Digital Divide หรือการที่มนุษย์มีความสามารถหรือช่องทางในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกัน มีช่องว่าง หรือ gap ที่อาจเป็นผลจากความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้คนเราไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือข้อมูลข่าวสารออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม ประเด็นนี้มีการพูดถึงในหลากหลายวงการ ในไทยเองก็มีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ โดย ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อธิบายคำว่า “Digital Divide” ไว้ว่า คือ ช่องว่างของสังคม หรือความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน
คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ เพราะ Digital Divide ถูกใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่คนบางกลุ่มเข้าถึงและสามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ ขณะที่คนบางกลุ่มยังไม่มีโอกาส หรือไม่มีความรู้มากพอที่จะใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีการนำไปใช้เพื่ออธิบายปัญหาการจำกัดสิทธิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และใช้กระตุ้นการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง หรือ urbanization เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้มากขึ้น เนื่องจากสถาบันระหว่างประเทศจำนวนมากศึกษาแล้วพบว่า ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี
สิ่งที่ทำให้ Digital Divide เห็นได้ชัดมากขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งที่ดูเหมือนว่าปัจจุบันทุกคนน่าจะเข้าถึงเทคโนโลยีกันอย่างทั่วถึงแล้ว โดยมีตัวเลขเชิงสถิติยืนยันว่า ประชากรโลกประมาณร้อยละ 87 เข้าถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่ปัญหากลับไม่ใช่แค่การเข้าถึงอุปกรณ์เท่านั้น!? เพราะยิ่งถ้าดูสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่โลกเผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เราได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ค่อนข้างรุนแรงในสหรัฐฯ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หรือได้รับการอำนวยความสะดวกเพียงพอเพื่อจะได้คิวเข้าฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปไม่ถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ อย่างปัญหาสุขภาพจิต การแยกตัวจากสังคม การเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษา หรือสร้างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้น่าห่วงกังวลมากขึ้น
ในมิติการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นเพียงพอต่อระบบการศึกษาทางไกล หรือ distance learning เห็นได้ชัดเมื่อมีการเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมีข้อมูลจาก UNESCO ว่าในช่วงนั้น มีนักเรียนที่เข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 1,300 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ ว่ากันว่ามีปัจจัย 3 อย่างที่ทำให้เกิดปัญหา digital divide ทางการศึกษา ได้แก่ 1) เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี 2) ขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้งาน และ 3) สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งปัญหานี้ในแต่ละประเทศก็จะเจอ pain point ที่แตกต่างกันไป
ดังเช่น….ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาส่วนมากมาจากการที่นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางดิจิทัล หรือ digital resources ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ซึ่ง digital divide ไม่ได้มุ่งพูดแค่เรื่องความสามารถในการครอบครองหรือใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังอธิบายครอบคลุมไปถึง “คุณภาพ” ของอุปกรณ์เหล่านี้ที่นักเรียนและนักศึกษาต้องเผชิญปัญหาด้วย เพราะอุปกรณ์ดิจิทัลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีแนวโน้มจะทำให้ผู้เรียนต้องเสียเวลาในการพยายามเรียนรู้และทำงานให้สำเร็จมากขึ้น และอาจสร้างข้อจำกัดให้ไม่สามารถผลิตงานหรือทำการบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนในสหราชอาณาจักร ปัญหาหลัก ๆ เกิดจากการที่ผู้เรียนไม่มีอุปกรณ์ ทำให้ต้องออกโครงการรับบริจาคอุปกรณ์ที่เสริมการเรียนการสอนแบบออนไลน์กันอย่างจริงจัง รวมไปถึงเสนอ solution หรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่เน้นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จะเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น ตลอดจนเน้นสร้างความสามารถด้านดิจิทัล หรือ digital literacy
เมื่อเรารู้แล้วว่า Digital divide สร้างปัญหาต่อกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนได้ในระยะยาว จากการขาดโอกาสและไม่ได้พัฒนาทักษะตามที่ควรจะเป็น ขณะที่คนกลุ่มนี้เป็นอนาคตของชาติ ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคมควรให้ความสำคัญและร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในมิติการศึกษากันอย่างจริงจัง มีแผนการ โปร่งใส และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล เพราะการจัดหาอุปกรณ์มาให้เพียงพอต่อการใช้งานของผู้เรียน อาจไม่ใช่ทางออกในระยะยาว เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาโดยตลอด การมีความรู้และทักษะด้านดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญและอาจช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
————————————————