สำนักข่าวต่างประเทศรายงานกันถ้วนหน้าเมื่อ 15 มีนาคม 2566 เกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไประหว่างฮอนดูรัสกับจีน เนื่องจากประธานาธิบดี Xiomara Castro ผู้นำฮอนดูรัสออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าต้องการจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน โดยได้สั่งการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฮอนดูรัสดำเนินการเรื่องนี้ทันที …ท่าทีนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะที่ผ่านมา ฮอนดูรัสเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ดังนั้น การที่ฮอนดูรัสจะริเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนครั้งนี้ อาจเท่ากับว่าต้องตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันไปโดยทันที
ข่าวว่าไต้หวันพยายามติดต่อฮอนดูรัสทันทีเพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ พร้อมกับเตือนมิตรประเทศให้ทบทวนดี ๆ และระวังการติด “กับดัก” ของจีน เพราะในระยะหลัง จำนวนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันลดน้อยลงทุกที และครั้งนี้จะเป็นอีก 1 ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางที่เปลี่ยนท่าทีไป หลังจากที่นิการากัวยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันไปเมื่อปี 2564
อย่างไรก็ตาม ฮอนดูรัสเคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้แล้วว่าอาจจะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เพื่อเริ่มใหม่กับจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ แต่เมื่อปี 2565 ฮอนดูรัสก็ยังบอกว่าอยากจะรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันไว้ด้วย สำหรับท่าทีของนักการเมืองฮอนดูรัสบางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วยกับการยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮอนดูรัสกับสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ตัวจริงในปัจจุบัน เพราะสหรัฐฯน่าจะอยากให้ฮอนดูรัสรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันไว้ และไม่หันไปใกล้ชิดกับจีนที่สหรัฐฯ เชื่อว่าพยายามขยายอิทธิพลในละตินอเมริกามากขึ้น
ทำไมฮอนดูรัสตัดสินใจเปลี่ยนความสัมพันธ์กับจีนในตอนนี้ ?
คำตอบอาจจะเป็นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ
มีสัญญาณว่าฮอนดูรัสติดต่อกับจีนใกล้ชิดมากขึ้นตั้งแต่เมื่อ 1 มกราคม 2566 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฮอนดูรัสไปพบกับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่บราซิล ระหว่างทั้ง 2 คนไปร่วมงานพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของผู้นำบราซิลคนใหม่ ข่าวว่า ฮอนดูรัสต้องการให้จีนเข้าไปลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยเฉพาะเขื่อนพลังงานน้ำ (hydroelectric dam) ชื่อโครงการ Patuca II ที่เป็น 1 ใน 14 โครงการสำคัญของฮอนดูรัส ดังนั้น รัฐบาลฮอนดูรัสต้องการให้จีนเข้าไปเป็นแรงขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ให้มีความคืบหน้าเพื่อเป็นผลงานการพัฒนาประเทศที่ยังพึ่งพารายได้จากการทำเกษตรกรรมค่อนข้างสูง ซึ่งฮอนดูรัสเห็นแล้วว่าจีนทำได้ จากการให้เงินกู้มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้บริษัท Sinohydro เข้าไปสร้างเขื่อนโครงการ Patuca III ของฮอนดูรัสสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว
ในตอนนั้นไต้หวันเองกังวลมาก และวิตกว่าจีนจะโน้มน้าวฮอนดูรัสให้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ที่ไต้หวันมองว่าเป็นความพยายามในการลดบทบาทไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ โดยให้ “สัญญาปลอม ๆ” กับประเทศต่าง ๆ เพราะจีนไม่เคยทำตามที่ให้สัญญาเอาไว้เลย ขณะที่ไต้หวันต่างหากที่มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนชาวฮอนดูรัสอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด และไต้หวันให้ความสำคัญกับฮอนดูรัสมาก เพราะเป็น 1 ใน 3 ประเทศละตินอเมริกาที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันอยู่ อีก 2 ประเทศ คือ ปารากวัยและกัวเตมาลา
อีกประเด็นที่อาจเป็นคำตอบว่าทำไมฮอนดูรัสจึงเลือกแนวทางนี้ตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ประธานาธิบดีไต้หวันจะเยือนสหรัฐฯ และประเทศในละตินอเมริกา นอกเหนือจากผลประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาจมองได้ว่า ตัวประธานาธิบดี Xiomara Castro ผู้นำสตรีคนแรกของฮอนดูรัสวัย 62 ปีคนนี้ ต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นตัวของตัวเอง และเพิ่มอำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นหรือไม่? เพราะเรื่อง “จีน” อาจทำให้อเมริกาต้องหันไปใส่ใจและจริงจังกับการเพิ่มความร่วมมือและช่วยเหลือฮอนดูรัสมากขึ้น ทั้งประเด็นการค้า การลงทุน การแก้ไขปัญหาผู้อพยพร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาประเทศ
ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างฮอนดูรัสกับสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ย่ำแย่ และภาพรวมก็ยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด แต่สื่อสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของนาง Xiomara Castro ตั้งแต่หลังรับตำแหน่งว่าไม่ได้ดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ สักเท่าไหร่ เช่น การประกาศรับรองรัฐบาลประธานาธิบดี Nicolás Maduro ของเวเนซุเอลา ดังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำฮอนดูรัสกำลังทดสอบปฏิกิริยาของสหรัฐฯ ต่อเรื่องนี้ …ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการที่เสี่ยงสักหน่อย แต่ตามที่ประธานาธิบดี Xiomara Castro บอกไว้ว่า “ขณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนฮอนดูรัส และนำไปปฏิบัติได้จริงมากที่สุด” เท่ากับว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยโครงการก่อสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม อาจเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลฮอนดูรัสต้องการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน อาชญากรรม และภูมิอากาศโลกแปรปรวนที่เป็นภัยคุกคามสำคัญของฮอนดูรัสในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างฮอนดูรัสกับจีน ซึ่งในที่สุดก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อ 26 มีนาคม 2566 จึงอาจเป็นอีก 1 ตัวอย่างการดำเนินนโยบายแบบกล้าเสี่ยง กล้าได้ กล้าเสีย ของประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา ที่น่าติดตามต่อไป เพราะอาจมีผลต่อทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ -จีนเรื่องไต้หวัน และมีผลต่อการขยายอิทธิพลของจีนในละตินอเมริกา ภูมิภาคที่อยู่ใกล้สหรัฐฯ อย่างมากต่อไป