ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เนื่องมาจากสภาพแปรปรวนรุนแรง อากาศที่ร้อนขึ้น การใช้สารเคมีจนทำให้ดินเสื่อมโทรม รวมถึงแหล่งน้ำที่แห้งหายไป ทำให้พืชบางชนิดในภูมิประเทศต่างๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และตกอยู่ในภาวะ “ใกล้สูญพันธ์” ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลนอร์เวย์ตระหนักถึงปัญหานี้ และได้สร้างห้องแช่ขนาดใหญ่ ชื่อ ห้องนิรภัยเมล็ดพืชโลกสฟาลบาร์ (Svalbard Global Seed Vault) ไว้ใต้ดิน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 880,000 ชนิด ในอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ที่ขั้วโลกเหนือเพื่อแช่แข็งเมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้ไว้ตลอดเวลา
แต่มาตรการดังกล่าวจะป้องกันปัญหาการสูญพันธุ์ของพืชได้หรือไม่? เมื่อเมล็ดพืชที่ถูกเก็บในช่วงที่สภาพแวดล้อมสมบูรณ์ จะต้องถูกนำมาเพาะปลูกตอนที่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมไปแล้ว?
กล่าวคือ เมื่อเมล็ดพืชที่ถูกเก็บไว้ในระยะเวลา 30 ปี ถูกนำมาเพาะปลูกอีกครั้ง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณแสงแดด อุณภูมิของอากาศ ปริมาณน้ำ และแร่ธาตุในดิน จะยังคงเพียงพอให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อีกหรือไม่ ในทางกลับกัน เมื่อเราอาศัยการปรับตัว หรือวิวัฒนาการทางธรรมชาติ เป็นการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์พืชไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในอดีต เราได้พบว่า พืชตระกูลแคคตัสเปลี่ยนใบที่มีลักษณะแผ่เป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง หรือต้นอาคาเซียพัฒนาการให้สามารถปล่อยสารความหวานออกจากหนามเพื่อล่อมดให้มันป้องกันยีราฟที่เข้ามากินใบไม้ นั่นหมายความว่า วิธีการอนุรักษ์พันธุ์พืชให้ดำรงอยู่ต่อไป อาจเป็นการเพาะปลูกอยู่อย่างสม่ำเสมอและให้พืชนั้นปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ดังนั้น แนวคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์หรือรักษาเมล็ดพันธุ์ นั่นคือ “การเพาะปลูก” ปัจจุบันโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชได้สร้างเครือข่ายการรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยมีกระบวนการง่ายๆ นั่นคือ การแจกเมล็ดพันธุ์กระจายปลูกให้ได้มากที่สุด และแบ่งส่วนของผลผลิตให้ออกดอกออกผลจนมีเมล็ด และนำกลับคืนหรือแจกจ่ายต่อ โดยต้นไม้ 1 ต้น สามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 1-5,000 เมล็ดต่อต้นภายใน 1 ปี การนำไปเพาะปลูกจะเพิ่มโอกาสรอดมากกว่าการปล่อยให้งอกเองตามธรรมชาติ ดังนั้น ไม่ใช่แค่ผึ้ง นก หรือแมลงต่างๆ จะเป็นผู้ผสมเกสรพื่อขยายพันธุ์พืช แต่เมื่อมนุษย์ เข้ามามีบทบาทในการเพาะปลูกและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ก็จะช่วยให้เกิดการรักษาเมล็ดพันธุ์ลดลง โดยเป็นการปลูกพืชให้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ตามสภาพแวดล้อม ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องทดลองที่ถูกควบคุมไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รวดเร็วเกินไป (extreme) เกินกว่าที่ต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ จะวิวัฒนาการ หรือปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดได้ ดังนั้น เราทุกคนจะมีส่วนร่วมในการเผชิญความเสี่ยงจากการพังทลายของระบบนิเวศนี้ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นและอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยธรรมชาติ