“เราไม่สามารถอธิบายให้เกษตรกรของเราฟังได้ นี่ไม่ใช่เวลาโทษใคร ผมอยากบอกคุณว่าเราได้ถอนกฎหมายการเกษตรแล้ว”
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย
19 พฤศจิกายน 2564
กฎหมายการเกษตรใหม่ของรัฐบาลอินเดียซึ่งผ่านรัฐสภาไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2563 ถือเป็นชุดกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มชาวนาในประเทศโดยเฉพาะในเขตทางภาคเหนือ ส่งผลให้ตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ชาวนามีการประท้วงกฎหมายการเกษตรทั้ง 3 ฉบับมาโดยต่อเนื่อง
.
การประท้วงของขบวนการชาวนาอินเดียต่อกฎหมายการเกษตรใหม่ถือเป็นที่จับตามองอย่างยิ่งจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นการประท้วงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของความเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของรัฐบาลอินเดีย
.
แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะพยายามอย่างยิ่งในการอธิบายว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และเกษตรกรสามารถค้าขายสินค้าของตัวเองอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ถูกควบคุมโดยกลุ่มผลประโยชน์ใด กลุ่มผลประโยชน์หนึ่งโดยเฉพาะก็ตาม
.
แต่เนื่องจากกระบวนการในการออกแบบกฎหมายขาดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างบรรดาสหกรณ์การเกษตร และสมาคมการเกษตรที่อยู่ตามรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาในเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย
.
จุดนี้เองกลายเป็นชนวนที่สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับบรรดาเกษตรกรและชาวนา ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกระบวนการซื้อขายสินค้าเกษตรได้มากยิ่งขึ้น
.
แม้ในมุมหนึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในเรื่องการส่งออกสินค้า และป้องกันปัญหาผูกขาดการซื้อ แต่ในมุมมองของชาวนามองว่าลักษณะดังกล่าวเป็นความพยายามเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยเฉพาะกฎหมายเกษตรพันธสัญญาที่เป็น 1 ใน 3 กฎหมายการเกษตรที่ออกมาใหม่
.
ตลอด 1 ปีกว่าแห่งการประท้วงนี้นั้น รัฐบาลและกลุ่มชาวนาได้มีการปะทะกันหลายครั้ง ส่งผลให้มีชาวนาต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก โดยเฉพาะการประท้วงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนในรัฐอุตตรประเทศที่สร้างแรงสะเทือนอย่างมากต่อพรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน คือการขับรถฝ่าผู้ชุมนุมของลูกชายแกนนำระดับสูงของพรรค
.
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสร้างแรงโกรธแค้นให้กับกลุ่มชาวนาอย่างมาก แรงกดดันนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อพรรคบีเจพีอย่างยิ่ง เพราะในปี 2565 นี้ รัฐอุตตรประเทศจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์การเลือกตั้งระดับประเทศ พรรคไหนที่ครองความเป็นผู้นำในรัฐนี้ได้ก็มีโอกาสสูงที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล
.
นอกจากรัฐอุตตรประเทศแล้ว ในรัฐปัญจาบเอง ปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐนี้เป็นอีกหนึ่งรัฐที่มีการต่อต้านกฎหมายการเกษตรอย่างมาก แน่นอนว่าพรรคบีเจพีรับรู้ถึงความไม่พอใจของบรรดาชาวนาที่มีต่อกฎหมายการเกษตรใหม่ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ย่อมจะนำความพ่ายแพ้มาสู่พรรคบีเจพีในการเลือกตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะชาวนาถือเป็นผู้ออกเสียงที่สำคัญอย่างยิ่งในการเมืองอินเดีย
.
การตัดสินใจถอนกฎหมายการเกษตรของนายกรัฐมนตรีโมดีในครั้งนี้ จึงมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิทัศน์ทางการเมืองในรัฐทั้งสอง ที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า โดยหวังว่าบรรดาชาวนาจะหันกลับมาให้การสนับสนุนพรรคบีเจพีในการเลือกตั้งอีกครั้ง
.
ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสินใจในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อการเลือกตั้งในระดับรัฐของพรรคบีเจพีด้วย เพราะก่อนหน้านี้หลายสำนักโพลลงความเห็นว่าพรรคบีเจพียังคงมีโอกาสในการเลือกตั้งสูง แต่สถิติจำนวนที่นั่งของผลโพลในแต่ละเดือนกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง
.
สุดท้ายนี้กฎหมายการเกษตรถือเป็นอาวุธชิ้นดีสำหรับฝ่ายตรงข้ามหากเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งจริง ฉะนั้นพรรคบีเจพีคงเห็นชัดว่าหากยังคงดึงดันผลักดันกฎหมายเหล่านี้ต่อไป ก็เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูเชือดตัวเองในศึกเลือกตั้งปีหน้า พวกเขาจึงเลือกที่จะทำลายดาบเล่มนี้เสียเองก่อนที่จะเป็นภัยในอนาคต
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน