“ผมคิดว่าตัวละครนี้ควรได้บอกลาแฟรนไชส์นี้ไปพร้อมกับข้อความดี ๆ” นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ Johnny Depp ที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร CBS เกี่ยวกับอนาคตของตัวละครกัปตัน Jack Sparrow จากเรื่อง Pirates of the Caribbean ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นช่วงที่คดีความการฟ้องร้องระหว่าง Depp และ Amber Heard เกี่ยวกับข้อครหาว่า Depp ใช้ความรุนแรงกับ Heard ที่เป็นภรรยาเก่ายังดำเนินไปในกระบวนการยุติธรรม
การที่ Depp ตกเป็นจำเลยดังกล่าวทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเอง ส่งผลให้ต้องถูกถอดออกจากบทบาทในภาพยนตร์อย่างบท Grindelwald ในเรื่อง Fantastic Beasts และอีกหลายบท จึงเกิดความไม่แน่นอนขึ้นว่า Depp จะได้กลับมาเล่นเป็นตัวละครนี้อีกหรือไม่ 1 ในนั้นคือ Jack Sparrow ที่เริ่มต้นมาพร้อมกับแฟรนไชส์โจรสลัด Pirates of the Caribbean
อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของคดีความสะเทือน Hollywood ของอดีตคู่รักคู๋นี้จบลง (เมื่อ 1 มิ.ย. 2565) Depp เหมือนจะได้รับแรงสนับสนุนให้กลับมามีที่ยืนในวงการอีกครั้ง แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าเขาจะได้กลับมาสานต่อบทสรุปของกัปตัน Jack หรือไม่ แต่จากบทสัมภาษณ์ที่เคยให้ไว้ นั่นแสดงว่า Jack Sparrow เป็น “โจรสลัด” ที่แฟนภาพยนตร์ทั่วโลกรัก
ทุกคนรู้ว่า Jack Sparrow คือตัวละครที่เป็น “โจรสลัด” คนหนึ่งที่มีคาแรคเตอร์สุดเพี้ยน บ้าบอ แต่กลับเจ้าเล่ห์และมีไหวพริบในการเอาตัวรอดสูง ทว่าความสนุกสนานที่เนื้อหาภาพยนตร์นำพาเราไปเหมือนจะทำให้ผู้ชมมองข้ามกันหรือไม่ว่า Jack Sparrow ไม่ได้ประกอบอาชีพสุจริตเหมือนปุถุชนทั่วไป? โจรสลัดในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นคืออาชญากร (Criminal) เป็นพวกนอกกฎหมายที่ปล้นจี้ สร้างความหวาดกลัวบนท้องทะเลไปทั่วในหน้าประวัติศาสตร์ และไม่ได้มีแค่ Jack Sparrow เท่านั้น
ตัวละครประเภทโจรสลัด อาชญากร หรือนักฆ่า ที่โด่งดังในภาพยนตร์และแอนิเมชันหลายเรื่องก็ยังเป็นที่รักของแฟน ๆ ไม่ต่างกัน เช่น ตัวละคร “Dominic Toretto” ของ “Vin Diesel” จากแฟรนไชส์รถซิ่ง “Fast & Furious” โดยก่อนหน้าที่จะเป็นยอดนักซิ่งกู้โลกราวกับทีม Avengers ในภาพยนตร์ ตัวละคร Toretto คือโจรที่ใช้รถซิ่งปล้นรถขนเครื่องเล่น DVD มาก่อน หนำซ้ำด้วยบทบาทที่เขียนให้มีความเป็นผู้นำสูง มีฝีมือ สามารถพ่นวาทกรรมเท่ ๆ ออกมาจับใจคนได้เสมอ กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “Brian O’Connor” ที่แสดงโดย “Paul Walker” ย้ายขั้วเปลี่ยนข้างจากการเป็นเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอย่าง FBI ไปร่วมปล้นด้วยกัน จนกระทั่งกลายมาเป็นครอบครัวเดียวกันในที่สุด
กระทั่งในวงการแอนิเมชัน ที่แม้จะไม่ได้สร้างตัวละครให้ดิบเถื่อนเท่าภาพยนตร์ แต่ก็ยังสามารถผลักดันให้ตัวละครที่เป็นอาชญากรเหล่านี้ขึ้นมาเป็นฮีโร่ในใจของใครหลาย ๆ คนได้ เช่น “Monkey D. Luffy” โจรสลัดจากแอนิเมชันเรื่อง “One Piece” ที่โด่งดังไม่แพ้ Jack Sparrow ผู้ซึ่งมีความฝันอยากเป็นราชาแห่งโจรสลัด หรือจอมโจร “Kid” จาก “Detective Conan” คู่ปรับของเจ้าหนูนักสืบจิ๋ว “Conan” ที่มีเอกลักษณ์การปล้นโดยการส่งสาส์นท้าไปถึงตำรวจ เพิ่มความท้าทายในการขโมยสมบัติมูลค่าสูงราวกับเล่นเกม
เหตุใดที่ตัวละครอาชญากรเหล่านี้สามารถทำให้ผู้ชมไม่กังขาในสิ่งที่พวกเขาทำ สามารถมองพวกเขาเป็นฮีโร่คนหนึ่งได้ นั่นคงเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นวายร้าย (Villain) เหมือนอย่างที่อาชีพเทา ๆ ของพวกเขาควรจะเป็น แต่กลับถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบ Anti-Hero หรือตัวเองปฏิลักษณ์มากกว่า Anti-Hero นั้นเรียกว่าอยู่ตรงกลางระหว่างดำกับขาว ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้มากกว่าพระเอกผู้เสียสละ ซึ่งดูจะเป็นบุคคลในอุดมคติที่หาได้ยากในชีวิตจริง ในขณะที่บทบาทวายร้ายกลับถูกโยนไปให้กับฝ่ายตรงข้าม (Antagonist) ของตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ แทน เมื่อตัวเอกเป็นโจร วายร้ายที่ถูกกำหนดให้มาต่อสู้ขัดขวางจึงมักจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
เราอาจมองได้ว่าการที่ตัวละคร Heroes ในคราบอาชญากรถูกนำมาใช้เป็นตัวเอกอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะตัวละครเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ตอบสนองความเป็น “ขบถ” ที่มีอยู่ในตัวคนได้ พวกเขาไม่ต้องการอยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่ใครตั้งไว้ สามารถต่อสู้กับผู้ที่ใช้อำนาจรัฐกดขี่ได้อย่างถึงพริกถึงขิง หรือกับกลุ่มอิทธิพลมืดที่ไม่มีใครจัดการเอาผิดได้ แต่กลับต้องมีอันเป็นไปเมื่อมาขัดแข้งขัดขาตัวละครเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากเป็นตัวเอกตามขนบที่มีความเป็นพ่อพระสูงมารับบทบาทเช่นนี้ก็อาจจะขัดกับลักษณะนิสัยเกินไป ทำให้ผู้ชมไม่อิน สิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สุดคือเราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเวลา Anti-Hero พวกนี้ตั้งตนเป็นศาลเตี้ย (Vigilante) นั้นคือสิ่งที่ถูก ทว่าก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าผิดเช่นกัน หลายตัวละครเปลี่ยนแปลงจากอาชญากรเต็มตัวในช่วงแรกไปเป็นคนที่ดีกว่าได้ แสดงให้เห็นว่าคนเราไม่มีใครร้ายได้ตลอดไปและไม่มีใครดีได้ตลอดกาล
และเมื่อพิจารณาถึงแง่มุมที่ภาพยนตร์ซึ่งมีตัวเอกเป็นอาชญากร ในบริบทของ Soft Power ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน คงเป็นเพราะตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ขยายตัว ทำให้วัฒนธรรม การเมือง และค่านิยมของแต่ละประเทศเผยแพร่ถึงกันได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว อันเนื่องมาจากการสามารถเข้าถึงของอินเทอร์เน็ต ผ่าน Social Media และ Platform ต่าง ๆได้มากมาย
“Joseph Nye” นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเคยอธิบายถึงการใช้อิทธิพลควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของอีกฝ่ายให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้นั้นว่ามีอยู่ 2 ประเภทคือ Soft Power และ Hard Power (ใช้กำลังหรืออำนาจกดดัน/บังคับ) ซึ่งการใช้ Soft Power นั้น แม้จะเปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายได้อย่างช้า ๆ และควบคุมผลลัพธ์ที่ต้องการได้ยาก แต่ก็เป็นกระบวนการที่สามารถปลูกฝังค่านิยมหรือแนวคิดใดๆให้แทรกซึมได้อย่างแนบเนียนลึกซึ้ง โดยเฉพาะการใช้ Content ทางวัฒนธรรมผ่านสื่อต่าง ๆ โดยอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ ตลอดจนค่านิยมและทัศนคติทางสังคม
ตัวอย่างที่เป็นที่รับทราบกันมากขึ้น คือการใช้ภาพยนตร์ Hollywood ในการส่งออกทางวัฒนธรรมและแนวคิด ส่งเสริมคุณค่าหรือค่านิยมทางการเมืองแบบอเมริกันของสหรัฐฯ หรือในกรณีเกาหลีใต้ที่ใช้อุตสาหกรรมเพลงหรือสื่อบันเทิงดึงดูดให้ผู้คนรู้จัก K-Pop และซีรี่ส์เกาหลี ซึ่งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติตนในยุคสมัยใหม่ การใช้ Soft Power จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติการหรือกระบวนการหรือเครื่องมือที่มุ่งสร้างอิทธิพลที่กล่อมเกลาความคิด เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมต่างๆได้
ดังนั้นจากเรื่องราวของ Heroes ในคราบอาชญากรข้างต้น ส่วนหนึ่งที่ทำให้การแสดงของตัวละครเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คือการมอบแรงบันดาลใจบางอย่างให้ผู้ชม แต่กระนั้นดูเหมือนบทบาทอาชญากรก็ไม่ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบในด้านลบ แม้ตัวละครอย่าง Jack Sparrow หรือ Luffy จะป่าวประกาศอย่างภาคภูมิว่าตัวเองคือโจรสลัด ซึ่งคงเป็นเพราะสิ่งที่แสดงออกนั้นไม่ใช่พฤติกรรมของโจรสลัดทั้งหมด ตัวเอกทั้ง 2 นี้ไม่เคยแสดงการข่มขู่กรรโชกทรัพย์ต่อผู้บริสุทธิ์ สนใจเพียงแค่การหาสมบัติหรือทำตามความฝัน ต้องการเป็นโจรสลัดตามค่านิยมของสังคมหรือบริบทในเรื่อง เพื่อจะให้ทุกคนรับรู้ว่าตนก็เป็นเสรีชนคนหนึ่งที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของใคร
การเสพสารนี้ของผู้ชมจึงน่าจะใช้วิจารณญาณแยกแยะได้ว่าการมีความฝัน มีเป้าหมายแบบพวกเขาเป็นเรื่องที่ดี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถใฝ่หาเสรีภาพด้วยการเป็นพวกนอกกฎหมายได้ และสิ่งสำคัญคือความเป็นมนุษย์ผู้ทำผิดพลาดได้เสมอจาก Anti-Hero เหล่านี้ และคาดว่านั่นคือ Content ที่ผู้เสพสื่อบันเทิงประเภทภาพยนตร์หรือการ์ตูนในปัจจุบันยังต้องการจะเห็น และทำให้ผู้ชมหลงรักทั้งหมดในความเป็นตัวละครเหล่านี้ ดังนั้นผู้สร้างสรรค์สื่อบันเทิงเองก็ควรตระหนักเสมอว่าสื่อบันเทิงสามารถเป็นอำนาจละมุนที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย
เรียบเรียงจาก
https://www.majorcineplex.com/news/depp-plan-jack-ending
https://pridi.or.th/th/content/2021/05/703
ขอขอบคุณภาพประกอบของตัวละครหลักจาก
- ภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean ของ Walt Disney Studios Motion Pictures
- ภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious ของ Universal Pictures
- หนังสือการ์ตูน One Piece ของ สำนักพิมพ์ชูเอฉะ