จีนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลกมาตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนคนหนึ่งในยุคสงครามเย็นพยายามจะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุน และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากไทยอย่างเครือ Charoen Pokphand (CP) เข้าไปริเริ่มค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เปิดโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ และห้างสรรพสินค้า โดยไม่นานหลังจากที่เครือ CP เข้าไปลงทุน รัฐบาลจีนในสมัยประธานาธิบดี Jiang Zemin ก็ประกาศนโยบายที่จะนำพาประเทศบูรณาการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นทางการผ่านการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization -WTO) ในห้วงปลายปี 2544 กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนจึงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียง 2 ทศวรรษ จากเดิมที่มีขนาดเพียงร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทุกประเทศทั่วโลก (global GDP) มาเป็นเกือบร้อยละ 20 ภายในปี 2563 อีกทั้งยังมีสถิติการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 4 คิดเป็น 9 เท่าจากสถิติเดิมในปี 2544 กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนารวมมากกว่า 120 ประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน และรัสเซีย[1]
หากจะถามว่าแล้วปัจจัยใดที่ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง อาทิ Apple, TSMC, Gucci, Nike, Ford หรือแม้แต่ Tesla ของ Elon Musk กล้าที่จะไว้ใจแล้วเลือกจัดตั้งฐานการผลิตในจีน โดยเฉพาะกรณีของ Tesla ที่เลือกเซี่ยงไฮ้เป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา เมื่อห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบการเมืองในจีนที่ยังเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ และภาครัฐมักใช้กลไกพิเศษในการแทรกแซงตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง คงตอบออกมาได้ไม่ยากว่าเพราะห้วงที่ผ่านมานี้ จีนก็มีลักษณะคล้ายๆกับเวียดนามในปัจจุบัน คือ เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยเยาว์และวัยทำงานสูงเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค อีกทั้งมีอัตราค่าแรงที่ต่ำ และยังไม่นับกรณีที่รัฐบาลจีนอาจให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี และเงินทุนสนับสนุนเพื่อชักจูงนักลงทุนเข้ามาที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเปิดใหม่แต่ละแห่งด้วย จึงยากที่บริษัทข้ามชาติจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้จะปฏิเสธข้อเสนอลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ความร้อนแรงของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่างจีนนั้นได้ถูกสั่นคลอน และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในห้วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด คือเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสชาตินิยมในสหรัฐอเมริกาที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล Obama II และการมาของ Donald Trump ที่นำนโยบาย “Make America Great Again” มาใช้สร้างความเกลียดชังต่อจีน พร้อมกับการประกาศสงครามการค้าอย่างเป็นระบบ โดยมีการนำมาตรการกำแพงภาษีมาใช้เพื่อกีดกันสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้ยากขึ้น และที่แย่ไปกว่านั้นคือ หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี 2563 นำไปสู่การตัดสินใจปิดการเข้าออกของประเทศจีนเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ผ่านการประกาศใช้นโยบาย Zero-Covid ที่ให้อำนาจพิจารณาการควบคุมโรคกับผู้บริหารพรรคระดับท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกสั่งปิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมๆไปกับนโยบายการป้องกันการผูกขาดในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเหตุให้ Jack Ma และบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีจากจีนสูญเสียความเป็นเอกภาพไปโดยปริยาย
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เพียงร้อยละ 3 ในห้วงปี 2565 ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ดัชนี SSE Composite Index, และ CSI 300 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจจีนในภาพรวมต่างปรับตัวลงไปมากกว่าร้อยละ 30 และ 40 ตามลำดับ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหุ้นของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในจีนหลายแห่งยังถูกแรงเทขายจากนักลงทุนต่างประเทศจนมูลค่าหดลงไปเกินกว่าร้อยละ 60 ตลอดห้วงปี 2565 ที่ผ่านมา กระแสนักลงทุนในตลาดทยอยปรับหุ้นจีนทิ้งออกจากพอร์ตนี้ นำมาซึ่งคำถามในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อความเสถียรภาพและโอกาสในการเจริญเติบโตของตลาดหุ้นจีนในปี 2566 ว่ามีมากน้อยเพียงใด หรือยังมีโอกาสที่จะปรับราคาลงมาในแดนต่ำลงกว่าจุดต่ำสุดเดิม (previous low) อีกครั้งก่อนฟื้นตัวเข้าสู่ตลาดกระทิงอย่างจริงจังในห้วงปี 2568 ที่เป็นปีที่นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าจะเป็นปีที่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจะทยอยปรับตัวกลับเข้าสู่การเติบโตอีกครั้ง
ประเด็นดังกล่าวนี้ ว่ากันตามตรง จะต้องไปพิจารณากันที่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งถ้าหากเปิดดูรายละเอียดภายในจีนกันจริงๆ จะเห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจในจีนไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่เลวร้ายเท่ากับที่สื่อหลายๆสำนักพยายามจะสะท้อนภาพออกมาอย่างเกินความเป็นจริงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เพราะตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าไปในตลาดหุ้นจีนรวมมากกว่า 150,000,000,000 หยวน[2] (นับเป็นปริมาณเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค) ตามอานิสงส์ของข่าวลือเกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid เมื่อห้วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 รวมถึงการประกาศผ่อนคลายนโยบายกดดันภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมแผนการที่จะอัดฉีดเงินสนับสนุนมากกว่า 160,000,000,000 หยวนเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ หลังประชาชนชาวจีนทั่วประเทศออกมาเรียกร้องอย่างหนัก เพราะภาคอสังหาฯ ไม่สามารถสร้างแล้วส่งมอบที่อยู่อาศัยของประชาชนได้ตามกำหนดเดิมที่ตกลงกันไว้[3]
จุดนี้ทำให้ตลาดจีนตอบรับด้วยการปรับฐานราคาขึ้นมาสูงถึงกว่าร้อยละ 50 (V-shaped recovery) จากจุดต่ำสุดในปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวขึ้นมาในครั้งนี้ส่งผลให้องค์กร International Monetary Fund (IMF) ตัดสินใจปรับคาดการณ์เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนประจำปี 2566 จากเดิมที่ร้อยละ 4.4 ไปสู่ร้อยละ 5.2 ขณะที่ทางด้าน Goldman Sachs เองก็ปรับเป้าคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของจีนไว้ภายในสิ้นปี 2566 โดยอาจเติบโตได้ถึงร้อยละ 24 บริษัทแนะนำและจัดการสินทรัพย์บางแห่งถึงขั้นชี้นำให้ซื้อหุ้นจีนเติมไว้ในพอร์ตอย่างน้อยร้อยละ 10 -15 โดยอ้างว่าหุ้นของหลายบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ยังมีอัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เพียง 10-15 เท่า (ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป) ซึ่งจะน่าซื้อเก็บหรือไม่นั้นต้องแล้วแต่วิจารณญาณของนักลงทุนในตลาด
สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงไว้ประการหนึ่งก่อนการตัดสินใจ คือ การพิจารณาสภาพตลาดทุน และการเลือกซื้อสินทรัพย์เสี่ยงนั้น จะต้องพิจารณาร่วมกับบริบทของตลาดโลกเป็นสำคัญว่าห้วงขณะนั้นๆ ธีมการลงทุน และรูปแบบของการไหลเวียนเงินทุนระดับโลกเป็นอย่างไรในภาพรวม อย่าลืมว่าปัจจุบันธีมการลงทุนของปี 2566-2567 นี้เป็นอย่างไร อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังเป็นขาขึ้น แปลเป็นภาษาไม่ทางการได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของห้วงปีดังกล่าวนี้จะต้องชะลอตัวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐฯ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสูงอยู่ การซื้อขายแลกเปลี่ยนในระดับมหภาคก็ย่อมมีเบาบางลง ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกแห่งใหญ่ของกลุ่มทุนในจีนยังมีในระดับสูง โดยเฉพาะหากการบริโภคภายในสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว การนำเข้าสินค้าจากจีนก็อาจจะติดลบ และส่งผลต่อภาพรวมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้อีกในอนาคตอันใกล้
————————————————————-
อ้างอิง
- https://www.wilsoncenter.org/blog-post/china-top-trading-partner-more-120-countries#:~:text=China%20is%20the%20largest%20trading,trader%20with%20Russia%E2%80%94and%20Ukraine. ↑
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-01-13/global-funds-flock-back-to-china-equities-as-sentiment-shifts ↑
- https://moneyandbanking.co.th/2023/23619/ ↑