนวนมากเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า
.
ความเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผันผวนอย่างมาก โดยตลาดของสหรัฐอเมริกานั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.4 USD/MMBtu ในเดือนมกราคม 2564 เป็น 6.3 USD/MMBtu ในช่วงสูงสุดของต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
.
แม้ตอนนี้สถานการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่คาดว่าในปีหน้าราคาไฟฟ้าของไทยจะต้องได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย
.
ฉะนั้นในปีหน้าหากรัฐบาลไทยยังไม่มีแผนงานที่ดีเพียงพอหรือหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการอุดหนุนเรื่องการพยุงราคาค่าไฟฟ้าไว้ในระดับปัจจุบัน คนไทยจะต้องเผชิญการปรับตัวของราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
.
และการที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ควบคู่กับราคาพลังงานอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของคนไทย และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด19 ก่อนหน้านี้
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน