Universal Design เป็นหลักการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานสำหรับทุกเพศทุกวัย ส่วนมากถูกให้ความหมายครอบคลุมถึงการออกแบบเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ให้สามารถใช้งานอุปกรณ์หรือสถานที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน และสามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง เช่น การมีทางลาดสำหรับรถเข็น เสียงเตือนบนชานชาลารถไฟ อักษรนูนต่ำตามป้าย เพื่อชดเชยประสาทสัมผัสที่สูญเสียไปของผู้พิการทางร่างกาย แต่นั่นเป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมแห่งความหลากหลายเท่านั้น
ในปัจจุบัน ความหลากหลายทางสังคมได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง บางกลุ่มอยู่ในช่วงของการโต้แย้งเพื่อสร้างความยอมรับในสังคม หรือบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับความเท่าเทียมในสังคมใดสังคมหนึ่งมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเพศหญิง ซึ่งการจะทำให้การออกแบบนั้นสอดคล้องกับหลักการเรื่องความหลากหลาย ผู้ออกแบบจำเป็นต้นคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากการสร้างความสะดวกสบายเพื่อลดข้อจำกัดทางด้านกายภาพด้วย โดยเฉพาะการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและการเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน ที่อาจจะต้องแลกมากับการเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไปด้วย
ลองจินตนาการเมืองที่มี Universal Design ที่เอื้อต่อการใช้งานของเด็กหรือเยาวชน กลุ่มคนที่มีอายุ 6-17 ปี ที่จะสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองคอยดูแล นั่นหมายถึงเมืองที่มีความปลอดภัยสูง และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพสมวัย หน้าที่เมืองจะต้องส่งเสริมการสร้างสรรค์ กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดการเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างพิพิธภัณฑ์หรือลานกิจกรรมเพียงเท่านั้น แต่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เอื้อต่อการรับรู้ทักษะทางด้านต่างๆ ช่วยดึงเด็กออกจากห้องและหน้าจอ เพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคม และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะหวงแหนในชุมชนของตนเอง
ปัญหาการกดขี่เพศหญิงในอดีตทุเลาลงในปัจจุบัน ทำให้มีการออกแบบที่เอื้อต่อผู้หญิงมากขึ้น เช่น การให้ขนาดพื้นที่ห้องน้ำหญิงใหญ่กว่าห้องน้ำชายตามพฤติกรรมการใช้งาน มีห้องให้นมบุตรสำหรับมารดา ประตูอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้แรงมากในการเปิด จนไปถึงสุขภัณฑ์สำหรับการยืนปัสสาวะสำหรับผู้หญิง แม้จะไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักก็ตาม
แต่ในปัจจุบัน “เพศ” ไม่ได้มีเพียงแค่ชายหญิงเพียงเท่านั้น เพศทางเลือกอื่นๆ กลับเริ่มเป็นโจทย์ในการออกแบบแบบ Universal Design โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึกเท่าทียมกันในสังคม การที่ห้างสรรพสินค้าบางแห่งสร้างห้องน้ำสำหรับเพศทางเลือก ที่ดูเหมือนจะเอื้อต่อการใช้งาน แต่กลับกลายเป็นการสร้างความรู้สึกไม่สบายใจและสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งาน และมีการแก้ปัญหาด้วยการสร้าง “ห้องน้ำสำหรับเพศที่สาม” ขึ้น แต่ในทางกลับกันในประเทศสวีเดน กลับตีโจทย์ความหลากหลายทางเพศนี้ ด้วยการสร้างห้องน้ำที่ไม่แบ่งแยกเพศในการใช้งานแทน หรือ Unisex นั่นเอง
ความหลากหลายทางสังคมในปัจจุบัน มีมากขึ้นตามการนิยามและจำกัดความ แต่แท้จริงแล้วความหลากหลายทางสังคมนั้นเป็นลักษณะตามธรรมชาติของการอยู่รวมกันเป็นสังคม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถออกแบบให้รองรับการใช้งานกับความหลากหลายได้ทั้งหมด
อีกทั้งความแตกต่างไม่ได้มีเฉพาะทางด้านกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความแตกต่างทางด้านทัศนคติ ความเชื่อได้อีกด้วย เช่น การไม่ให้คนดำนั่งรถเมล์ จนไปถึงการแยกเส้นทางการเดินทาง การจัดย่านพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้ง การออกแบบอาจไม่ช่วยให้ปัญหานี้บรรเทาลงได้เพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกัน…ก็ควรเอาเรื่องพวกนี้มาคำนึงในการออกแบบด้วย จึงจะถือว่าเป็น Universal Design เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมทางสังคมได้อีกทาง
——————————————————-