การพัฒนาระบบคมนาคมที่หมายถึง การไป การมา การติดต่อไปมาถึงกัน และการสื่อสาร ให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มักจะนำพาหลายสิ่งมาด้วยเสมอ ทั้งความรุ่งและร่วง โดยการติดต่อเดินทางไม่ได้จำกัดแค่มนุษย์ แต่รวมถึงลิงซึ่งเกิดปรากฏให้เห็นในไทยในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างกรณีลิงลพบุรีนั่งรถไฟยกพวกไปตีกับลิงตาคลี นครสวรรค์ ทำให้เผ่าพันธุ์ลิงบางกลุ่มรุ่งเรือง แต่ขณะเดียวกันก็มีลิงร่วงไปหลายตัวจากเหตุปะทะนั้น
ว่าด้วยการปะทะแห่งปี 2565 คงไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่ารัสเซียกับยูเครนที่มีประเทศตะวันตกให้การสนับสนุนโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับโปแลนด์ รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคมนาคมและขนส่งระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ เมื่อ 19 พฤษภาคม 2565 ที่เยอรมนี ในงานการประชุม International Transport Forum 2022 Summit (ITF) ที่เมือง Leipzig เยอรมนี และระหว่างยูเครนกับโปแลนด์ เมื่อ 23 เมษายน 2565 เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการคมนาคม ทั้งรถไฟและถนน
จังหวะและแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมของยูเครนที่กับสหรัฐอเมเริกา และโปแลนด์ ก็ออกจะน่าสนใจอยู่ไม่น้อยในแง่การลำดับความสำคัญของประเทศที่กำลังเผชิญภาวะสงคราม ซึ่งก็ส่อเค้าว่ายูเครนต้องการเปลี่ยนระบบรางจากค่ายสหภาพโซเวียตไปสู่ค่ายตะวันตก จากเดิมระบบรางรถไฟหลักของสหภาพโซเวียตเลือกใช้ขนาดราง 1.435 เมตร ให้แตกต่างจาก 1.520 เมตรซึ่งเป็นขนาดรางหลักของทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีน (ดูภาพประกอบ) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ขนาดรางของสหภาพโซเวียตต่างจากประเทศอื่น และหากย้อนดูวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายด้านการคมนาคมในอดีตในภาวะสงคราม เราอาจเห็นประเด็นการพัฒนาคมนาคมในมุมที่ต่างออกไป โดยเฉพาะระบบรางและการสร้างถนน เพื่อรองรับการขนส่งกำลังบำรุงทางทหารที่เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดยุทธวิธีการสู้รบ
การที่ยูเครนแสดงเป้าหมายเปลี่ยนระบบคมนาคมที่รวมถึงระบบรางในภาวะสงครามที่กำลังดำเนินอยู่นี้ อาจเป็นลางบอกเหตุจากยูเครนถึงรัสเซียว่า เส้นทางทุกสายที่จะเกิดขึ้นในยูเครนนับจากนี้จะทอดไปสู่พันธมิตรตะวันตก ไม่ใช่รัสเซีย ลาก่อนความเป็นม่านเหล็กที่มีนัยหมายถึงความเป็นสหภาพโซเวียต พอกันเสียทีกับขนาดรางรถไฟที่เหมือนกำแพงแก้ว กั้นระหว่างประเทศอดีตสหภาพโซเวียตกับประเทศตะวันตกและจีน
ผ่านไป 31 ปี กำแพงความต่างของขนาดรางนี้ก็ยังทำงานอยู่แบบเงียบ ๆ เปรียบเสมือนกำแพงแก้วใส ๆ ที่เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่น้อยคนจะทันสังเกต ว่าหน้าที่หลักคือการใช้ความแตกต่างของขนาดรางรถไฟนี้ในการเตะถ่วง กีดกันอิทธิพลการค้าของจีนหรือยุโรป ไม่ให้ทะยานรวดเร็วเกินไปในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งรัสเซียยังเห็นว่าเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย
ยูเครนก็เช่นกัน ในทัศนะของรัสเซีย ยูเครนควรจะมีความทรงจำหรือความรู้สึกร่วมกับรัสเซียในฐานะประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนภายใต้คำว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ยูเครนก็เข้าโหมดพร้อมสู้รบทันที เป็นภาพที่ตอกย้ำว่าการมีความทรงจำร่วม ไม่ได้หมายความว่าจะรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ระบบรางรถไฟที่ยังคงยาวเชื่อมโยงกัน ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ยังเชื่อมกันไปด้วย
ศตวรรษที่ 21 อาวุธมากมายสามารถทำลายระบบรางได้รวดเร็ว แต่ในเชิงยุทธวิธี สมรภูมิเย็นจัดแบบ
ภูมิประเทศของยูเครนและรัสเซีย ไม่น่าจะมีระบบขนส่งใดดีกว่าระบบราง ทั้งการขนส่งระยะไกล รองรับของขนาดใหญ่ ทั้งรถถังและอาวุธหนัก อีกทั้งมีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าการขนส่งแบบอื่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนหัวรถจักรเป็นพลังงานได้หลายรูปแบบ ไม่ต้องพึ่งพาเฉพาะน้ำมันเพียงอย่างเดียว (หากเกิดสงครามน้ำมันก็แพงขึ้นหลายเท่าตัว) อีกทั้ง สามารถเร่งความเร็วได้ปลอดภัยกว่ารถยนต์เมื่อเทียบกับความเร็วในระดับเดียวกัน ง่ายต่อการอำพราง ซ่อม รื้อ สร้างได้รวดเร็วกว่าสนามบินและท่าเรือ
เหตุการณ์ที่ตอกย้ำลางบอกเหตุว่าระบบรางยังคงสำคัญอย่างยิ่งในภาวะสงครามคือการที่ระบบรางเป็นหนึ่งในเป้าหมายโจมตีทั้งจากรัสเซียและยูเครนอย่างต่อเนื่อง และการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกา เลือกให้ระบบรางซึ่งคือรถไฟในการเข้าสู่ใจกลางกรุงเคียฟ ยูเครน เมื่อ 25 เมษายน 2565 ทั้งนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Lloyd J. Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เยือนยูเครนแบบปิดลับ (แต่เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการเยือน) เพื่อการรักษาความปลอดภัยจากชายแดนโปแลนด์ ตามที่สำนักข่าว abcnews[1] และ The New York Times[2] รายงาน
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่ากำแพงแก้วที่สหภาพโซเวียตได้สร้างไว้และถูกสั่นคลอนจากยูเครน จะเป็นลางบอกเหตุอะไรในอนาคต แก้วแตกอาจเป็นได้ทั้งความอัปมงคลตามความเชื่อแบบไทย ซึ่งอาจหมายถึงสงครามโลก/สงครามเย็นรอบใหม่ หรืออาจเป็นสิ่งมงคลตามความเชื่อแบบอิตาลี ที่เชื่อว่าจำนวนเศษแก้วที่บ่าวสาวปาแตกในงานวิวาห์หมายถึงจำนวนปีแห่งความสุขของการสมรส แต่เราก็ไม่ควรลืมเช่นกันว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 เคยทำให้หลายคนเชื่อว่าโลกจะสงบสุข แต่เมื่อผ่านไป 31 ปี เห็นได้ชัดว่ายังมีคนบนโลกที่ไม่คิดเช่นนั้น โดยเฉพาะประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
—————————————————-
- https://abcnews.go.com/Politics/inside-blinken-austins-risky-secret-visit-ukraine/story?id=84295558 ↑
- https://www.nytimes.com/2022/04/24/world/europe/blinken-austin-kyiv-ukraine.html ↑