ในปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน ตั้งแต่การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน พักดูโทรทัศน์ จนถึงพิมพ์ แชทออนไลน์บนมือถือก่อนนอน พฤติกรรมดังกล่าวทำให้หลายๆ คนเริ่มเกิดปัญหาสายตาจากการจ้องหน้าจอเหล่านี้ ทำให้ตาล้าและทำให้จอประสาทตาเสื่อมลงไปในที่สุด ซึ่งสิ่งที่ออกมาจากหน้าจอเหล่านี้ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อดวงตาของเรานั้น คือ แสงสีฟ้า
“แสงสีฟ้า” เป็นแสงสีที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในแสงแดด อยู่ในช่วงคลื่น 415-455 นาโนเมตร เป็นแสงที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีต คือ ช่วยกระตุ้นร่างกายใหเกิดการทำงานของร่างกาย โดยเมื่อร่างกายได้รับแสงแดดซึ่งมีแสงสีฟ้าเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จะเกิดการตื่นตัวพร้อมกระทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น มนุษย์ในอดีตที่อาศัยเฉพาะแสงอาทิตย์ จะได้รับแสงสีฟ้าในเวลาที่เหมาะสม …และในทางกลับกัน ในยามค่ำคืนที่มืดมิด ร่างกายจะเข้าสู่การพักผ่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะบางส่วนของร่างกายทำงานได้ดี เช่น การทำงานของตับในช่วงเวลา 01.00 – 03.00 น. เพื่อกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย การทำงานของตับที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถผลิตน้ำดีออกมาเพื่อใช้ในการย่อยไขมันในร่างกายให้สามารถเผาผลาญได้ง่าย ช่วยให้ระบบเผาผลาญของร่างกายดีขึ้น รูปร่างดีขึ้น นอกจากนั้น ช่วงเวลาการนอนหลับ ยังเป็นช่วงที่มีการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินและโกรทฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เติบโตมากขึ้น ดังนั้น หากมีแสงสีฟ้าคอยกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ส่งผลให้มีสารพิษสะสมในร่างกาย และทำให้ร่างกายไม่เติบโต นั่นเอง
แต่ดูเหมือนว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาเร็วกว่าวิวัฒนาการทางร่างกายของมนุษย์ …เรามีหลอดไฟให้แสงสว่างยามค่ำคืน มีจอมือถือปล่อยแสงใส่ดวงตาตลอดเวลา แม้จะอยู่ในอาคารหลบจากแสงแดด แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ส่งแสงสีฟ้าสู่ตาและผิวหนังตลอดเวลา โดยเฉพาะยุคของการไร้ปุ่ม ทุกอย่างเป็นจอมากขึ้น ป้ายโฆษณาเปลี่ยนจากแผ่นผ้าใบเป็นหน้าจอ LED จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่มนุษย์ในปัจจุบันจะหลีกเลี่ยง “การอาบแสงสีฟ้า” ไปได้ตลอดทั้งวัน ส่งผลให้แสงสีฟ้าที่มากเกินไปในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อดวงตา (เช่น การเกิดภาวะเมื่อล้าทางสายตา Digital Eye Strain หรือ Computer Vision Syndrome ) ผิวหนัง รวมถึงการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว การหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เช่น การเข้านอนอย่างเป็นเวลาในที่มืด กำหนดเวลาในการใช้มือถือ พักสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทุกๆ ชั่วโมง ใช้ฟิล์มกรองแสง ใส่แว่นตากรองแสงขณะทำงานหน้าจอ ทาครีมกันแดด ใส่เสื้อผ้าป้องกันผิวหนัง เป็นต้น เพื่อลดการเผชิญกับแสงสีฟ้าให้มากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตาม “แสงสีฟ้า” มีประโยชน์และจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์ต้องปรับพฤติกรรมให้อยู่กับแสงสีฟ้าอย่างเหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้การใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายนั้นกลายเป็นพฤติกรรมที่ค่อย ๆ ทำร้ายสุภาพของเราได้ไม่รู้ตัว
———————————————————————-