**บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรี่ย์**
Wednesday เล่าเรื่องของเวนส์เดย์ ลูกสาวของครอบครัวอดัมส์ ที่ถูกให้ออกจากโรงเรียน เนื่องจากเธอปล่อยปลาปิรันย่าในสระว่ายน้ำโรงเรียน เพื่อแก้แค้นคนที่แกล้งพักส์ลี่ย์ น้องชายของเธอ นอกจากถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้วศาลมีคำสั่งให้เธอเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์ ทำให้พ่อกับแม่ของเธอตัดสินใจให้เธอไปเข้าโรงเรียนเนเวอร์มอร์ (Nevermore) โรงเรียนประจำสำหรับเด็กที่มีพลังพิเศษ (outcast) ในช่วงเวลาเดียวกัน เมืองเจริโค (Jerico) มีเหตุฆาตกรรมชาวเมืองที่เข้าไปในบริเวณป่าที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน นายอำเภอกัลพินสันนิษฐานว่าเกิดจากกลุ่มเด็กที่มีพลังพิเศษในโรงเรียนเนเวอร์มอร์ เมื่อเวนส์เดย์เริ่มเรียนที่โรงเรียนเธอเกิดภาพนิมิตและยังไปอยู่ในที่เกิดเหตุฆาตกรรม เธอจึงพยายามรายงานให้ครูใหญ่และนายอำเภอทราบเกี่ยวกับเบาะแสผู้ก่อเหตุ แต่กลับไม่มีคนเชื่อเธอ และบอกให้เธอเลิกยุ่งกับคดีนี้ ทำให้เธอต้องการสืบหาและจับตัวฆาตกร เพื่อพิสูจน์ว่าเธอไม่ใช่คนโกหก
ความมั่นคงในเมืองเจริโคและโรงเรียนเนเวอร์มอร์
โดยทั่วไปความมั่นคง หมายถึง มาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันภัยคุกคาม อันตราย ที่อาจเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ความมั่นคงเป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยของส่วนรวม เช่นเดียวกัน โรงเรียนเนเวอร์มอร์ และเมืองเจริโค ก็มีมาตรการในการป้องกันอันตราย เพื่อรักษาความปลอดภัยและความสงบของส่วนรวม สอดคล้องกับที่ Hobbes ได้กล่าวถึง ความมั่นคง ซึ่งเป็นสัญญาประชาคม ไว้ในหนังสือ Leviathan ว่ามนุษย์มีความต้องการ (desire) โดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ภาวะธรรมชาติของมนุษย์จึงเป็นการต่อสู้ เพื่อแย่งชิงและตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง (war of all against all) ด้วยนั้น ปัจเจกจึง “มอบอำนาจ” ที่จะสละสิทธิในการปกครองบางอย่าง เพื่อให้มี “ผู้ปกครอง” มากำกับดูแลป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอนาธิปไตย อีกนัยหนึ่ง ภาวะที่ทุกคนต่อสู้กันอย่างไร้กติกา
หลังจากที่โรงเรียนตอบรับให้เวนส์เดย์เข้าเรียนระหว่างภาคการศึกษา ครูผู้ดูแลแนะนำกฎของโรงเรียน บ้านพัก และกิจกรรมต่างๆ ให้เวนส์เดย์ทราบ และนั่นหมายความว่าเวนส์เดย์ต้องอยู่ในกติกาของโรงเรียน และในกรณีที่เธอฝ่าฝืนกติกา เธอจะถูกลงโทษ ดังนั้น เมื่อครูใหญ่สั่งห้ามนักเรียนในเนเวอร์มอร์ติดตามเรื่อง “วุ่นวาย” นอกโรงเรียน แต่เวนส์เดย์ยังติดตามคดีและเหล่าผู้ต้องสงสัย เธอจึงถูกตักเตือนจากครูใหญ่ ซึ่งเป็นมาตรการในการรักษา “ความมั่นคง” และ “ภาพลักษณ์” ของโรงเรียน
เวนส์เดย์ ภัยความมั่นคงของโรงเรียนและเมือง (?)
อุปนิสัยที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้คนของเวนส์เดย์ โดยมีมุมมองว่าเป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ และกติกาสังคมไม่ได้สำคัญเท่าความถูก-ผิด (แบบสีดำและขาว ที่เป็นบุคลิกลักษณะของเธอ) นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เวนส์เดย์เป็นภัยความมั่นคงแล้ว เพราะการไม่ยอมถูกจำกัดอยู่ภายใต้กติกา — โดยเฉพาะกติกาที่ไม่เป็นธรรม และ/หรือกติกาที่ไร้เหตุผล ที่นับเป็นการ “ถอนคืนอำนาจ” ส่งผลต่อความมั่นคงตามแบบ (traditional security) และยังมองได้อีกว่าเป็นการถอนความเชื่อมั่นจากผู้ที่เป็นผู้แทนและถืออำนาจปกครองอยู่ จากมุมมองนี้การกระทำของเวนส์เดย์จึงถูกมองว่าเป็นการบ่อนทำลายสถานะ (status quo) ของผู้ถืออำนาจ ดังนั้นแม้เมื่อครูใหญ่วีมส์ทราบข้อเท็จจริงที่ว่าโรแวนนักเรียนของเนเวอร์มอร์เสียชีวิตจากฆาตกร แต่ก็กลับเลือกที่จะปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว และอ้างว่าเวนส์เดย์มีอาการประสาทหลอน เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของโรงเรียน
…แม้ว่าเวนส์เดย์ไม่ได้ต้องการจะผูกมิตรกับใครและไม่ค่อยแสดงความรู้สึกเท่าไหร่ เพื่อนนักเรียนอย่างอีนิด และเซเวียร์ พยายามผูกมิตรและช่วยเวนส์เดย์ในการไขปริศนานี้ เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะวิพากษ์เวนส์เดย์อย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการมุ่งเป้าหมายมากกว่าวิธีการ ทำให้ในหลายครั้งทำให้เพื่อนต้องตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้เวนส์เดย์ยังไม่ค่อยแสดงความห่วงใยต่อความรู้สึกของคนอื่น ความอยากรู้และมุ่งหาคำตอบของเธอยังทำให้เธอละเลยบางรายละเอียดที่สำคัญ จนนำไปสู่การถูกจัดฉากให้จับคนผิดเข้าไปรับโทษอีกด้วย
แม้ว่าอุปนิสัยของเวนส์เดย์จะดู “เป็นภัยต่อความมั่นคง” แต่หากพิจารณาลึกลงไป อาจได้เห็นมุมมองของความพยายาม……ปกป้องให้สังคมได้ตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรม และเป็นการรับรองความมั่นคงของส่วนรวมเช่นกัน
พลวัตของความมั่นคง และรับมือกับความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลง
เวนส์เดย์ ยังคงฉายภาพความมั่นคงในแบบดั้งเดิม (traditional security) กล่าวคือ การแบ่งคู่ขัดแย้งระหว่างคนปกติ (normie) กับคนที่มีพลังพิเศษ (outcast) และยังฉายให้เห็นภาพความพยายามร่วมมือระหว่างครูใหญ่วีมส์และนายกเทศมนตรีวอล์คเกอร์ที่จะให้ทั้งสองกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทางหนึ่งเพื่อให้โรงเรียนอยู่รอดได้ต่อไป อีกทางหนึ่งเพื่อให้เศรษฐกิจของเมืองขับเคลื่อนไปได้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เมืองและโรงเรียนอยู่รอด….ทำให้ทั้งสองตัวละครต้องค่อยๆ สืบค้นและปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทราบมา ประกอบกับต้องปฏิเสธความพยายามจะช่วยเหลือจากเวนส์เดย์ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่จำเป็น และน่าจะไม่เกิดขึ้นหากมีความร่วมมือในการสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูลบนพื้นฐานของความไว้วางใจระหว่างกัน และอาจทำให้ตัวละครพบผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีและแรงจูงใจในการโจมตีเพื่อป้องกันเหตุร้ายได้อีกด้วย
……เมื่อนึกถึงคำกล่าวว่ามองละครแล้วสะท้อนดูตัว ซีรี่ย์เรื่องเวนส์เดย์พาเรากลับมาพิจารณาถึงกรอบคิด นิยาม และแนวทางการรับมือ “ความมั่นคง” ที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก “อธิปไตยของชาติ” ในยุคสงครามเย็น มาสู่ “ความมั่นคงไม่ตามแบบ” (non-traditional security) ที่มีความหมายกว้างขึ้น กล่าวคือครอบคลุมความมั่นคงทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม ดิจิทัล กลุ่มเปราะบาง ไปจนถึงอุดมการณ์และศาสนา …ที่สำคัญการจัดการกับภัยคุกคามนานาต้องอาศัยทั้งความเข้าใจปัญหาและไว้วางใจร่วมมือกัน
อ้างอิง
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Leviathan_(Hobbes_book)
https://www.the101.world/securitization/
http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/e45cd2448835859ace9b2e1fe8a2caa3