สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับความมั่นคงของยุโรปทั่วทั้งทวีป บทเรียนของยูเครนกำลังเป็นตัวอย่างให้ผู้นำประเทศยุโรปพิจารณามากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศตนเอง ท่ามกลางสงครามครั้งนี้ ประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่าเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขของประชากรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมักมีแนวนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น นั่นคือ สวีเดนและฟินแลนด์ สองประเทศนี้กำลังพิจารณาเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้/เนโต้ ที่เราคุ้นเคยชื่อกัน
สงครามรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะลดระดับความรุนแรงลงเป็นลำดับ หลังจากที่ยูเครนสามารถต้านทานการโจมตีของรัสเซียที่กรุงเคียฟได้ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียได้ประกาศว่าจะมุ่งเน้นปฏิบัติการทางภาคตะวันออกของยูเครนในบริเวณดอนบาส อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณว่าสงครามรอบนี้จะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้แทนทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ แรงสนับสนุนยูเครนของประเทศโลกตะวันตก ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และด้านมนุษยธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูเครนยังคงยืดหยัดต่อสู้กับกองทัพรัสเซียได้ แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ก็ตาม
มองขึ้นไปทางเหนือของยูเครน จะพบว่ามีประเทศที่มีเขตแดนติดกับรัสเซียดังนี้ เบลารุส ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย หากพิจารณาบริบทปัจจุบันจะพบว่า เบลารุสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมาก อย่างสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เบลารุสก็อนุญาตให้กองทัพรัสเซียใช้ดินแดนของเบลารุสเข้าโจมตียูเครนทางตอนเหนือ ขณะที่สามประเทศถัดมา ได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย เป็นประเทศแตกออกมาจากสหภาพโซเวียต แต่ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ตั้งแต่ปี 2547
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองข้ามทะเลบอลติกขึ้นไปทางเหนือ จะพบกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ โดยขณะที่นอร์เวย์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2492 นั้น สวีเดนและฟินแลนด์ดำเนินนโยบายที่เป็นกลางตลอดช่วงเวลาการแข่งขันของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ทั้งสองประเทศเริ่มมีความใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรนาโต้มากยิ่งขึ้น โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกันซึ่งมีความร่วมมือย่างหลวม ๆ อาทิ มีการฝึกร่วมกัน และมีกลไกปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นต้น
มองมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จุดไฟให้สวีเดนและฟินแลนด์ต้องพิจารณาจุดยืนของตัวเองกับนาโต้อีกครั้ง การที่รัสเซียตัดสินใจเปิดสงครามกับยูเครนได้ เนื่องจากยูเครนยังไม่ใช่สมาชิกนาโต้ ซึ่งมีการรับประกันความมั่นคงร่วมกันในประเทศสมาชิกด้วยหลักการที่เรียกว่า Collective Defence กล่าวคือ หากประเทศสมาชิกใดถูกโจมตี จะถือว่าเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด เช่น หากโรมาเนียซึ่งเป็นสมาชิกนาโต้โดนโจมตี ก็จะถือว่าสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และประเทศสมาชิกนาโต้อื่น ๆ ถูกโจมตีด้วย ซึ่งประเทศที่เป็นฝ่ายโจมตีก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการตอบโต้กลับจากทุกประเทศสมาชิกนาโต้
จากสถานการณ์ปัจจุบัน หากรัสเซียสามารถบุกยูเครนได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าสวีเดนและฟินแลนด์อาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีของรัสเซียเช่นกัน ขณะนี้ทั้งสองประเทศได้เริ่มพิจารณาเข้าร่วมนาโต้แล้ว ซึ่งการตัดสินใจจะเกิดขึ้นในช่วงมิถุนายนปีนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัสเซียประกาศเตือนทั้งสองประเทศไม่ให้เข้าร่วมนาโต้ในทันที อีกทั้งยังเคยขู่ทั้งสองประเทศว่าหากเข้าร่วมนาโต้จะต้องเผชิญกับผลกระทบทางการทหารและการเมืองอย่างแน่นอน
แม้ว่าสวีเดนและฟินแลนด์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในขณะนี้ แต่ทางเลือกทั้งสองทางที่มีอยู่ก็ยังคงมีความเสี่ยงรออยู่ หากตัดสินใจเข้าร่วมนาโต้ สิ่งที่จะได้รับคือ Collective Defence ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามจากรัสเซียที่เข้มแข็ง แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัสเซียบุกยูเครนในรอบนี้ก็คือ การที่ยูเครนมีความสนิทสนมกับประเทศตะวันตกมากเกินไปและการไม่ตัดโอกาสตนเองที่จะเข้าร่วมนาโต้
หากรัสเซียพิจารณาว่าสวีเดนและฟินแลนด์กำลังเล่นบทบาทแบบที่ยูเครนเคยเล่น ก็มีโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะถูกรัสเซียโจมตีได้ในช่วงเวลาก่อนถึงเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากสวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมนาโต้ ก็จะไม่ได้รับ Collective Defence และจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสภาวะหลังจากที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนในรอบนี้สิ้นสุดลง การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมนาโต้ในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้อาจเปลี่ยนโฉมบริบทความมั่นคงของทวีปยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง
————————————