ห้วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมาประเด็นธนาคารหลายแห่ง อาทิ Silicon Valley Bank (SVB), First Republic Bank (FRB), รวมถึงกรณีที่เกิดกับ Credit Suisse Bank (CS) ต่างพากันเผยสัญญาณล้มละลายออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นสิ่งที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดทุนและสินทรัพย์เสี่ยงอย่างรุนแรงทั่วโลก กระทบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมถึง SET Index ของไทยที่มักได้รับการขนานนามจากนักลงทุนว่าเป็นดัชนีที่มีพฤติกรรมสวนทางกับตลาดโลกก็ยังปิดราคาติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน โดยร่วงลงไปกว่าร้อยละ 5 ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566 สะท้อนถึงความหวาดกลัวของนักลงทุนในตลาดว่าอาจจะเกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยกรณี Lehman Brothers ล้มละลายเมื่อปี 2551 ขึ้นมาจริงๆ
ประเด็นนี้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนเป็นอย่างแรก คือ รูปแบบและลักษณะของวิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคาร Lehman Brothers เมื่อห้วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และกรณีล้มละลายที่เกิดขึ้นกับธนาคารระดับภูมิภาคอย่าง SVB และระดับโลกอย่าง CS นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อธิบายอย่างพื้นฐานที่สุดเลย คือ กรณีของธนาคาร Lehman Brothers ปัญหาหลักได้ก่อตัวขึ้นมาจากความผิดพลาดในการบริหารเงินทุนบริษัทแบบเกินตัวด้วยการกู้ยืมเงินมาลงทุนปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มเอกชนที่มีเครดิตความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime Mortgage) โดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าตนเองไว้ จนในท้ายที่สุดอัตราส่วนหนี้สินของ Lehman Brothers ขยายตัวไปในระดับที่สูงเกินกว่าทุนที่ถือครองอยู่ (D/E ratio) มากกว่า 40 เท่า[1]
การดำเนินธุรกิจที่พึ่งพาเงินกู้ยืมมากกว่าเงินสดของตนเอง รวมถึงการผูกติดกิจการของตนเองไว้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างสินเชื่อสำหรับกลุ่มคนที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ หรือหนี้เน่าที่รังแต่จะกลายเป็นระเบิดเวลากัดกินทรัพยากรของบริษัท (Zombie debt) ย่อมมีแต่ความเสี่ยงเป็นธรรมดา โดยสิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุด ในแผนธุรกิจของ Lehman Brothers คือ การกู้ยืมเงินมาลงทุนมหาศาลในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่ได้วางแผนสำรองกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อจนส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารในห้วงเวลานั้นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในตอนนั้น Fed ก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปเกินร้อยละ 5 จริง นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในที่สุด และผลิตภัณฑ์ Subprime Mortgage ที่ Lehman Brothers ลงทุนไปในห้วงก่อนหน้านั้นสูญมูลค่าลงอย่างรวดเร็วจนมีหนี้สินรวมกว่า 620,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[2]
ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB, FRB, และ CS นั้น เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ผิดพลาดในห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการนำเงินฝากของนักลงทุนไปจัดซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ระยะยาว (long-term bonds) สะสมไว้ เมื่อ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในอัตราร้อยละ 4.50 ในเวลาเพียงไม่เกิน 1 ปี ทำให้นักลงทุนและบริษัทจำนวนมากที่ขาดทุน เกิดความต้องการถอนเงินสดเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนกิจการที่กำลังอยู่ในอาการสาหัสของตน เรียงรายกันเข้ามาถอนเงินสดจากกลุ่มธนาคารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารมีเงินทุนสำรองไม่เพียงพอ และต้องจำใจขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ระยะยาวที่สะสมไว้เมื่อห้วงก่อนหน้านี้ในราคาขาดทุนมากกว่าร้อยละ 10-20 จากราคาหน้าตั๋ว เพื่อนำเงินสดมาเตรียมไว้คืนให้แก่ลูกค้าที่ต้องการถอนเงินจากธนาคาร[3]
ที่สำคัญคือ ธนาคารเหล่านี้มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ที่ต่ำกว่ากรณีของ Lehman Brothers มากหลายเท่า อย่างกรณี CS ที่เป็นกรณีเลวร้ายจากการประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องมานานนับปีในครั้งนี้ มีหนี้สินเพียง 3 เท่าของทุนที่ตนเองถือครองอยู่เท่านั้น ในขณะที่ Lehman Brothers มีหนี้สินถึงกว่า 40 เท่าจากทุน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers นั้นแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารระดับภูมิภาคอย่าง SVB และระดับโลกอย่าง CS อย่างสิ้นเชิง เพราะปัจจุบัน กระทรวงการคลังในหลายประเทศมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดไม่ให้ธนาคารสมัยใหม่ออกแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแบบ Lehman Brothers
ส่วนประเด็นที่ว่าวิกฤติจากธนาคารเหล่านี้ จะกลายเป็นปรากฏการณ์โดมิโนทางเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้ไหมนั้น ตอบตรงๆเลยว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างที่ได้ประจักษ์ชัดไปเมื่อห้วงปลายเดือนที่ผ่านมา ทาง Fed และธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ ทั้ง JPMorgan Chase, Citigroup และ Bank of America ต่างก็ประกาศมาตรการเข้าช่วยเหลือกลุ่มธนาคารที่กำลังล้มละลายแล้ว อย่างในกรณีของ FRB นั้นได้รับเงินอัดฉีดไปมากกว่า 30,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วน CS นั้นก็ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งชาติสวิสเป็นมูลค่ากว่า 50,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะมาตรการฟื้นสภาพคล่อง และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในยุโรป
สภาพการณ์ขณะนี้ค่อนข้างเห็นเค้าลางแล้วว่า วลี “Too big to fail”[4] (ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม) กำลังกลับมา และการที่ภาครัฐในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะสหรัฐฯ หรือสวิตเซอร์แลนด์ต่างก็ไม่ลังเลที่จะประกาศมาตรการอุ้มธนาคารที่ประสบปัญหา สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางครั้งนี้มาก
อ้างอิง
- https://hbr.org/2009/09/lessons-from-lehman ↑
- https://www.bloomberg.com/features/2022-lehman-brothers-collapse-plan-repay-after-bankruptcy/#:~:text=Lehman%20owed%20%24613%20billion%20when,There%20were%20also%20its%20customers. ↑
- https://www.skynews.com.au/opinion/sharri-markson/credit-suisse-a-bank-which-should-be-too-big-to-fail/video/51e08a10df381dbb0c8c799bc5583291 ↑
- https://www.telegraph.co.uk/business/2023/03/15/credit-suisse-share-price-bailout/ ↑