สำหรับปี 2565 พายุการเมืองไม่ได้โหมกระหน่ำแค่ในคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน แต่กระหน่ำกรุงเคียฟ ยูเครน และกรุงมอสโก รัสเซียด้วย และพายุครั้งนี้ก็พลอยฟ้าพลอยฝนกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนนี้
คาดว่าจะเห็นลมหนาวของอากาศกับลมร้อนของการเมืองระหว่างประเทศจากความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน เข้าสู่ฤดูมรสุมทรวงซึ่งร่องมรสุมจะพาดผ่านการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และการประชุมสุดยอด APEC ที่ จังหวัดภูเก็ต ไทย โดยคนที่โดนฝนน้ำลายกระหน่ำสาดใส่มากที่สุดของปีนี้ คงหนีไม่พ้นประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ที่หากมาร่วมก็น่าจะสร้างความกดดันให้ทั้งตัวเองและเจ้าภาพไม่น้อย แต่ถ้าไม่มาก็เสียเหลี่ยม
การที่ยังอยู่ในอำนาจว่ายากแล้ว แต่หากคิดถึงวันที่ไม่อยู่ก็ยากเหมือนกัน เพราะการที่ยังมีฐานะผู้นำของรัสเซียประเทศที่สืบทอดทุกมรดกทั้งหนี้และทุนของสหภาพโซเวียตอันยิ่งใหญ่ รวมถึงรับเอาความหวาดระแวงจากตะวันตกมาด้วยนั้น หากรัสเซียสัมผัสได้ถึงแรงอาฆาตหวังปิดล้อมจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(NATO) แล้ว อีกแรงกดดันหนึ่งที่รัสเซียก็คงสัมผัสได้เช่นกัน คือความร่วมมือในองค์การรัฐเตอร์กิก (Organization of Turkic States-OTS) ที่มีตุรกีสมาชิก NATO อีกทั้งเป็นประเทศแกนนำในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเตอร์กิก ได้เข้ามาแทรกกลางในหมู่สหายเอเชียกลางของรัสเซีย ซึ่งการจับกลุ่มของประเทศที่ใช้ภาษาเติร์ก เดิมเคยเป็นเพียงลมพัดผ่านมากว่า 29 ปี กำลังมีทีท่าว่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นพายุได้เหมือนกัน
โดยวันที่ 11 เดือน 11 ปีนี้จะเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของกลุ่มประเทศที่พูดภาษาเติร์ก ภายใต้ชื่อ OTS แม้ที่ผ่านมาเป็นเพียงกรอบหลวม ๆ แต่ก็จัดมาได้แล้วกว่า 23 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2535 บางปีมีผู้นำจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมเองบ้าง ส่งผู้แทนบ้าง หรือไม่เข้าร่วมเลยก็มีบ้างในบางประเทศ อีกทั้ง มีเติร์กเมนิสถานและฮังการีเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ด้วย และยูเครนกับนอร์เทิร์นไซปรัสก็แสดงเจตจำนงต้องการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้เช่นกัน
หากจะบอกว่ากลุ่มดังกล่าว เป็นลมพัดเบา ๆ แต่ไม่เคยหยุดพัดก็ได้ ซึ่งการรวมกลุ่มโดยไม่มีรัสเซียนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า จริง ๆ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของรัสเซีย ที่ประกาศเมื่อกรกฏาคม 2564 แทนของเก่าปี 2558 ผ่านการวัดกระแสลมรอบด้านแล้วว่าเพียงร่มเก่าของสหภาพโซเวียตที่ยังอยู่ผ่านอิทธิพลของประธานาธิบดี Putin ไม่เพียงพอที่จะต้านทานลมฝนของยังเติร์ก (Young Turks) ในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่ยังคงแสวงหาร่มของตัวเอง หรือหาร่มใหม่ตลอดเวลา
การกล่าวถึงยุคใหม่ของทั้งประธานาธิบดีคาซัคสถานและประธานาธิบดีอุซเบกิสถาน ชวนให้รัสเซียคิดตามไม่น้อยว่ายุคใหม่ของสองประเทศจะมีรัสเซียอยู่ในฐานะใด และโฆษณาชวนเชื่อที่ตะวันตกโจมตีว่ารัสเซียปัจจุบันฝักใฝ่ค่านิยมแบบจักรวรรดิรัสเซีย ที่กรุงมอสโกมีอิทธิพลเหนือประเทศอดีตสหภาพโซเวียตนั้น ทั้งสองประเทศคิดเห็นอย่างไร
ทั้งนี้ ยังเติร์กในบทความนี้สื่อถึงความหมายอย่างกว้างของคำนี้ ที่ไม่จำกัดเพียงกลุ่มทหารหนุ่มไฟแรงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ให้หมายถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้า ซึ่งเริ่มแรกเป็นคำเรียกกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวเติร์กที่เป็นพลังสำคัญในการกรุยทางและผลักดันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากจักรวรรดิออตโตมัน สู่เส้นทางประชาธิปไตยแบบตุรกีในปัจจุบัน
การรวมกลุ่มของประเทศที่ใช้ภาษาเติร์กนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 29 ปีก่อน ก็เป็นไปได้ว่าเหล่าผู้กำหนดนโยบายของประเทศสมาชิก OTS ในขณะนั้นที่กำลังเป็นหนุ่มสาวกันอยู่ แท้จริงแล้วรับเอา Spirit ทางการเมืองแบบยังเติร์กของตุรกีเข้าไปผสมปนเปกับ Spirit แบบสหภาพโซเวียตมานานแล้ว และเมื่อความรู้สึกการเป็นสหภาพโซเวียตเบาบางลง ความต้องการออกจากร่มเงาของรัสเซียนั้นจึงเด่นชัดยิ่งขึ้น
ความเคลื่อนไหวของรัสเซียภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้ จึงมุ่งรักษาอิทธิพลในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในหลายรูปแบบ ทั้งแบบเจ็บแต่จบ กับแบบเจ็บแต่ยังไม่จบ โดยการส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจพิเศษที่คาซัคสถาน เมื่อมกราคม พร้อมติดป้ายกองกำลังสันติภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เจ็บแต่จบ เจ็บขนาดเรียกว่าเป็น “Trajic January” แต่จบเมื่อความห่วงใยจากมอสโกยังสามารถแผ่ไปถึงเมืองอัลมาตีของคาซัคสถาน ทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านการลงประชามติอย่างสันติเมื่อมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนอาการเจ็บแต่ไม่จบคือการที่รัสเซียส่งทหารภายใต้ป้ายว่า ปฏิบัติการพิเศษในยูเครน
ก็น่าติดตามว่าหากความไม่สงบ เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของอุซเบกิสถานที่ต้องการก้าวสู่ยุคใหม่ (ให้ทันคาซัคสถาน) นั้น เจ็บแล้วจะจบแบบคาซัคสถานหรือไม่ มีโอกาสแค่ไหนที่ทหารยังหนุ่มของรัสเซียอาจได้เยือนอุซเบกิสถานด้วยเหตุผลที่ว่ารัสเซียยังห่วงใยความสงบของประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอยู่ ซึ่งก็อาจเท่ากับว่า อุซเบกิสถานอาจจำเป็นต้องพึ่งร่มเก่าหลบฝนไปพลางก่อน มิหนำซ้ำยังเติร์กของอุซเบกิสถานในเหตุการณ์นี้อาจปลุก Spirit ยังเติร์กของชาวคารากัลปักขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งใจ
เพราะเอาเข้าจริง ๆ Spirit แบบยังเติร์กอาจซ่อนอยู่ในมนุษย์ทุกคน เพียงแต่รอการปลุกปั่น (หรือปลุกให้ตื่น)
———————————–