การวิจัยของ ดร. Sophie Nightingale from มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ สหราชอาณาจักรและศาสตราจารย์ Hany Farid จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐฯ ซึ่งได้ทำการทดลองด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทดลองดูรูปภาพบุคคล 800 คน แล้วให้ระบุว่าเป็นรูปบุคคลจริงหรือปลอมพร้อมให้ระบุความน่าไว้วางใจของรูปบุคคลดังกล่าว ซึ่งผลการทดลองพบว่ารูปภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้รับความไว้วางใจโดยเฉลี่ยสูงกว่ารูปภาพบุคคลจริงถึงร้อยละ 7.7 ซึ่งถือเป็นตัวเลขทางสถิติที่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบว่ารูปภาพบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด 3 คนกลับเป็นรูปภาพที่สร้างโดย AI ขณะที่รูปภาพบุคคลที่ผู้เข้าร่วมการทดสอบเห็นว่าไม่น่าไว้วางใจที่สุด 4 คนกลับเป็นรูปภาพบุคคลจริง
รูปภาพบุคคลปลอมดังกล่าวสร้างโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบ generative adversarial networks (GANs) ซึ่งรูปภาพบุคคลที่สร้างโดย GANs มีความเสมือนจริงมากจนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างจากรูปบุคคลจริงได้ อีกทั้งภาพบุคคลที่สร้างโดย GANs ยังมีความน่าไว้วางใจยิ่งกว่าบุคคลจริง อาจเนื่องจากปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ที่จะสร้างภาพบุคคลที่ผู้คนชื่นชอบซึ่งก็คือภาพของบุคคลที่มีลักษณะทั่วไปโดยเฉลี่ย ดังนั้นผู้วิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ควรมีการกำหนดแนวทางป้องกันการนำภาพดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด อาทิ การใส่ลายน้ำ (watermarks) บนรูปภาพเพื่อป้องกันผู้คนจากเทคโนโลยีการปลอมแปลงแบบเสมือนจริง (deep fakes) และควรมีการกำหนดแนวทางจริยธรรมในการใช้งานรูปภาพสังเคราะห์ดังกล่าวสำหรับนักวิจัย สำนักพิมพ์ และผู้เผยแพร่สื่อ
การกำหนดแนวทางธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญ ดังปรากฏในรายงานของWorld Economic Forum ซึ่งระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และการต่อสู้กับ COVID-19 แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็ถือเป็นความท้าทายต่อมนุษย์ในประเด็นด้านจริยธรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นสิ่งใหม่ อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังนำหน้าขีดความสามารถในการควบคุมของมนุษย์ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ เครื่องมือ และระบบเพื่อกำกับดูแลการสร้างและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ อาทิ การสร้างป้ายกำกับ (labelling) การกำกับและตรวจสอบอัลกอริธึมเพื่อลดความเสี่ยง การกำกับดูแลแอปพลิเคชันเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์