ปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่าเงินบาทไทยเทียบคู่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนทำลายสถิติเดิมช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดที่บริเวณ 33.165 บาท ต่อ $1 และได้ทะลุขึ้นไปทำจุดที่มูลค่าต่ำสุดของปีที่บริเวณ 34 บาท ต่อ $1 ก่อนจะพยายามปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ 33.165 บาทอีกอย่างน้อย 3-4 ครั้ง จนเกิดรูปแบบการเคลื่อนที่ของกราฟทรงสามเหลี่ยมพัก (bullish ascending triangle) ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มระยะยาวว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้จนอาจแตะ 35 บาท และ 35.5 บาท ต่อ $1 ในช่วงปี 2565 เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความแข็งค่ามากขึ้นเมื่อถูกนำมาเทียบคู่กับเงินบาท หากเงินบาทไม่สามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นเพื่อดิ่งให้ทะลุแนวรับที่ 33.165 บาท แนวรับสามเหลี่ยมและอัตราส่วน Fibonacci ลงไปที่ 32.85 บาท และ 32.64 บาท ต่อ $1 ตามลำดับ เงินบาทอาจอ่อนค่าลงแล้วกลับไปทดสอบโซนแนวต้านบนกรอบสามเหลี่ยมแล้วทะลุขึ้นไปยืนเหนือโซน 33.65 บาท ต่อ $1 เพื่อพยายามชนให้ทะลุแนวต้าน 34 บาทภายในช่วงกลางปี 2565 ได้
โดยในระยะสั้นของเดือนมกราคม หากค่าเงินบาทสามารถทะลุแนวรับที่ 33.165 บาท ลงไปทดสอบแนวรับด้านล่างของกรอบสามเหลี่ยม และไม่สามารถทะลุต่อไปจนถึงกล่องสี่เหลี่ยมสีม่วงบริเวณ 32.6-32.8 บาท ในช่วงปลายเดือนได้ อาจมีแรงผลักจากคำสั่งซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่นักลงทุนสถาบัน (smart money) ตั้งรอล่วงหน้าเอาไว้เพื่อกดดันให้มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเหนือค่าเงินบาท จนเงินบาทอ่อนค่าลงไปทดสอบบริเวณแนวต้าน 33.5 บาท และ 33.7 บาท อีกครั้ง ตามลำดับ ทั้งนี้ ในกรณีที่เงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุแนวรับลงมาที่โซน 32.6-32.8 บาทได้สำเร็จ (ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อยกว่าสถานการณ์รูปแบบอื่นๆ) อาจมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีภาวะแข็งค่าขึ้นชั่วคราวแล้วลงไปทดสอบแนวรับที่โซน 32.1-32.25 บาท ต่อ $1 ก่อนขึ้นไปแตะบริเวณ 32.8-32.9 บาท เพื่อยืนยันสถานะแข็งค่าของค่าเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุน และผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจพึงระวังคือในปัจจุบันลักษณะการเคลื่อนที่ของเครื่องมือวัดแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) นั้นบ่งชี้ว่าสาเหตุที่ค่าเงินบาทมีท่าทีแข็งค่าขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เป็นเพราะปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังอยู่ในจังหวะพักตัวตามกรอบก่อนการปรับตัวขึ้นต่อ (falling wedge) ตั้งแต่ช่วงกันยายน 2564 ถึงมกราคม 2565 โดยยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วง 1 เดือนนี้ อีกทั้งปัจจุบัน แม้ว่าการเคลื่อนไหวของค่า RSI จะแสดงให้เห็นว่าจำนวนแรงซื้อที่เข้ามาสู่เงินดอลลาร์สหรัฐยังไม่สามารถผ่านแนวต้านกรอบบนไปได้จากความพยายามถึง 2 ครั้ง แต่ยังมีแนวรับ RSI ที่บริเวณ 45-47.5 ที่อาจจะคอยเป็นแนวที่ช่วยส่งให้มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐพลิกกลับขึ้นมาในลักษณะขาขึ้นแล้วทะลุแนวต้านกลับมายืนเหนือโซนค่า RSI 50 เพื่อมีมูลค่าสวนทางกับเงินบาทได้อีกครั้ง
ในกรณีที่เงินบาทต้องการรักษามูลค่าของตนเองไว้เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จะต้องมีนักลงทุนกลุ่มใหญ่เข้ามาช้อนซื้อหรือผลักดันมูลค่าของเงินบาทเพื่อลากค่า RSI ตามภาพให้หลุดลงไปอยู่ในบริเวณต่ำกว่า 44 และ 40 เพื่อจะหลุดแนวรับกรอบล่าง (falling wedge) ให้ได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันความต้องการการถือเงินดอลลาร์สหรัฐมีเพิ่มมากขึ้น และมากกว่าความต้องการการถือครองค่าเงินบาท ทำให้นักลงทุน และนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ในตลาดยังมีมุมมองร่วมกันกับปัจจัยทางเทคนิคของกราฟราคาว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะพลิกมาแข็งค่า (outperform) กว่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวได้ยาก แม้ว่าในระยะสั้นนั้นเงินบาทจะแสดงให้เห็นถึงภาวะแข็งค่าขึ้นชั่วคราวในรอบ 1-2 เดือน ซึ่งเป็นแค่การปรับตัวของกราฟชั่วคราวเพียงเท่านั้น และยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้ในระยะยาว เนื่องจากรูปแบบของการเคลื่อนตัวกราฟค่าเงินบาทยังคงไม่ได้หลุดกรอบแนวรับหรือแนวต้านที่สำคัญใดๆ โดยในจุดนี้อาจต้องใช้เวลาสังเกตการณ์จนถึงช่วงกลางมีนาคม 2565
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***