COVID-19 แพร่ระบาดไว โดยเฉพาะในยุคที่การคมนาคมรวดเร็ว เครื่องบินสามารถขนส่งผู้คนข้ามประเทศไปได้ทันใจ ทำให้การแพร่ระบาดผ่านทางละอองจากระบบทางเดินหายใจ จากคนสู่คนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบาดไปทั่วโลก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลและคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 6.37 ล้านคนภายในเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด
แต่หากมองกันในภาพกว้าง จะพบว่า ใน 1 ปี คนเสียชีวิตเพราะ “โรคมะเร็ง” มากเป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วย โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือด แต่ด้วยการเพิ่มอัตราการตายอย่างต่อเนื่องและการไม่แพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วทำให้ดูเหมือนว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ หากพิจารณาจากจำนวนการเสียชีวิต พบว่า ภายในปี 2563 สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 84,697 คน ในขณะที่มีผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส โควิด -19 อยู่ที่ 60 ราย ซึ่งเหมือนกับว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับการแรร่ระบาดของเชื้อโรคที่สังเกตุได้ในระยะสั้น มากกว่าโรคที่ค่อยๆ คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมากมายในแต่ละปี
โรคร้ายที่สังหารคนไปอย่างเงียบๆ นี้ ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อ เพราะในเชิงการแพทย์ “โรคติดต่อ” คือการติดต่อโดยการส่งต่อเชื้อโรคจากคนสู่คน ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นทางลมหายใจ เพศสัมพันธ์ การสัมผัส เป็นต้น ดังนั้น มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ จึงไม่ใช่โรคติดต่อ แต่….อาจมองเป็นโรคติดต่อทางวัฒนธรรมได้…
นั่นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่านิยมที่ถูกแพร่กระจายออกไป ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาชีวิตที่สุขสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวลดลง และพฤติกรรมการบริโภคอาหารชนิดเดียวกันทั่วโลก อย่างอาหาร fast-food ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของสังคมในปัจจุบัน ทำให้โภชนาการที่ได้รับไม่เหมาะสมกับร่างกาย การใช้ชีวิตที่เหมือนกันในบริบทภูมิประเทศหรือภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การทำงานของร่างกายไม่ปกติ โดยเฉพาะความแตกต่างของชาติพันธุ์ด้วย
จากงานวิจัยพบว่า ชาวยุโรปนิยมทานเนื้อสัตว์มาตั้งแต่อดีต ตามสภาพแวดล้อมที่ทำการเพาะปลูกได้ยาก เน้นการหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ ร่างกายจึงมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสลายและดูดซับพลังงานจากไขมันจากสัตว์ได้ ส่วนชาวเอเชียตะวันออกที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรม เหมาะสมที่จะบริโภคไขมันจากพืชประจำท้องถิ่น เช่น น้ำมันมะพร้าว ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตภูมิประเทศแบบร้อนชื้น นั่นหมายความว่า วิวัฒนาการทางร่างกายตามภูมิประเทศและภูมิอากาศกว่า 20,000 ปี ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันในเชิงกายภาพ แต่ร่างกายยังมีเวลาน้อยเกินไปที่จะปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
เป็นที่พิสูจน์ได้แล้วว่า การรับประทานเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม เป็นต้น เนื้อแปรรูปเหล่านี้ได้กระจายตัวไปทั่วโลก ไปอยู่ในจานอาหารตั้งแต่ในภัตตาคารจนถึงสตรีทฟู้ด สารเคมีตกค้างที่อยู่ในอาหารตั้งแต่กระบวนการผลิต เพาะปลูกจนถึงการแปรรูปนี้ ค่อยๆ สะสมอยู่ในร่างกายจนทำให้เซลล์เสียหายจนกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง กระบวนการผลิตอาหารในแบบอุตสาหกรรมทำให้ความหลากหลายของอาหารลดลง มีวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่างที่ใช้ในการประกอบอาหาร ผักและวัตถุดิบพื้นบ้านถูกเพิกเฉยไป ทำให้เกิดการกินซ้ำๆ จนทำให้เกิดการสะสมของสารพิษและทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้
จากสังคมการล่าสัตว์ที่ต้องออกล่าจึงจะได้กิน ผ่านยุคของการทำเกษตรที่ลงแรงเพาะปลูกเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นยุคที่อาหารอยู่ใกล้แค่เอื้อมเพียงเดินไปที่ตู้เย็นหรือสั่งมารับประทานที่บ้าน การเข้าถึงอาหารที่ง่ายขึ้น ทำให้วงจรการรับประทานและการเผาผลาญไม่สมดุลกัน รวมถึงโภชนาการการกินจากการเลือกกินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนขึ้นได้ ประชากรไทย 1 ใน 3 อยู่ในภาวะโรคอ้วน เมื่อมีน้ำตาลอยู่ในหลอดเลือดมากเกินไป ทำให้หลอดเลือดอ่อนแอเกิดแผลหรือความเสียหาย ตามกลไกของร่างกายจะใช้ไขมันในการซ่อมแซมความเสียหายของหลอดเลือด และเมื่อความเสียหายมากก็จะทำให้มีการใช้ไขมันในหลอดเลือดมาก จนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคร้ายของสาเหตุการเสียชีวิตอันดับรองลงมาจากมะเร็ง
เมื่อปัญหาคือการเกิดโรคจากพฤติกรรม การสร้างค่านิยมทางสังคมทั่วโลกผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน…ส่งผลให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ดังนั้น การแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างไร ก็เพียงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ไม่ใช่การปิดกั้นสื่อ แต่ต้องนำวัฒนธรรมที่รับมาประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันตามพฤติกรรมของภูมิภาค…………อาทิ ทานอาหารฤทธิ์เย็นในภูมิประเทศเขตร้อน ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด ลดการทานอาหารแปรรูปหลายขั้นตอน ทานผักพื้นบ้าน เพื่อรักษาชีวิตให้ยืดยาว และได้สนุกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ
สุดท้ายนี้ โรคที่เกิดจากการระบาดทางพฤติกรรม อาจไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะเหมือนว่าสังคมมนุษย์กำลังเผชิญกับโรคระบาดหรือการติดต่อของการเจ็บป่วยทางจิตใจ ดังเช่นจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากสภาพสังคมที่กดดัน การเสพโซเชียลสื่อออนไลน์อย่างเสพติด ออฟฟิศซินโดรม เกิดภาวะกดดันทางสงคม เศรษฐกิจ และทำให้อัตราการตายจากสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้
———————————————————