“Great Power” หรือ “มหาอำนาจ” เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศ ๆ หนึ่งที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง และวัฒนธรรมที่เยอะกว่าประเทศอื่น จึงได้ชื่อนำหน้าว่า “มหา” หรือ “Great” แต่คำถามที่ตามมาก็คือว่าแล้วเรามีเกณฑ์อะไรที่จะเรียกประเทศ ๆ หนึ่งว่าเป็น “มหาอำนาจ” ขอบข่ายหรือศักยภาพทางอำนาจต่าง ๆ ขนาดไหน จึงจะเรียกประเทศนั้นได้ว่าเป็น “มหาอำนาจ” มากไปกว่านั้นคำถามที่ตามมาต่อคือ ทำไม “มหาอำนาจ” ถึงสำคัญ แล้วการเมืองมหาอำนาจคืออะไรและเป็นอย่างไร ภายใต้คำถามข้างต้น สถานการณ์ ณ รุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 อาจช่วยทำให้เราพอเห็นได้ว่าคำตอบคืออะไร
สำหรับรุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ดูเหมือนจะเป็นเช้าปกติของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนยูเครนและรัสเซียกลับเป็นเช้าที่แตกต่างไปจากหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้สั่งการ “ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ” หรือหากพูดทั่วไปแล้วก็คือการบุกยูเครนโดยรัสเซีย
คำถามต่อมาก็คือเกิดอะไรขึ้น ? ทำไมปูตินถึงสั่งบุกยูเครน อะไรคือเบื้องหลังหรือบริบทที่นำไปสู่รุ่งเช้าที่แตกต่างในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อที่จะสืบสวน…เพื่อหาเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ การเมืองมหาอำนาจก็เป็นอีกกรอบการเข้าใจหนึ่งที่จะช่วยไขปริศนาดังกล่าว
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอพาทุกท่านมาสู่การตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจการเมืองมหาอำนาจในปัจจุบัน ว่าเราจะทำความเข้าใจการเมืองมหาอำนาจอย่างไรได้บ้าง โดยผู้เขียนข้อเสนอวิธีการเข้าใจใน 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
1) เข้าใจแบบ John Mearsheimer.. John Mearsheimer นักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำ The University of Chicago เจ้าของหนังสือ “The Tragedy of Great Power Politics” (2544) ได้เสนอวิธีการพื้นฐานที่น่าสนใจซึ่งจะช่วยนำทางให้เราเข้าใจว่าเวลาพูดถึงมหาอำนาจนั้น อำนาจขนาดไหนและอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ แล้วการเมืองและความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเป็นอย่างไร โดย Mearsheimer เสนอเป็น 6 คำถามพื้นฐาน ได้แก่ 1) ทำไมมหาอำนาจถึงต้องการอำนาจ 2) อำนาจที่ต้องการนั้น ต้องการมากน้อยแค่ไหนถึงจะเพียงพอ 3) อะไรคือมาตรวัดว่าอะไรบ้างคืออำนาจของมหาอำนาจ 4) ยุทธศาสตร์อะไรที่จะช่วยให้ได้มาซึ่งอำนาจดังกล่าวและจะรักษาอำนาจนั้นอย่างไร 5) อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม หรือปัจจัยอะไรนำไปสู่การแข่งขันในเชิงความมั่นคง ซึ่งนำไปสู่การทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และ 6) เมื่อไรถึงจะถือเป็นการข่มขู่หรือคุกคามต่อมหาอำนาจ และเมื่อไรถึงจะถือเป็นการต่อต้านการขุ่มขู่หรือคุกคามนี้
2) เข้าใจแบบ Graham Allison… Graham Allison นักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่ง Harvard University เจ้าของหนังสือ “Destined for war: can America and China escape Thucydides’s trap?” (2560) สำหรับการเลี่ยงสิ่งที่เขาเรียกว่า “Thucydides’s trap” ซึ่งมีที่มาจาก Thucydides นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ ผู้เขียนหนังสือ “The History of the Peloponnesian War” ที่ถูกเขียนขึ้นในต้นศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาล โดยในหนังสือเล่มนี้ Allison ได้กล่าวถึงประโยคที่อธิบายการเมืองมหาอำนาจได้เป็นอย่างดีก็คือ “เมื่อเอเธนส์ผงาดและความหวาดกลัวต่อการผงาดขึ้นนี้ยังคงฝังอยู่ในจิตใจของสปาร์ตา สงครามจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้” เมื่อสองมหาอำนาจเผชิญหน้ากันจากที่มหาอำนาจใหม่เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนไปท้าทายมหาอำนาจ ซึ่งทำให้ความหวาดกลัวว่าตนจะสูญเสียอำนาจไป ในท้ายที่สุดนำไปสู่สงครามของสองมหาอำนาจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในบริบทนี้ มหาอำนาจเดิมคือ Sparta ส่วนมหาอำนาจใหม่คือ Athens นี่คือสถานการณ์ที่ Allison เรียกว่า “Thucydides’s trap”
และในตอนท้ายของหนังสือ Allison ได้ทิ้ง 4 คำถามพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับสหรัฐอเมริกาต่อการดำเนินนโยบายต่อจีนเพื่อหลีกเลี่ยง “Thucydides’s trap” ซึ่ง 4 คำถามนี้ อาจช่วยทำให้เราตั้งต้นทำความเข้าใจการเมืองมหาอำนาจโดยพื้นฐานได้ดี รวมถึงยังเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศกับประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ 1) อะไรคือผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญของประเทศ 2) ทำความเข้าใจสิ่งที่รัฐดังกล่างกำลังทำอยู่ เมื่อตอบคำถามทั้งสองข้อได้แล้วค่อยมาเริ่มคิดในคำถามที่ 3) คือจะดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างมียุทธศาสตร์อย่างไร 4) 2 คำถามที่การเมืองภายในของประเทศนั้นจะส่งผลต่อสถานะการเป็นประเทศมหาอำนาจ คือ 1. อะไรคือความท้าทายที่สำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของประเทศนั้น 2. สิ่งใดที่จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการดำรงสถานะในการเมืองโลกของประเทศนั้น ในแง่นี้แล้วทั้งข้อ 3 และ 4 จะต้องคิดไปด้วยกันอย่างรอบคอบเพื่อนำมาสู่การดำเนินนโยบายต่อประเทศมหาอำนาจ
ดังนั้นทั้ง 2 วิธีข้างต้นคงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะทำความเข้าใจการเมืองมหาอำนาจ และกรณีรัสเซียบุกยูเครนเอง หากคำถามจาก 2 วิธีนี้ โดยใช้รัสเซียในฐานะมหาอำนาจเป็นตัวตั้งจะช่วยทำให้เราเห็นเบื้องหลังของความขัดแย้งของทั้งสองประเทศนั้น ยังมีการเมืองมหาอำนาจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาแอบซ่อนอยู่ ในแง่นี้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ณ ปัจจุบัน จึงไม่ใช่ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเฉย ๆ
————————————————–