หากกล่าวถึงคำว่า “ออกแบบ” หลายคนคงคิดถึงการคิดชิ้นงานศิลปะ จากการ “ออก” ซึ่งหมายถึงการสร้างหรือผลิตบางสิ่งออกมา และสิ่งที่ผลิตออกมานั้นคือ “แบบ” แม่พิมพ์ หรือพิมพ์เขียว ออกแบบจึงเป็นกระบวนการคิดก่อนที่จะผลิตชิ้นงานออกมา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อศิลปินร่างภาพจากความคิดหรือจินตนาการออกมา เพื่อเริ่มสื่อสารผ่านแบบร่างนั้นให้กับผู้ที่จะร่วมทำงาน หากเป็นกระบวนการผลิตที่สามารถทำได้คนเดียวทั้งหมด กระบวนการออกแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นในหัวของศิลปินทั้งหมดก็ได้
แต่ถ้าเป็นงานออกแบบที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านที่ต้องสื่อสารกันระหว่างสถาปนิกและเจ้าของบ้าน หรือตึกสูงที่ต้องมีวิศวกรโครงสร้างปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ดังนั้น กระบวนการออกแบบไม่สามารถเกิดขึ้นในหัวของใครคนใดคนหนึ่งได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องนำความคิด สื่อสารออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อที่จะรับข้อมูล ประมวลผล ทำแบบร่างทางเลือก ทดสอบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด และนำไปก่อสร้างจริง จนแล้วเสร็จ
…………..สำหรบกระบวนการออกแบบจะให้ความสำคัญกับ 5 ขั้นตอนสำคัญ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
Empathize รับข้อมูลอย่างเอาใจใส่โดยไร้อคติ เพื่อเก็บข้อมูลมาประมวล โดยผู้รับข้อมูลจะต้องสวมบทบาทของผู้ใช้งาน เพื่อทำความเข้าใจถึงประสบการณ์และความรู้สึกในด้านต่างๆ กระบวนการนี้อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพราะจะได้เก็บข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
Define หรือการระบุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย หาปัญหาเพียงหนึ่งเดียวที่ได้มาจากการกรองข้อมูลจำนวนมากที่ทำการศึกษามา
Idea สร้างสรรค์หาวิธีแก้ปัญหา ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องใช้ความคิดเป็นอย่างมาก เพื่อหลุดออกจากกรอบเดิมๆ มองหาทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มเติม แล้วจึงค่อยนำหลักการมาวางล้อม และสร้างกรอบความคิดต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ ว่าทางเลือกใดสามารถเกิดขึ้นได้มากที่สุด
Prototype นำ Idea ที่ได้มาทั้งหมด ไปใช้ในการสร้างทางเลือกอย่างน้อย 3 รูปแบบ (Model) ในการแก้ไขปัญหาที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน ซึ่งอาจจะได้จากการนำเสนอ Model จากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน
และขั้นตอนสุดท้าย คือ Test หรือการนำ Model ทางเลือกมาจำลองการแก้ปัญหา เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ ในกระบวนการนี้จะทำให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหา แต่หาก Model ทางเลือกที่สร้างขึ้นมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กระบวนการจะย้อนกลับไปสู่การสรรหา Idea และสร้าง Prototype ใหม่
กระบวนการออกแบบในลักษณะนี้เสมือนการวางแผน ก่อนที่จะนำไปผลิตผลงาน แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก แต่ก็มักเป็นขั้นตอนที่ถูกละเลย เพราะมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าการทำงานแบบ Top down เป็นเส้นตรง ไม่ได้มีการสร้าง Prototype ที่หลากหลายมากพอที่จะตอบโจทย์ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะขาดการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ผู้ใช้งาน (User) และผู้อยู่ในบริบทรอบข้าง ดังนั้น หน้าที่ของผู้ใช้กระบวนการออกแบบ จะต้องมีทักษะในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นเพื่อประมวลด้วยเช่นกัน
เราเห็นว่ากระบวนการออกแบบที่มีขั้นตอนที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย เป็นแนวทางที่ไม่ได้จำกัดใช้งานได้แค่นักออกแบบหรือผู้ที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับศิลปะเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการทำงานในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน หากว่าต้องการความถี่ถ้วน สร้างทางเลือกใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนที่หลากหลายเพื่อเฟ้นหาแนวทางที่ดีที่สุด แถมยังเป็นกระบวนการที่ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ด้วย เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการ
……..ดังนั้น กระบวนการออกแบบ 5 ขั้นตอนนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลายสถานการณ์ ซึ่งถ้าเราสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างพอดีและยืดหยุ่น ก็น่าจะทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตในโลกที่แสนวุ่นวายนี้ง่ายขึ้น…