คงจะกล่าวได้อย่างเต็มปากไม่ยากแล้วว่าปี 2565 ที่ผ่านมานี้ คือ จุดเริ่มต้นของยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอีกครั้ง จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Fed policy rate) ที่กำลังจะทะยานขึ้นไปสู่ระดับ 5% ภายในปี 2566 เนื่องจากตัวเลขการจ้างงาน อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกายังไม่กลับไปสู่จุดที่ Fed มองว่าเป็นระยะปลอดภัย อีกทั้งหากพิจารณาจากสุนทรพจน์ของ Jerome Powell ในฐานะประธาน Fed ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจนถึงกลางปี 2566 และตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเอาไว้ประมาณ 1-2 ปี จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาที่ระดับ 2-4%
หากจะให้อธิบายเกี่ยวกับนิยามของยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างง่ายนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องต่ำ (low liquidity) ตั้งแต่รายย่อยอย่างประชาชนรายครัวเรือนจะเริ่มใช้จ่ายน้อยลง เก็บออมเงินมากขึ้นจากการที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีอัตราสูงขึ้น บางธนาคารเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนรายใหญ่อย่างนักลงทุนระดับสถาบัน และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายๆแห่งเองก็จะชะลอการลงทุนลง เพราะการกู้เงินมาขยายธุรกิจในขณะนี้มีภาระด้านดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น กล่าวคือ ภาพรวมของตลาดขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการถือเงินสด (โดยเฉพาะบางสกุลเงิน) เอาไว้เฉยๆมีโอกาสจะได้ผลกำไรงอกเงยมากกว่าการนำไปจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุน
เมื่อพิจารณาเอาจากห้วงที่ผ่านมานี้ นอกจากการฝากหรือแลกเงินสดเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพื่อพักเงินจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว สินทรัพย์ที่ดูจะได้รับความสนใจจากบริษัทข้ามชาติและรัฐบาลในหลายประเทศ คงหนีไม่พ้นกลุ่มโลหะมีค่า (precious metals) บางชนิด เช่น แร่เงิน (XAG) และทองคำ (XAU) เนื่องจากเป็นธีมการลงทุนแผนที่ปลอดภัยที่สุด และมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 7.78% ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่ลดความเสียหายจากเงินเฟ้อและยุคดอกเบี้ยขาขึ้นได้ในสายตาของธนาคารกลางหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลจีนประกาศการจัดซื้อทองคำสำรองเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ตัน อียิปต์ 47 ตัน กาตาร์ 35 ตัน และอินเดียอีกกว่า 30 ตัน ในปี 2565 ที่ผ่านมา[1] เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
อีกผลิตภัณฑ์ทางการเงินหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึง และมีแนวโน้มจะถูกออกแบบมานำเสนอแก่ตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2566 นี้ก็คือ ตราสารหนี้/หุ้นกู้ (corporate bond) จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความต้องการระดมเงินจากนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ไปลงทุน หรือขยายกิจการ (แต่ไม่ต้องการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มักขยายตัวได้เร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) ทั้งนี้ บริษัทเอกชนที่ขายหุ้นกู้แก่นักลงทุนจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือครองหุ้นกู้นั้นๆเป็นผลตอบแทนตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ กล่าวอย่างง่าย คือ ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเอกชนที่ขายหุ้นกู้ โดยอัตราผลตอบแทนจะมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่ 3-5% ไปจนถึง 8-10%
อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนดังกล่าวนี้ มักผกผันกันไปตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย หากผู้ซื้อหุ้นกู้เป็นประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย อัตราดอกเบี้ยมักจะถูกกำหนดไว้ที่ประมาณ 3-5% เป็นส่วนใหญ่ ต่างจากนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ที่มักจะได้รับการเสนอผลตอบแทนที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยถึง 7-8% โดยสาเหตุที่หุ้นกู้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยนั้นเป็นเพราะมีความเสี่ยงต่ำ และมีการกำหนดระยะเวลาการจ่ายปันผลที่แน่นอน และผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินสดในธนาคาร อีกทั้งบริษัทที่นำหุ้นกู้มาเสนอขายจำนวนมากมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ได้รับการรับรองและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าจะมีแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่เหมาะแก่การลงทุนในห้วงนี้เสมอไป เพราะสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เองก็ยังมีบางกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากยุคดอกเบี้ยขาขึ้นและมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดี (outperformed) สวนกับทิศทางตลาดได้เช่นกัน ซึ่งธุรกิจที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการที่ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดต่างๆ หรือธุรกิจใดๆก็ตามที่มีรายได้จากการขายสินเชื่อ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า (pricing power) และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสูง เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการ เป็นต้น ซึ่งหากนำหุ้นรายตัวไปพิจารณาร่วมกับกระดานราคาในตลาด ก็จะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวนั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์เงินเฟ้อสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในห้วงที่ผ่านมาเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังคงมีแนวโน้มจะเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
—————————————————-
-
https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-full-year-2022/central-banks#:~:text=The%20Reserve%20Bank%20of%20India,impacted%20the%20bank’s%20gold%20buying%20. ↑