ตลอดเดือนเต็มที่ผ่านมากับการเดินหน้ารบของรัสเซียในยูเครนได้สร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลไม่เฉพาะกับประเด็นด้านมนุษยธรรมในประเทศยูเครนเท่านั้น แต่วิกฤตนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความผันผวนของราคาพลังงานโลกด้วย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่พึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจำนวนมหาศาล
รัสเซียถือเป็นประเทศรายหลักที่มีการส่งออกพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ส่งผลให้ภายใต้สภาพการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครนนั้น ยุโรปแม้จะพยายามคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจในหลากหลายช่องทาง แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังคงนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องทุกวัน แม้กระทั่งจนถึงปัจจุบัน
ฉะนั้นกล่าวได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียในปัจจุบันอาจได้ผลเพียงบางส่วนเท่านั้น หากยังไม่สามารถจัดการแหล่งรายได้สำคัญของรัสเซียอย่างเรื่องพลังงานได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นงานหินเช่นเดียวกัน เพราะเพียงแค่มาตรการทางเศรษฐกิจ และการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ถือเป็นหนึ่งช่องทางส่งพลังงานสำคัญไปยังยุโรป ก็แทบจะทำให้ดัชนีราคาพลังงานของโลกหลายตัวปรับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
น้ำมันถือเป็นหนึ่งในกลุ่มราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัสเซียนั้นนับเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันไปยังตลาดโลกที่รัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับสองเลยทีเดียว เป็นรองเพียงแค่ซาอุดิอาระเบียเท่านั้น
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น หลังจากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วราคาน้ำมันก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด19ที่เริ่มคลี่คลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าช่วงก่อนโควิด19
เช่นเดียวกันกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันเรียกได้ราคาพุ่งสูงจนหลายประเทศต้องตัดสินใจงดนำเข้าเป็นการชั่วคราว นั่นก็หมายรวมถึงประเทศไทยเราด้วย โดยแต่เดิมราคาพลังงานในกลุ่มนี้ก็ค่อนข้างแพงมากอยู่แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ยุโรปเผชิญสภาพอากาศหนาวอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวนมากเพื่อช่วยในการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับประชากร
เมื่อสงครามยูเครนปะทุขึ้น ผนวกกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่ชาติยุโรปต้องการกดดันรัสเซีย ปัจจัยแทรกซ้อนเหล่านี้ผลักดันให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจุบันรัสเซียผลิตก๊าซธรรมชาติมากเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 18 ของผลผลิตทั้งหมดในโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา ที่สำคัญรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2564 ที่ผ่านมารัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติสูงถึง 250 พันล้านลูกบาศก์เมตร
ฉะนั้นหลายชาติในโลกจึงพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยเฉพาะชาติยุโรปที่พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงถึงร้อยละ 32 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด วิกฤตที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลกมีการปรับตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากความพยายามของชาติยุโรปที่จะแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนการพึ่งพารัสเซีย
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน