ไทยกับไต้หวัน มักคุ้นกันส่วนหนึ่งก็เพราะพี่น้องชาวไทยที่เป็นเรี่ยวแรงอยู่ที่นั่น และลูกตะกร้อที่พกขึ้นเครื่องบินข้ามทะเลจีนใต้ไปกับตัว
สถิติของกรมการจัดหางาน บอกเอาไว้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีชาวไทยทำงานอยู่ในไต้หวันรวม 50,011 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าว เพียงพอที่จะทำให้ไต้หวันดำรงตำแหน่งจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของแรงงานไทย
“วีระ สำราญใจ” หนุ่มไทยจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในห้าหมื่นกว่าคนที่ว่า วีระตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านนางแก้ว อำเภอเขวาสินรินทร์ สลัดภาษาส่วยที่คุ้นเคยไว้ข้างหลัง บินมาแสวงโชคในดินแดนของภาษาแมนดารินที่ไม่คุ้นหูตั้งแต่อายุ 29 ปี ถึงตอนนี้ก็ใกล้จะครบ 12 ปีในกลางปีหน้า ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่ทางการไต้หวันอนุญาตให้ชาวไทยทำงานในไต้หวัน
ในหน้าที่หนึ่ง วีระคือฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในโรงงานทำยางของไต้หวัน ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะเป็นงานสุดท้าย หลังผ่านประสบการณ์หลากหลายในไต้หวัน ไล่เรื่อยตั้งแต่โรงงานเชื่อมแบบ เทปูนงานก่อสร้าง โรงงานทำไส้กรอก และโรงงานทำเครื่องจักรกล
ส่วนพอพ้นเวลางาน ก็ถึงคราวแปลงร่างไปรับบทฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนวงการกีฬาตะกร้อในไต้หวัน
“ผมเริ่มเล่นตะกร้อแบบจริงจังก็ประมาน 3 ปีหลังสุด ตอนทำงานโรงงานยางครับ ผมพึ่งมาเล่น ที่มาเล่นตะกร้อแรก ๆ ก็เพื่อสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง แรก ๆ สุขภาพจะปวดหลังมาก พอเริ่มมาเล่นกีฬา ทำให้สุขภาพดีขึ้นเยอะ ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย”
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการเล่นเพื่อสุขภาพ ด้วยการสนับสนุนของโรงงานที่เอื้อเฟื้อพื้นที่ว่างให้แรงงานไทยประมาณ 10 กว่าคนดัดแปลงเป็นสนามดวลตะกร้อ บทบาทของวีระเริ่มขยายเพิ่มขึ้น ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เริ่มมี การนัดหมายไปเตะต่างเขตต่างเมือง รวมทั้งลงแข่งขันตามรายการต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันทำหน้าที่เป็นแอดมินเฟซบุ๊ก “ตะกร้อแรงงานไทยในไต้หวัน” ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของนักหวดลูกหวายไทยในไต้หวัน
“อยู่ต่างประเทศไม่เหงา เพราะว่าไปไหนก็รู้จักเพื่อน ๆ ทุกที่ เพราะกีฬาตะกร้อนี่ละครับที่ทำให้คนรู้จักผมมากขึ้นทั้งไทยและในไต้หวัน และที่อื่นที่เขาติดตามตะกร้อไทยในไต้หวันครับ”
“เกียรติประวัติเวลาไปแข่งก็เข้ารอบบ้างตกรอบบ้าง บางงานก็ได้ที่ 3 ที่ 4 ได้เหรียญจากทางสมาคมไต้หวัน”
ถ้อยคำของวีระผสมปนความภาคภูมิใจ ในตอนที่บอกเล่าว่ากีฬาตะกร้อทำให้เขามีคนรู้จักมากขึ้นทั้งในไทยและไต้หวัน รวมทั้งยูติงจัน (Yu Ting Jan) โค้ชตะกร้อทีมชาติไต้หวัน ที่เป็นผู้บุกเบิกกีฬาตะกร้อในไต้หวัน
“ไต้หวันเรียกตะกร้อว่าหวันถูจิ่ว สมาคมไต้หวันจะจัดกีฬาตะกร้อให้แรงงานไทยในไต้หวันได้ชิงชัยกันทุกปีครับ แต่เนื่องจากเจอพิษโควิดระบาด เขาจึงจัดให้บางปี ปีนี้จัดให้สองครั้ง ปีที่แล้วระบาดหนักเลยงดจัดให้ครับ”
ลีลาการขึ้นฟาดลูกตะกร้อคล้ายนักกายกรรม เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับกีฬาแสนประหลาดชนิดนี้ ที่ดูราวกับเป็นส่วนผสมของฟุตบอล วอลเลย์บอล และยิมนาสติก วีระจึงเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทเชิงวัฒนธรรมไทยที่เอากีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ไปเผยแพร่ โดยมีสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง และจัดให้แรงงานไทยได้เล่นตะกร้อทุกปีช่วงเทศกาลสงกรานต์
กีฬาตะกร้อ ทำให้ชีวิตในไต้หวันของวีระคือช่วงเวลาแห่งความสุข ประกอบกับความโชคดีด้วยที่ไม่เคยประสบปัญหาหลากหลายที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอ จะมีก็แต่ภัยจากพายุและแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนข่าวสารที่สื่อมวลชนกำลังโหมประโคมว่าจีนจะทำสงครามบุกยึดไต้หวัน วีระบอกว่าเขารู้สึกเฉย ๆ เพราะ “บ่อยนะครับที่จีนมาบินว่อนไต้หวันบ่อย แต่ไต้หวันมีสหรัฐฯ เป็นกองหนุนที่ดี”
เมื่อคำนึงถึงสวัสดิภาพของชาวไต้หวัน 23 ล้านคน และชาวไทยห้าหมื่นกว่าคนในไต้หวัน เชื่อว่าชาวไทยและชาวโลกจะคาดหวังให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันไม่ลุกลามทั้งจากความตั้งใจและพลั้งพลาด เพื่อที่มนุษย์จะได้ใช้ชีวิตตามที่อยากใช้ และวีระได้ฟาดตะกร้ออย่างมีความสุข
————————————————-