ภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือที่เรารู้จักกันผ่านคำว่า Burnout เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกในยุคปัจจุบัน โดยมีผลสำรวจจากต่างประเทศที่น่าสนใจว่า ตอนนี้กลุ่มคนทำงานทุกช่วงวัยกำลังเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงานสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะหมดยุคการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เป็นปัจจัยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานมาแล้ว และไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ วัยทำงานตอนต้น หรือ Gen Y เท่านั้นที่รู้สึกหมดไฟในการทำงาน แต่คนรุ่นใหญ่อย่าง Gen X ก็กำลังเหนื่อยล้าและเผชิญภาวะ Burnout ไม่แพ้กัน
ปัญหาหมดไฟในการทำงานถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับนานาชาติ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกิจกรรมในมิติต่าง ๆ ของโลก และที่สำคัญ คือ เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์เราโดยตรง ทำให้วงการทำงานและสาธารณสุขจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ตระหนักถึงปัญหานี้และเริ่มเพิ่มความจริงจังในการแก้ไขเรื่องนี้ด้วยวิธีการด้านสาธารณสุข คือ จัดให้ภาวะหมดไฟจากการทำงานเป็น International Classification of Diseases หรือ ICD เพื่อให้วงการแพทย์มีการวินิจฉัยปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้ว่าจะยังไม่นับเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชก็ตาม
สำหรับผลการวินิจฉัยในตอนนี้ อธิบายภาวะหมดไฟจากการทำงานว่าเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการหลัก ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย รู้สึกต่อต้านและมองงานตัวเองในแง่ลบ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ห่างเหินจากผู้อื่น และขาดความผูกพันกับที่ทำงาน
ภาวะหมดไฟอาจสามารถสังเกตได้ โดยแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ แล้วแต่ว่าจะยึดกระบวนการที่ศึกษาโดยนักจิตวิทยาท่านไหน เช่น ตามคำอธิบายของ Gosser และ Gorkin บอกว่าระยะของภาวะหมดไฟมีอยู่ 4 ขั้นตอน ได้แก่ เหนื่อยล้า (enthusiasm) เฉื่อยชา (stagnation) คับข้องใจ (frustration) และเฉยเมยไปเลย (apathy)
ส่วนคำอธิบายของ Miller & Smith ผู้เขียนวิจัยเกี่ยวกับภาวะหมดไฟจากการทำงาน ที่ได้กำหนดเอาไว้ 5 ระยะ ได้แก่ ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) ที่ทุกอย่างยังดีและตื่นเต้น ต่อไปเป็นระยะรู้สึกตัว (the awakening) ที่ความเป็นจริงและความผิดหวังเริ่มทำให้ข้องใจและเหนื่อยล้า ทำให้ไปสู่ระยะไฟตก (Brownout) เมื่อไม่ได้แก้ไขความผิดหวังหรือความข้องใจ ทำให้เริ่มมีพฤติกรรมแยกตัว และเปลี่ยนวิถีชีวิต และในที่สุดก็ไปสู่ภาวะระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) ที่น่าเป็นห่วง เพราะจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สุดท้าย ระยะที่อยากจะให้ทุกคนที่เจอปัญหานี้ก้าวไปให้ถึง คือ ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) หลังจากได้พักผ่อน นอนสบาย ออกกำลังกาย ผ่อนคลายและแก้ไขปัญหาที่ข้องใจได้ ก็จะสามารถกลับไปมีเป้าหมายในการทำงานได้อย่างมีความสุขและมีสมดุลมากขึ้น
สำหรับสาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟ ส่วนมากถูกอธิบายว่าเกิดจาก “ความเหนื่อยล้า” หรือ Exhaustion ทั้งร่างกายและจิตใจ การทำงานที่ Overload ทั้งในแง่จำนวนและความคาดหวัง การขาดอำนาจในการตัดสินใจ รวมทั้งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตใจที่สะสม หรือความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความสับสน และภาวะซึมเศร้า ตลอดจนอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ เช่น รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ และรู้สึกขาดแรงจูงใจในการทำงาน หรือภาวะ Cynicism
….ว่ากันว่า ภาวะ Cynicism เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ โดยนักจิตวิทยา Christina Maslach จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียให้ความเห็นว่า “ภาวะหมดแรงจูงใจ” เป็นสาเหตุสำคัญมากกว่าเรื่องความเหนื่อยล้า เพราะคนทำงานอาจเหนื่อยล้าพร้อม ๆ กับมีความสุขกับการทำงานได้!! เพราะยังมีความสนใจในการทำงานอยู่ แต่เจ้าภาวะ Cynicism ที่เจือปนด้วยความรู้สึกไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย ไม่สนใจ ไม่สนุก และต่อต้านสิ่งรอบตัวนี้จะนำไปสู่การ Burnout มากกว่า เพราะมันเป็นจุดที่คนทำงานจะรู้สึกว่า “จะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว และจะทำให้น้อยที่สุด” จนอาจเริ่มเข้าสู่ขั้น “ไม่ชอบงานของตัวเอง” รวมไปถึง “ไม่ชอบตัวเอง” ด้วย
การจัดการกับภาวะ Cynicism ได้อย่างราบรื่นนั้นต้องอาศัยความเข้าใจในหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจตัวเองของผู้ที่ประสบภาวะนี้ และความเข้าใจของผู้ประกอบการหรือผู้บริหาร ตลอดจนผู้ร่วมงานด้วย
………อันดับแรก การเกิดภาวะนี้กับผู้ร่วมงานของเราไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเหนือธรรมชาติอะไร มันคือภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและพิสูจน์แล้วด้วยว่าสามารถจัดการได้โดยที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวด
……..และอันดับที่สอง การจัดการกับภาวะนี้ต้องใช้เวลา เพราะผู้เผชิญปัญหาต้องมีโอกาสเปิดใจกับตัวเอง และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้นำไปสู่การทำความเข้าใจตัวเอง และเริ่มแก้ไขภาวะนี้ไปทีละน้อย โดยให้เพื่อนร่วมงานเข้าไปมีส่วนร่วมก็ได้ มันมีวลีหนึ่งในภาษาอังกฤษที่บอกว่า “a problem shared is a problem halved” ดังนั้น การแบ่งปันประสบการณ์หรือความขับข้องใจที่เผชิญอยู่อาจช่วยให้คนทำงานได้ผ่อนคลายลงไปและอาจได้รู้จักกับความรู้สึกใหม่ หากได้เจอคนที่มีประสบการณ์แบบเดียวกัน จากนั้นก็เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกันใหม่ ทั้งการตั้งเป้าหมายที่พอดีทั้งสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้สั่งงาน การให้ความสำคัญกับสุขภาพและงานอดิเรก การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ และการยอมรับความต้องการของกันและกันให้มากขึ้น โดยไม่เอา judgment ส่วนตัวไปใช้จัดการเรื่องนี้
……..สุดท้ายนี้ ลองนึกย้อนดูว่าเราจะใช้ประโยชน์จากเจ้าภาวะ Cynicism หรือแนวคิดแบบ Cynicism ได้ไหม? แม้ว่าภาวะหมดความสนใจหรือไม่เห็นด้วย รวมไปถึงต่อต้านสิ่งรอบตัวนี้จะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือบางครั้งแนวคิดแบบ Cynicism ถูกอธิบายว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจ ดูถูกและเหยียดหยามสิ่งอื่น ๆ รอบตัวมากจนทำให้ไม่เป็นผลดีต่อการใช้ชีวิต แต่เมื่อเรามองลึกไปที่ปรัชญา Cynicism ที่มีต้นกำเนิดจากสมัยกรีกโบราณ ซึ่งเห็นว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งดีงามเสมอไป มนุษย์มีความมุ่งหมายอยู่ในทุก ๆ การกระทำ จึงไม่มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่จริง และทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้น่าเชื่อถือได้ง่าย ๆ ดังนั้น นักคิดในกลุ่ม Cynicism แบบสุดขั้วจึงไม่ยึดถือในเรื่องความร่ำรวย การครอบครองอำนาจ และเกียรติยศจากสังคม แต่เน้นใช้ชีวิตให้ปกติธรรมดา และเป็นธรรมชาติมากที่สุด…ประเด็นนี้ถ้า “คนทำงาน” เอามาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมและพอดี ๆ ก็อาจจะทำให้แนวคิด Cynicism กลายเป็นแนวทางสำหรับการ “คิดใหม่” เพื่อให้ระมัดระวังเรื่องความคาดหวัง และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น
…..นอกจากนี้ ทุกแนวคิด ปรัชญา และภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยนั้นมีที่มาที่ไปเสมอ และเมื่อภาวะหมดไฟจากการทำงานกำลังเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก จึงขอใช้บทสรุปทิ้งท้ายเพื่อเป็นกำลังใจให้กับ “คนทำงานทุกคน” ..พวกคุณเก่งแล้ว!! และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็พักผ่อนให้เพียงพอกันด้วยนะ