ประธานาธิบดีของบ
ราซิลถูกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรียฟ้องร้องต่อศาลโลกในข้อหา “ก่ออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากเขาเป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นที่ของป่าอเมซอนลดลง จากนโยบายการส่งเสริมการทำเกษตรในประเทศ ทำให้ป่าอเมซอนมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนได้น้อยลงอย่างต่อเนื่องกว่า 278% และทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ซึ่งการสูญเสียป่าอเมซอนจะทำให้โลกสูญเสียแหล่งผลิตออกซิเจน และทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกตรึงไว้สู่ชั้นบรรยากาศเร่งการเกิดสภาวะโลกร้อนให้รุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น กรณีนี้ผู้นำบราซิลตกเป็นผู้ร้ายที่ทำลายป่าของโลกไปในทันที
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในความพยายามลดสภาวะโลกร้อนจากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา คือ การระดมทุนกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากประเทศพัฒนาแล้วให้มีส่วนช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้สามารถปรับตัวเพื่อแก้ไขวิกฤตโลกร้อนได้มากขึ้น เพราะแนวทางการพัฒนาของโลกจะเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินไปเป็นการผลิตหรือใช้พลังงานสะอาด ที่มีต้นทุนสูง การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนทำให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนหรือภาษีคาร์บอน (Border Carbon Adjustment-BCA) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าส่งออกได้ทัน เรียกได้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจเผชิญความท้าทายสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมากในการจะปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโลก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วดูเหมือนจะ “รอดตัว” เพราะความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายของแหล่งพลังงานที่พัฒนามาก่อนแล้ว
ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอเมริกาได้มีการใช้พลังงานถ่านหินและประกอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดคาร์บอนมากที่สุด แต่เมื่อเทียบกับประเทศจีนที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องยากที่จีนจะเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนได้ จีนจึงเลือกที่จะลดการใช้ให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อความต้องการพัฒนาและการรักษาทรัพยากรเกิดขึ้นข้ามประเทศ มาตรการที่จะช่วยในการรักษาสมดุลนั่น คือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับประเทศที่มีการเก็บรักษาพื้นที่ป่าไว้ ชดเชยค่าเสียโอกาสในการพัฒนาเปลี่ยนป่าให้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แต่นั่นจะเพียงพอหรือไม่ ? กับสถานการณ์โลกร้อนในตอนนี้และอนาคต ? ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางต้องชะงักลงอย่างมาก แต่การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังทำได้เพียง 15% เท่านั้น นั่นหมายความว่า หากเราต้องการลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (net zero) การใช้ชีวิตคงจะแตกต่างไปจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ก่อนถึงเป้าหมายนั้น ในขณะที่ผู้นำโลกยังคงประชุมกันอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาและการรักษาทรัพยากร หลายเมืองทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่มากมาย เช่น หิมะถล่มบนเทือกเขาหิมาลัยจากแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล, โคลนถล่มในแคนาดา, พายุลูกเห็บในเม็กซิโก, น้ำท่วมหนักในอินเดีย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้เลือกที่จะโจมตีเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญของโลก ชุมชนแออัด หรือพื้นที่ป่าที่ไร้ผู้คน เขตการปกครองของประเทศที่มีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่สามารถปกป้องผู้คนในประเทศนั้นให้ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนได้ หากเปรียบเทียบความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติประเภทเดียวกัน ความรุนแรงเท่ากัน แต่ตัวแปรที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่างกันนั่น คือ ความหนาแน่นและความเปราะบางของมนุษย์ที่อยู่บริเวณนั้น ดังนั้น ทั่วโลกจึงควรเพิ่มการลงทุนเพื่อการพัฒนาการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้เข้มแข็งขึ้น ในยุคที่เกิดสภาวะโลกร้อนนั้นรุนแรง และการซื้อคาร์บอนเครดิตอาจไม่ใช่มาตรการที่เพียงพอต่อการอยู่รอด หรือช่วยชีวิตมนุษย์อีกต่อไป
ไทยถือเป็นประเทศที่จะได้รับความเสียหายจากสภาะโลกร้อนลำดับที่ 9 จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเข้ากรุงเทพมหานคร แม้เราจะตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีทรัพยากรธรรมชาติหรือป่ามากมายในอดีต แต่การบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตรซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว ทำให้ไทยติดอันดับที่ 20 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (0.8% ของปริมาณก๊าซกระจกทั่วโลก) การสูญเสียพื้นที่ป่าก็ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้และยังส่งผลต่อระบบนิเวศของประเทศโดยตรง ดังนั้น การเดินหน้าต่อในสถานการณ์นี้ จำเป็นต้องเลือกจุดยืนหรือบทบาทที่ชัดเจนต่อการจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศ ผลักดันการทำเกษตรยั่งยืน (sustainable agriculture) เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับโลก ควบคู่ไปกับการป้องกันและเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
———————————————————————–