จริงอยู่ที่ว่าการลงทุนรูปแบบดังเดิมอย่างตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงปรับลดลงอย่างหนัก แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดคริปโตเคอเรนซีนั้นหนักกว่ากันมาก ราคา Bitcoin (BTC) ที่เคยดีดขึ้นไปสูงสุดที่เหรียญละ 69,044 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ใช้เวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้นในการปรับลดลงมาเหลือเพียงเหรียญละ 21,084 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน (17 มิถุนายน 2565) หรือมูลค่าลดลงเกือบร้อยละ 70 เลยทีเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งคือถ้ามีใครใช้เงินเก็บทั้งหมดซื้อ Bitcoin ไว้เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ถ้าตัดสินใจขายไปตอนนี้ก็จะเหลือเงินไม่ถึง 1 ใน 3 !!!
การเสื่อมมูลค่าลงฮวบ ๆ ในเวลาสั้น ๆ สะท้อนธรรมชาติการเป็นสินทรัพย์เสี่ยงและผันผวนสูงของคริปโตเคอเรนซี ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนเริ่มจะคุ้นเคยจนไม่ได้ตื่นเต้นกับปรากฏการณ์นี้เท่าไหร่นัก เพราะที่ผ่านมา Bitcoin ก็ปรับตัวขึ้นลงวูบวาบเป็นวงจรมาแล้ว 2 รอบใหญ่ ๆ และนักลงทุนที่เชื่อมั่นใน Bitcoin ก็มั่นใจว่าเดี๋ยวตลาดหมีและฤดูหนาวคริปโตฯ (crypto winter หรือช่วงภาวะที่ตลาดคริปโตเคอเรนซีซบเซาต่อเนื่องยาวนาน) ก็จะผ่านพ้นไป แล้ว Bitcoin ก็จะพุ่งขึ้นไปทำราคาสูงสุด (new high) อีกครั้ง
แต่สถานการณ์พิเศษที่ทำให้ Bitcoin ราคาถล่มครั้งนี้ ทั้งการล่มสลายของเหรียญ Luna และความเสี่ยงล้มละลายของแพล็ตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอเรนซีชื่อดังอย่าง Celsius ก็เป็นสถานการณ์พิเศษที่นำมาสู่การตั้งคำถามต่อระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (decentralize) ที่เคยเป็นความหวังว่าจะเป็นระบบที่ช่วยให้ “คนธรรมดา” จะสามารถปลดแอกจากพันธนาการของรัฐได้
คำถามใหญ่ ๆ คำถามแรกคือ การถล่มของตลาดคริปโตเคอเรนซีครั้งนี้วาดภาพให้เห็นชัดขึ้นถึงอิทธิพลมหาศาลของผู้เล่นตัวใหญ่ (whale) ที่ชี้เป็นชี้ตายระบบการเงินใหม่นี้ ไม่ได้ต่างไปจากที่รัฐหรือธนาคารครอบงำระบบการเงินรวมศูนย์แบบดั้งเดิม ความฝันที่ว่าจะกระจายอำนาจ จึงกลายเป็นคำถามว่าหรือจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนอำนาจจากคนตัวใหญ่คนเดิมไปรวมอยู่ที่คนตัวใหญ่คนใหม่เท่านั้นเอง การล้มของเหรียญ Luna เกิดจากการตัดสินใจโจมตีระบบของผู้เล่นรายใหญ่ที่มองเห็นโอกาสทำกำไร ส่วนการเกิดขึ้นของ Luna 2.0 ก็เป็นการตัดสินใจของคนเพียงหยิบมือ ที่คนตัวเล็กที่ได้รับผลกระทบหนักคัดค้านอะไรไม่ได้เลย
เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นกับแพล็ตฟอร์ม Celsius ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากนโยบายลงทุนที่ผิดพลาดของผู้บริหาร ก็เป็นภาพที่ช่างคุ้นเคยเหลือเกินว่าเคยเกิดกับธนาคารใหญ่ จนพูดได้ว่า แพล็ตฟอร์มตลาดแลกเปลี่ยนรวมศูนย์ (centralize exchange) เหล่านี้ ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากธนาคารในระบบการเงินดังเดิม แล้วเราจะมีระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ไปทำไม? การเติบโตของ centralize exchange และการที่รัฐเข้ามากำกับดูแล centralize exchange ก็คือความพยายามดึงระบบการเงินจากยุค 3.0 ให้ถอยกลับมาเป็นยุค 2.0 ที่บทบาทของตัวกลางยังสำคัญมาก และรัฐก็กำกับตัวกลางเหล่านั้นได้
อีกคำถามหนึ่ง คือการตั้งคำถามต่อทิศทางการเติบโตของคริปโตเคอรเรนซีในห้วงที่ผ่าน ซึ่งแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีทรงคุณค่ามากมายอยู่เบื้องหลัง คริปโตเคอเรนซีมีประโยชน์อื่นอีกมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การเก็งกำไร น่าจะเป็น function ยอดนิยมที่สุดของคริปโตเคอเรนซี และทำให้คริปโตเคอเรนซีติดตลาดในปัจจุบัน ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นแรงผลักทางจิตวิทยาให้คนเก่ง ๆ เข้ามาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีในโลกของคริปโตเคอเรนซี (โดยมีเงินเป็นแรงจูงใจ) แต่อีกทางหนึ่ง การที่ผูกติดอยู่กับการเก็งกำไรเช่นนี้ก็ทำให้เกิดคำถามน่าสะท้อนใจว่า ทำไมเหรียญที่มีเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก ๆ อยู่เบื้องหลัง เช่น ETH SOL หรือ ALGO จึงมีอนาคตผูกติดอยู่กับมูลค่าในตลาดของการเก็งกำไร ไม่ได้ต่างจาก memecoin ที่ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ เลยนอกจากการเก็งกำไรเหมือนแชร์ลูกโซ่
ระยะเวลาของการดำรงอยู่เพียงสิบกว่าปี ทำให้ Bitcoin และคริปโตเคอเรนซียังถือเป็นโลกใหม่ที่ยังมีพลวัตรสูง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลาในโลกของคริปโตเคอเรนซี ก็มาพร้อมกับความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน ธรรมชาติของระบบกระจายศูนย์ ทำให้คำถามที่คริปโตเคอเรนซีถูกตั้งให้ตอบด้วยความเคลือบแคลง จะมีคนมากมายพยายามลุกมาตอบและสร้างความเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า จึงพูดได้อย่างมั่นใจว่า คริปโตเคอเรนซีจะไม่ล่มสลายหรือหายไปไหน มันจะอยู่กับเราต่อไป เพียงแต่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดเท่านั้นเอง
—————————————-