กรอบความร่วมมือองค์การรัฐเตอร์กิก (Organization of Turkic States-OTS) ที่ริเริ่มเมื่อปี 2535 เพียงหนึ่งปีหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 คงจะถูกมองว่าเป็นร่มใหม่ของเหล่าประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียตที่มีการใช้ภาษาเติร์กก็ได้ โดยองค์กรนี้มีพัฒนาการยกระดับรูปแบบการรวมกลุ่มเรื่อยมา กว่าจะมาได้ชื่อเป็น OTS เมื่อปี 2564 และสำหรับปีนี้ตุรกีดำรงตำแหน่งประธานประจำปี 2565 โดยมีอีก 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งล้วนเป็นอดีตประเทศสหภาพโซเวียต
แต่หลังจากได้ชื่อใหม่มาไม่นาน ยังไม่ทันจะประเดิมเปิดประชุมนัดแรกที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ เพียงต้นปี 2565 ประเทศสมาชิก 2 ใน 5 ของ OTS ก็เผชิญความชุลมุนทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ได้แก่ ความไม่สงบในคาซัคสถาน(เมื่อมกราคม)จากการประท้วงราคาพลังงานแพง และความไม่สงบในอุซเบกิสถานเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม จากการประท้วงในเขตปกครองตนเองคารากัลปักสถาน (Karakalpakstan) เพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการเปลี่ยนสถานะสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนตามรัฐธรรมนูญ
โดยเหตุการณ์ที่อุซเบกิสถานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 รายและมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 518 คน บาดเจ็บอีกมาก ซึ่งตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมและบาดเจ็บไม่ตรงกันสักแห่ง แต่หากดูระดับมาตรการที่รัฐงัดออกมาใช้ ก็อาจจะพอประมาณการได้ว่า น่าจะรุนแรงไม่น้อย โดยมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งรถฉีดน้ำ และอาจมีการใช้กระสุนจริง (ยังไม่มีองค์กรอิสระสามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ทราบได้) พร้อมส่งทหารเข้าควบคุมเส้นทางเข้าออกพื้นที่ดังกล่าว ระหว่าง 2 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคม 2565 อีกทั้งมีการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ต ขณะที่องค์การสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องให้อุซเบกิสถานเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส
แม้ความปั่นป่วนดังกล่าวต่างที่และต่างเวลา แต่ก็มีจุดร่วมไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ผู้นำชูประเด็นการสร้างยุคใหม่ (New Era) ของทั้งสองประเทศ คล้ายกันยังกับนัดกันไว้ (หรืออาจจะเพราะกำลังแข่งขันกันอยู่) นอกจากนี้ มีจุดร่วมที่น่าสนใจในสองประเทศอดีตสหภาพโซเวียตผู้มีอิทธิพลในเอเชียกลางนี้ โดยจะขอยกตัวอย่างภาพรวม 3 ข้อสำคัญ ได้แก่
1) ความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังแข่งขันเบียดเสียดกันขึ้นมาเป็นประเทศหัวหอกในกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต อีกทั้งก็เป็นสองประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อย่างดีในปฏิบัติการพิเศษทางทหารในอัฟกานิสถาน โดยคาซัคสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ส่วนอุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียกลาง
ทั้งนี้ เอเชียกลางคือดินแดนหัวใจตามแนวคิด Greater Eurasia ของรัสเซีย ตามทฤษฎี Heartland ของ Halford John Mackinder ที่กล่าวไว้ว่า Who rules East Europe commands the Heartland; who rules the Heartland commands the World-Island; who rules the World-Island commands the world. ซึ่งภาวะหัวใจแปรปรวนเหมือนจะหลุดกระเด็นออกจากอกนี้ รัสเซียไม่น่าจะนิ่งเฉยได้
สัญญาณที่บอกว่าประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียให้ความสำคัญต่อแนวคิด Greater Eurasia หรือความริเริ่ม Greater Eurasia Partnership เริ่มปรากฏขึ้นชัดผ่านการแถลงในการประชุม Saint Petersburg International Economic Forum (SPIEF) เมื่อปี 2559 เพื่อเป้าหมายให้รัสเซียมีบทบาทนำในการส่งเสริมกลไกระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ และเพื่อเชื่อมโยงระดับยุทธศาสตร์กับ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน โดยหวังให้เชื่อมตะวันตกกับตะวันออก จากยุโรปถึงเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้ยูเรเซียมีความโดดเด่นด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของรัสเซียเหมือนสมัยสหภาพโซเวียตยุครุ่งเรือง อีกทั้งเป็นการกีดกันไม่ให้ประเทศมหาอำนาจอื่นเข้ามาแผ่อิทธิพลทุกด้านในภูมิภาค
2) ประธานาธิบดีของคาซัคสถานและประธานาธิบดีอุซเบกิสถาน อ้างแบบไม่เปิดเผยพยานหลักฐานว่าเป็นการปลุกปั่นและเป็นความไม่สงบที่ถูกวางแผนมาก่อน “จากต่างชาติ” แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการยุติบทบาทของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูง โดยคาซัคสถานจับกุมเจ้าหน้าที่หลายนายในข้อหากบฏ ส่วนอุซเบกิสถานปลดออกจากตำแหน่ง โดยอ้างปัญหาสุขภาพ (แต่ดูจะเวลาเหมาะเจาะเกินไป)
3) ห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งคาซัคสถานและอุซเบกิสถานดำเนินนโยบายแบบถ่วงดุลอำนาจทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ระหว่างรัสเซีย จีน สหรัฐฯ และประเทศในยุโรป อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับตุรกีมากขึ้น ซึ่งตุรกีเป็นประเทศที่ติดกับทะเลดำอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางใต้ของรัสเซียและยูเครน อีกทั้งตุรกีเป็นประเทศสมาชิก NATO ศัตรูตัวฉกาจของรัสเซียในตอนนี้ (และน่าจะตลอดไป)
อีกมุมหนึ่ง หากมองผ่านโครงสร้างประชากรชาวเตอร์กิก ตุรกีน่าจะเป็นแกนนำได้ไม่ยาก และข้อมูลเชิงตัวเลขที่น่าสนใจคือ 7 ประเทศแรกที่มีประชากรเตอร์กิกมากที่สุด ได้แก่ ตุรกี อุซเบกิสถาน อิหร่าน รัสเซีย คาซัคสถาน จีน และอาเซอร์ไบจาน หากเอามาจัดกลุ่มก็จะเห็นว่า 4 ใน 7 รวมกลุ่มกันเป็น OTS ขณะที่อิหร่าน รัสเซียและจีน ก็มีการรวมกลุ่มกันหลวม ๆ ในหลายกรอบ โดยมีข้อสังเกตว่าใน 3 ประเทศนี้ ชาวเตอร์กิกยังไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นในประเทศ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าประเทศสมาชิก OTS คือกลุ่มของประเทศที่ชาวเตอร์กิกเป็นใหญ่ก็คงจะไม่ผิด
ในภาวะการเมืองระหว่างประเทศร้อนแรงจากความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนขณะนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า OTS หากต้องเลือกจริง ๆ สุดท้ายจะไปทางไหนกันแน่ และในพฤศจิกายน 2565 ที่จะประชุมนี้ เราอาจได้เห็นท่าทีบางอย่าง
———————————–