การตอบโต้กลับของกองทัพยูเครนเพื่อช่วงชิงภูมิภาคเคอร์ซอนคืนจากการยึดครองของรัสเซียในห้วงตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดูคล้ายชะลอตัวลงหรือปรากฏบนพื้นที่ข่าวน้อยลง สาเหตุที่แท้จริงคงยากที่จะมีใครทราบได้ท่ามกลางม่านหมอกแห่งสงครามในช่วงนั้น อย่างไรก็ดี ผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนบางส่วนเห็นว่าอาวุธเล็กๆ ราคาถูกๆ (เมื่อเทียบกับรถถังหรือเครื่องบิน) ชิ้นหนึ่งของรัสเซียอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยูเครนต้องชะลอการรุกคืบไปก่อน นั่นก็คือโดรน Shahed-136 ของอิหร่าน ซึ่งรัสเซียนำไปดัดแปลงแล้วตั้งชื่อว่า Geran-2 /Герань-2 หรืออาจเรียกได้ว่ามันคือโดรนเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่แปะยี่ห้อหมีขาว (รัสเซีย) นั่นเอง
สาเหตุสำคัญที่โดรนพลีชีพดังกล่าวอาจมีบทบาทสำคัญต่อสมรภูมินี้ หรือสงครามในยุคต่อไป ทั้งที่มันไม่ได้มีเทคโนโลยีที่โดดเด่นใดๆ เลยเมื่อเทียบกับโดรนไฮเทคอย่างรีปเปอร์ (Reaper) ของสหรัฐอเมริกา ก็คือโดรน Shahed-136/Geran-2 มีราคาถูกมากๆ เมื่อเทียบกับราคาของระบบป้องกันภัยอากาศที่ต้องใช้สกัดกั้นมัน และที่สำคัญคือมันไม่เคยฉายเดี่ยว แต่มันมากันเป็นฝูงงงง !!!!
มีรายงานทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องในห้วงตุลาคม 2565 ว่ารัสเซียใช้โดรน Geran-2 ซึ่งมีราคาเพียงประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ บินลึกเข้าไปโจมตีในยูเครน เน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงานในกรุงเคียฟและพื้นที่โดยรอบซึ่งห่างจากดินแดนที่รัสเซียยึดครองไปหลายร้อยกิโลเมตร โดรนดังกล่าวสามารถฝ่าดงระบบป้องกันภัยทางอากาศอันทันสมัยที่ยูเครนได้รับจากชาติตะวันตกเข้าไปได้อย่างไร? ทั้งที่แม้แต่เครื่องบินรบอันทันสมัยของรัสเซียก็ยังหลีกเลี่ยงการบินลึกเข้าไปโจมตีในยูเครน? เราจะมาลองเจาะรายละเอียดของโดรนดังกล่าวกัน แล้วลองวิเคราะห์ดูว่ามันจะมีบทบาทในสงครามครั้งนี้ต่อไปอย่างไร?
ภาพร่างโดรน Shahed-136/Geran-2 (ภาพจากสำนักข่าว AP)
โดรน Shahed-136/Geran-2 (ภาพจาก eurasiantimes.com)
โดรน Geran-2 เป็นโดรน Shahed-136 ของอิหร่าน ซึ่งรัสเซียนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมด้วยการติดตั้งระบบนำทาง GLONASS ของรัสเซีย เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงระบบนำทางด้วยแรงเฉื่อย (INS) เพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดรนมีความยาว 3.56 เมตร กว้าง 2.95 เมตร มีปีกรูปสามเหลี่ยม น้ำหนัก 220 กิโลกรัม มีหัวรบขนาด 5-50 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับภารกิจ ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ MADO MD550 ซึ่งมีกำลัง 50 แรงม้า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รถสกูตเตอร์ของจีนที่ดัดแปลงมาจากเครื่องยนต์ Limbach L550E ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานของเยอรมนี เครื่องยนต์ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเรียบง่ายใช้คาร์บูเรเตอร์ ระบายความร้อนด้วยอากาศ โดยบริษัท MADO ของอิหร่านได้นำต้นแบบเครื่องยนต์ดังกล่าวเอง
โดรน Shahed-136/Geran-2 มีจุดเด่นคือ ถูกปล่อยเป็นฝูงครั้งละ 5-10 ลำ โดยปล่อยออกจากแท่นปล่อยที่ติดตั้งบนรถบรรทุกด้วยจรวดช่วยขับเคลื่อน (Rocket-assisted take-off: RATO) เพื่อปล่อยโดรนออกจากแท่นก่อนที่จะจุดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนต่อด้วยตนเอง มันมีรัศมีการบินถึง 1,000 กิโลเมตร และอาจบินตรงได้ไกลถึง 2,500 กิโลเมตร นอกจากนี้ การที่โดรนผลิตด้วยวัสดุคอมโพสิตและมีขนาดเล็ก ทั้งยังบินได้ต่ำเพียง 500 เมตร จึงยากต่อการตรวจจับด้วยเรดาร์ อีกทั้งรัสเซียมักปล่อยโดรนเป็นฝูง เพื่อให้เกินขีดความสามารถในการสกัดกั้นของระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน
โดรน Shahed-136/Geran-2 มักถูกปล่อยเป็นฝูงละ 5-6 ลำ จากแท่นปล่อยติดตั้งบนรถบรรทุกทั่วไป (ภาพจากทวิตเตอร์ AiTELLY)
โดรน Shahed-136/Geran-2 มีข้อจำกัดคือการใช้ระบบนำทาง GLONASS แบบพลเรือนจึงง่ายต่อการรบกวน และมีความแม่นยำต่ำกว่าระบบนำทางด้านการทหาร อีกทั้งยังเป็นโดรนที่บินด้วยความเร็วต่ำมากโดยมีความเร็วสูงสุดเพียง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงสามารถใช้จรวดต่อต้านรถถังหรือจรวดต่อต้านอากาศยานแบบประทับบ่ายิงสกัดกั้นได้ อย่างไรก็ดี จรวดต่อต้านรถถังแบบ Javelin ที่สหรัฐฯ มอบ (คิดเงิน) ให้ยูเครนมีราคาถึงชุดละ 178,000 ดอลลาร์สหรัฐ การโจมตีด้วยโดรนพลีชีพราคาถูกจึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า นอกจากนี้ การที่โดรน Shahed-136/Geran-2 มีเสียงดังจนสามารถได้ยินไกลหลายกิโลเมตร แต่กลับยากต่อการสกัดกั้น ยังส่งผลทางจิตวิทยาต่อชาวยูเครนคล้ายกับกรณีเครื่องบินดำทิ้งระเบิดแบบ Junkers Ju 87 ของเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งเสียงดังในระหว่างการทิ้งระเบิดทำให้ข้าศึกหวาดกลัว
การที่รัสเซียหันมาใช้โดรน Shahed-136/Geran-2 อาจสะท้อนว่ารัสเซียกำลังขาดแคลนขีปนาวุธหรืออาวุธพิสัยไกลเพื่อใช้โจมตีลึกเข้าไปในยูเครน แต่อีกนัยหนึ่ง การที่โดรน Shahed-136/Geran-2 มีราคาเพียง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ขีปนาวุธ Kalibr ที่รัสเซียนิยมใช้มีราคาถึงลูกละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับโดรน 50 ลำ !!! นอกจากนี้ การโจมตีเป็นฝูงทำให้ยากต่อการสกัดกั้น และหากยูเครนต้องใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศทั้งแบบ IRIST-T (ของเยอรมนี) หรือ NASAM (ของสหรัฐฯ) ก็เป็นการสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง เพราะจรวดป้องกันภัยทางอากาศทุกแบบล้วนมีราคาแพงกว่าโดรนมาก การสกัดกั้นด้วยปืนต่อสู้อากาศยานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นการยากที่จะวางปืนต่อสู้อากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งการที่ยูเครนต้องวางระบบป้องกันภัยทางอากาศไว้ป้องกันกรุงเคียฟและพื้นที่ทางยุทธศาสตร์อื่นๆ ก็ทำให้ยูเครนไม่สามารถส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศไปยังแนวหน้าได้ ทำให้เกิดความพะวักพะวง นี่จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรุกโต้กลับของยูเครนดูจะชะลอลง ??
การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้เราได้เห็นการนำอาวุธชนิดใหม่ๆ มาใช้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการใช้โดรน ซึ่งฝ่ายยูเครนใช้หลายแบบ เช่น โดรนสังหารแบบ Bayrakta TB2 ของตุรกี โดรนพลีชีพแบบ Switchblade ของสหรัฐฯ รวมถึงการดัดแปลงโดรนพาณิชย์มาใช้งาน ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียใช้โดรนที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่าและใช้โดรนเชิงพาณิชย์มาดัดแปลงเช่นกัน แต่โดรนของฝ่ายรัสเซียก็มีประสิทธิภาพดี ทั้งยังได้เปรียบในเชิงปริมาณ โดยประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ของยูเครน ระบุเมื่อ 11 ตุลาคม 2565 ในการประชุมผ่านวิดีโอลิงค์กับกลุ่ม G-7 ว่ารัสเซียได้รับโดรน Shahed-136 จากอิหร่านกว่า 2,400 ลำ!!!
เป็นที่น่ากังวลว่า การโจมตีด้วยฝูงโดรนอาจกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามในอนาคตอันใกล้ เช่นหากรัสเซียปล่อยโดรน Geran-2 พร้อมกันหลายร้อยลำ ซึ่งอาจมีต้นทุนเท่ากับยิงขีปนาวุธ Kalibr หรือ Iskander เพียงไม่กี่ลูก คงยากต่อการสกัดกั้นอย่างยิ่ง และจะสร้างความเสียหายเพียงใด? อีกทั้ง หากมีการดัดแปลงโดรนเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นการติดตั้งระบบ datalink เพื่อบังคับให้โดรนเปลี่ยนทิศทาง หรืออาจใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยนำทางสู่เป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น จึงน่ากังวลว่า ในอนาคตหลายประเทศอาจพัฒนาฝูงโดรนพลีชีพเป็นอาวุธอสมมาตรที่มีประสิทธิภาพร้ายแรงกว่าอาวุธตามแบบดั้งเดิม ?
———————————–