แม้เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จนทำให้เกิดการว่างงานเป็นวงกว้าง ปัญหาการปิดตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research-CEBR) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของสหราชอาณาจักร กลับมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลก เอเชีย และไทยในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยได้เผยแพร่รายงานประจำปี “World Economic League Table 2022” ซึ่งเป็นปีที่ 13 เมื่อ 26 ธันวาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่ศูนย์วิจัยดังกล่าวได้คาดไว้ก่อนหน้าถึง 2 ปี สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น แม้เผชิญการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เตือนว่า หากรัฐบาลทั่วโลกไม่จัดการปัญหาเงินเฟ้อช่วงปี 2564-2573 อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมีนัยถึงการลดการอัดฉีดเงินในระบบเศรษฐกิจและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่รวดเร็วเกินไป ทั่วโลกอาจต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 หรือปี 2567 เฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อรับมือกับโรค COVID-19
CEBR ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยชี้ว่า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐฯ ในปี 2573 (9 ปีข้างหน้า) เร็วกว่าที่คาด 5 ปี เนื่องจากมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการระบาดของโรค COVID-19 ได้ดีกว่าและเร็วกว่าสหรัฐฯ เพราะจีนมีทักษะการบริหารจัดการและรับมือกับการระบาดได้ดี เช่น การใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดในช่วงแรกของการระบาด ส่งผลให้ในระยะยาวจีนมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าสหรัฐฯ โดยระหว่างปี 2564-2568 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี ก่อนจะชะลอตัวลงและเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ระหว่างปี 2569-2573
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 แต่อัตราการขยายตัวปี 2565-2567 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 1.9 ต่อปี และหลังจากปี 2567 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 1.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังคงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจนถึงปี 2573 และจะถูกแทนที่ด้วยเศรษฐกิจอินเดีย ที่จะขยายตัวจนอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกลงอยู่ที่อันดับ 4 ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีที่เคยอยู่อันดับ 4 จะกลายเป็นอันดับ 5 และสหราชอาณาจักรจากอันดับ 5 จะกลายเป็นอันดับ 6 แม้จะได้รับผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่จะเติบโตได้ดีกว่ายุโรปโดยรวม ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถของสหราชอาณาจักรในการพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในยุโรป
รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1) ภาคธุรกิจทั่วโลกจะมุ่งลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อการลดคาร์บอนทั้งด้านพลังงานและการขนส่ง และลดการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับต่ำกว่าบาร์เรลละ 80 ดอลลาร์สหรัฐในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัททั่วโลกจะผลักภาระด้านต้นทุนที่สูงขึ้นในการลดคาร์บอนไปที่ผู้บริโภค ทำให้การใช้จ่ายของประชากรโลกจะชะลอลง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2579 2) การระบาดของโรค COVID-19 ยังส่งผลให้ทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาลทั่วโลก มุ่งพึ่งพาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) เทคโนโลยีโลกเสมือน หุ่นยนต์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ พลังงานหมุนเวียน วิทยาการข้อมูล (data science) และเทคโนโลยีอวกาศ
สำหรับไทย CEBR ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างเข้มแข็งช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายล้านคนพ้นจากความยากจน ไทยจึงเป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนา อย่างไรก็ดี โรค COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัว (ติดลบ) มากถึงร้อยละ 6.1 เมื่อปี 2563 แม้จะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1 ได้ในปี 2564 แต่สินค้าและบริการที่ไทยผลิตได้ ยังมีอัตราต่ำกว่าเมื่อปี 2562 ร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ CEBR คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ได้ในปี 2566 ขณะที่ตลาดแรงงานไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการว่างงานลดลงร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายได้ครัวเรือนและการใช้จ่ายช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ให้ดีขึ้น
เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่ปี 2565 ได้แก่ การลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าในระดับสูง ควบคู่กับการลดสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่รัฐตรวจสอบไม่ได้ (shadow economy) หากรัฐบาลไทยไม่แก้ปัญหาดังกล่าว จะฉุดรั้งการยกระดับการพัฒนาของประเทศ นอกจากนี้ CEBR ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่องและมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลกในปี 2579 จากอันดับที่ 26 ในปี 2564 และจากอันดับที่ 31 เมื่อปี 2554
รายงานข้างต้นบ่งชี้ถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีน และอินเดีย ที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ และสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางในเชิงบวกในระยะ 15 ปีข้างหน้า ทำให้รัฐบาลไทยอาจต้องพิจารณาเพิ่มการเกี่ยวพันด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทั้งจีนและอินเดียให้มากขึ้น พร้อมทั้งอาจพิจารณาตามคำแนะนำของ CEBR ในการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกระดับสูงและลดสัดส่วน shadow economy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ควรเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจและสังคมไทยโดยรวมพัฒนาให้เท่าทันทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะมุ่งลดคาร์บอนและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี และควรส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะในกลุ่มอาชีพดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ไทยตกขบวนและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่
———————————–