มาเลเซียจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 15 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ นรม.คนใหม่เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแทนคนก่อนหน้านี้ที่ต้องลาออกเพราะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองอย่างสูงจากการที่ไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลได้ และเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 สำนักพระราชวังมาเลเซียได้ประกาศให้อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นักการเมืองรุ่นเก๋าของมาเลเซีย ปัจจุบันอายุ 75 ปี และเป็นผู้นำขั้วการเมือง “พันธมิตรแห่งความหวัง” หรือ Pakatan Harapan (PH) และผู้นำพรรค PKR เป็น นรม.คนใหม่
……….หลังจากที่มาเลเซียเผชิญภาวะ “รัฐสภาแขวน” หรือการเจรจาระหว่างนักการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาลผสม เพราะผลการเลือกตั้งไม่สามารถชี้ขาดผู้ชนะได้ มีเพียงพรรค PH ที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ไม่มากพอจะได้เสียงข้างมากในรัฐสภา หรือ 112 ที่นั่งจาก 222 ที่นั่งนั่นเอง (พรรค PH ได้ไป 82 ที่นั่ง) ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้ง นรม.ที่มาจากการเลือกตั้ง ขึ้นกับว่าพระองค์จะมีพระราชดำริว่าผู้ใดสามารถคุมเสียงข้างมากได้
หลายฝ่ายประเมินว่า การดำรงตำแหน่ง นรม.ของอันวาร์ อิบราฮิม จะเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะเขาจะเจอนักการเมืองคู่แข่งและคู่ปรับจำนวนมากที่พร้อมจะใช้ประเด็นเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นการส่งเสริมค่านิยมอิสลาม และประเด็นที่ตัวเขาเคยถูกโจมตีในอดีตมาบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือและความสามารถในการบริหารของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชัน และเรื่องความนิยมส่วนตัวที่เคยเป็นสาเหตุให้เขาต้องโทษจำคุก แต่เพราะการเมืองมาเลเซียเป็นการเมืองที่มีหลายพรรคไปเกี่ยวข้อง และครั้งนี้ก็เป็นรัฐบาลผสมที่จะมีการจัดสรรแบงปันอำนาจกันระหว่างนักการเมืองพรรคสำคัญ
ดังนั้น บทบาทของพรรคแนวร่วม อย่างพรรคอัมโน (UMNO) ที่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะสูญเสียคะแนนนิยมไปมาก จนต้องเปลี่ยนท่าทีและไปเจรจาเพื่อสนับสนุน PH แลกกับการได้ส่วนแบ่งในการครองตำแหน่งสำคัญ ๆ และไว้วางใจได้ ก็อาจทำให้การเป็น นรม.ของอันวาร์ อิบราฮิม ราบรื่นขึ้นอีกนิดก็เป็นไปได้ และอีกปัจจัยคือท่าทีของพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (PAS) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หันไปให้ความสำคัญกับความนิยมการเมืองอิสลาม ทำให้ทิศทางการเมืองมาเลเซียปรับเปลี่ยนไปจากบรรยากาศในอดีต และถ้าจะย้อนกลับไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เกิดกระแสที่เรียกว่า “Youth Tsunami” ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งของมาเลเซียด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยในเชิงสถิติ คือ อันวาร์ อิบราฮิม ถือว่าเป็น นรม.คนที่ 4 ในรอบ 4 ปีของมาเลเซีย ปกติแล้ว นรม.มาเลเซียจะอยู่ในตำแหน่งนานวาระละ 5 ปี แต่การเมืองมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง จึงอยากชวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของมาเลเซีย
เมื่อสิงหาคม 2564 มูห์ยิดดิน ยัสซิน นรม.มาเลเซีย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย หลังจากเผชิญกับวิกฤตการเมืองที่บั่นทอนสถานะจากความขัดแย้งในรัฐบาลผสมมาเป็นเวลานานหลายเดือนจนทำให้ต้องสูญเสียเสียงข้างมากในสภา โดยพรรคอัมโนซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดในรัฐบาลผสมประกาศว่าจะไม่สนับสนุนเขาในฐานะผู้นำประเทศอีกต่อไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ อิสมาอีล ซาบรี จากพรรคอัมโน เป็น นรม.คนใหม่แทนเมื่อ 20 สิงหาคม 2564 จากนั้นเขาก็ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 ตุลาคม 2565 เพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดการเดิมที่คาดว่าจะมีขึ้นในกันยายน 2566
ย้อนกลับไปอีกนิด มูห์ยิดดิน ยัสซิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น นรม.มาเลเซียเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ในช่วงที่การเมืองมาเลเซียเผชิญภาวะขัดแย้งและแทบจะเป็นวิกฤตค่อนข้างสูง หลังจากที่ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด รักษาการนายกรัฐมาเลเซีย ประกาศลาออกจาก นรม.เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 โดยไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อมูลอะไรมากมายเกี่ยวกับเหตุผลที่เขาต้องลาออก แต่สื่อส่วนมากชี้ไปที่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนั้นที่มีข่าวลือเรื่องการกีดกันการสืบทอดอำนาจของอันวาร์ อิบราฮิมของสมาชิกพรรคแนวร่วมของรัฐบาล
ปี 2562 นรม.มหาธีร์ โมฮัมหมัด (ขณะนั้นอายุ 93 ปี) เผชิญความท้าทายอย่างมากหลังจากชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 เนื่องจากความแตกแยกของรัฐบาลผสมที่นำโดยกลุ่มการเมืองในพันธมิตรแห่งความหวัง หรือ Pakatan Harapan รุนแรงและแตกแยกกระจัดกระจายจากการประกาศลาออกและยกเลิกการสนับสนุน PH ทำให้ต้องประกาศลาออก และเปิดทางให้ผู้แทนของพรรคอัมโน หรือผู้นำกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ อย่างมูห์ยิดดิน ยัสซิน ได้ขึ้นครองตำแหน่งแทน
……….เมื่อได้ทบทวนเหตุการณ์ช่วง 4 ปีของมาเลเซียจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่มีการแข่งขันสูงและมีความขัดแย้งในระดับที่เห็นอำนาจต่อรองในรัฐสภาได้ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งของมาเลเซีย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องแก้ปัญหาที่ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นความท้าทายเฉพาะแค่ในมาเลเซีย แต่ดูเหมือนว่าหลายประเทศจะเผชิญแรงกดดันคล้าย ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลง นรม.หรือผู้นำรัฐบาลมาเลเซียจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ดูเหมือนว่าประชาชนมาเลเซียที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 21 ล้านคนยังมีความหวังจากการที่พวกเขาได้เลือกตั้งผู้แทนประชาชนเข้าไปทำงานในรัฐบาลและรัฐสภา รวมทั้งยังมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีแนวคิดหรืออุดมการณ์การเมืองอย่างไร ก็มีพรรคการเมืองที่ represent หรือเป็นผู้แทนอยู่ในแวดวง …และแน่นอน การเมืองมาเลเซียอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็ได้ ! แต่เชื่อว่า ท้ายที่สุด “ประชาชน” มาเลเซียจะเป็นผู้วางกรอบในการเลือกผู้นำของตัวเอง ซึ่งมีแนวโน้มจะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น จากบทบาทของคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา