ระหว่างการเดินทางผ่านป่า หรืออุทยานเพื่อชื่นชมธรรมชาติอันแสนงดงาม ซึ่งเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปหา หลายครั้งที่ระหว่างเส้นทางเราจะเห็นป้าย “ระวังสัตว์ป่า” นั่นแปลว่าถนนเส้นนั้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับสัตว์ป่าที่ดักหน้าหรือขวางทางไว้ ทำให้การจราจรต้องล่าช้าไป หรือเกิดการเผชิญหน้าจนเกิดเหตุสูญเสีย ปัจจุบัน ผืนป่าขนาดใหญ่เต็มไปด้วยเส้นทางมากมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้สีเขียว และทุก ๆ ครั้งที่มีเส้นทางเส้นใหม่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการสัญจรของรถยนต์ นั่นก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่ทำให้สัตว์บางชนิดต้องมีจำนวนลดลงไป หรือเข้าข่ายสูญพันธุ์รวดเร็วขึ้นจากเหตุการณ์ “Road Kills”
ในอดีต ทั้งภูมิภาคเอเชียปกคลุมด้วยผืนป่าขนาดใหญ่ สัตว์น้อยใหญ่สามารถเดินทางเพื่อหาแหล่งอาหารและน้ำ เพื่อดำรงชีวิตในพื้นที่ป่าได้อย่างเต็มที่ จนมีการอพยพไปตามแหล่งทรัพยากรและเคลื่อนที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเพื่อการเอาชีวิตรอดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป เช่น การเดินทางของปูแดงบนเกาะคริสมาสต์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ในทะเล การอพยพของฝูงผีเสื้อหลายล้านตัวในอเมริกาเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร เพื่อหลบฤดูหนาว เช่นเดียวกันกับนกที่อพยพข้ามทวีปจากรัสเซียมาที่ประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี รวมถึงการออกล่าในอาณาเขต 300 ตารางกิโลเมตร ของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง “เส้นทาง” และขอบเขตการเดินทางเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา
อย่างไรก็ดี เมื่อป่าถูกบุกรุก ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ป่าจะลดลง แต่ยังถูกคั่นด้วยถนนต่างๆ ที่ตัดผ่านป่า ซ้ำเติมด้วยการขยายตัวจากถนนกลายเป็นเมือง แหล่งอาหารของสัตว์ถูกจำกัดพื้นที่แคบลง นั่นคือความหลากหลายของอาหารที่น้อยลงด้วย และการบริโภคซ้ำก็ทำให้สุขภาพเสื่อมลง นอกจากนั้นกลุ่มสัตว์ที่อยู่เป็นฝูง เมื่อไม่สามารถอพยพข้ามเขตแดนไปพบกับฝูงอื่นๆ ทางรอดในการดำรงเผ่าพันธุ์คือการสืบพันธุ์กันเองในเครือญาติ ถือเป็นการผสมแบบเลือดชิด (Inbreeding) นั่นทำให้ลูกที่เกิดมาในรุ่นต่อๆ ไปไม่สมบูรณ์ เติบโตช้า มีโอกาสรอดต่ำและตายหรือสูญพันธุ์ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น โขลงช้างในประเทศไทยที่ไม่สามารถอพยพข้ามเขตอุทยาน เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกอนุรักษ์ไว้เฉพาะในเขตอุทยานเพียงเท่านั้น เสมือนติดเกาะอยู่ท่ามกลางเมืองที่ล้อมป่าไว้
ในทางกลับกันขณะที่เมืองเริ่มกลืนกินป่า สัตว์บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองได้ โดยเฉพาะในพื้นที่สีเขียวภายในเมือง เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่รกร้าง อาคารเก่า หรือป้ายโฆษณา แต่ก็ยังคงเป็นหย่อมพื้นที่สีเขียวที่กระจายตัวอยู่ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศต่ำ หลายเมืองจึงมีแนวคิดที่จะเชื่อมพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ไปทั่วทั้งเมือง เป็น green corridor ที่นอกจากจะทำให้ชุมชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้แล้ว ยังทำให้สัตว์สามารถข้ามเขตแดนตามพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ได้ เพิ่มโอกาสรอดและนำระบบนิเวศธรรมชาติแทรกเข้าใกล้กับวิถีชีวิตในเมือง มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นและทำให้เมืองยั่งยืนมากขึ้น แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างแมลงที่มีส่วนช่วยในการผสมเกสรและสร้างผลผลิตทางการเกษตร แต่มลพิษต่างๆ กลับทำให้แมลงเหล่านี้จำนวนลดลง ระยะทางการกระจายพันธุ์ของพืชก็ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับแนวเส้นทางเชื่อมระบบนิเวศ ในการก่อสร้างทางหลวง 304 สาย อำเภอกบินทร์บุรีถึงอำเภอปักธงชัย ได้มีการสร้างอุโมงค์สำหรับรถเพื่อให้ด้านบนอุโมงค์เป็นป่าทางเชื่อมป่าสำหรับสัตว์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน และตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ตั้งเป้าที่จะให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของประเทศ (ในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าร้อยละ 31.8 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป พื้นที่กิจกรรมของมนุษย์ยังคงขยายตัวต่อไป ในยุคที่มนุษย์สามารถเข้าไปถึงทุกพื้นที่ การกั้นขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ อาจจะไม่ใช่แนวทางของการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต แต่ต้องใช้การอยู่ร่วมกับป่าในรูปแบบใหม่ ทำความเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ป่า แบ่งปันและอยู่ร่วมกันในยุคที่มนุษย์เป็นใหญ่และครอบครองโลกใบนี้
————————————————————–