วัยทำงานในยุคปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพเพียงอาชีพเดียว งานประจำจึงไม่ใช่ช่องทางเดียวของรายได้อีกต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มพูนรายได้ให้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา ธุรกิจหลายอย่างเริ่มต้นจากงานที่เป็นรายได้เสริม และขยายเติบโตไปสู่การเป็นรายได้หลัก มีการจ้างงานและนำไปสู่การก่อตั้งเป็น Startup อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่ไม่ต้องการการลงทุนมาก เพียงแค่เครื่องคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสร้างช่องทางการติดต่อลูกค้า เพื่อมอบสินค้า บริการหรือประสบการณ์ให้กับตลาดได้อย่างรวดเร็ว
คำว่า “Startup” เริ่มต้นในประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นช่วงที่การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเติบโตที่รวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจหน้าใหม่ได้นำเสนอแนวคิดในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นการเปิดตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น
เจ้าของกิจการรุ่นใหม่ต่างหลั่งไหลเข้าสู่เมืองที่มีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานสูง ทั้งธุรกรรมทางด้านการเงิน การคมนาคม และกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ธุรกิจเหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการใช้แรงบันดาลใจในการทำงาน เหล่าคน Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 2538 – 2552 จะมองหาแนวคิดของการทำงาน หรือรูปแบบบริษัทที่ตรงกับความสนใจของตนเอง เพื่อที่จะหาประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการทำงานในลักษณะของ “partner” มากกว่าที่จะเป็น “ลูกน้อง” ที่ทำตามคำสั่งของเจ้านาย และด้วยจำนวนตัวเลือกแหล่งงานที่มีอยู่อย่างมากมาย กับความต้องการที่จะเป็นเจ้าของกิจการเองของคนรุ่นใหม่ ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องเผชิญกับการลาออกและต้องฝึกคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเติบโตของกิจการ
ในทางกลับกัน การตั้งธุรกิจออนไลน์ในหัวเมืองรอง กลับมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะทางเลือกการแข่งขันที่น้อยกว่า ทำให้อัตราการย้ายงานต่ำกว่า สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและค่าครองชีพที่ไม่สูงเท่าเมืองหลวง จึงไม่กดดันให้พนักงานต้องเปลี่ยนงานเพื่อเพิ่มระดับรายได้ ดังนั้น ธุรกิจออนไลน์หลายแห่งจึงเริ่มย้ายออกจากเมืองหลวงไปขยายและเติบโตตามหัวเมืองสำคัญที่มีความเจริญของโครงสร้างพื้นฐานไม่แตกต่างกัน มีค่าเช่าพื้นที่ที่ถูกกว่า และสามารถสร้างความมั่นคงกับพนักงงานได้ดีกว่า
แต่โจทย์ใหญ่สุดของการก้าวสู่การเป็น Startup ในระดับ Unicorn (มูลค่าธุรกิจ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้นเป็นเรื่องยากที่เจ้าของกิจการรุ่นใหญ่รายใหม่จะสามารถทำได้ เนื่องจากอาจขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ขาดความสัมพันธ์ที่จะเข้าสู่แหล่งเงินทุนที่ปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของธุรกิจอีกด้วย จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือการร่วมมือกันของภาคเอกชนที่มีประสบการณ์มากกว่าเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการเติบโตของธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกัน (Joint venture) กับสายงานที่เกี่ยวข้อง มากกว่าการขยายกิจการ เพื่อสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กัน โดยที่ไม่แข่งขันกันจนมากเกินไป เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้อยู่แล้ว การทำ Joint venture จึงถือเป็นการต่อยอดธุรกิจไปในแนวทางที่ถนัด ไม่ใช่การครอบคลุมกระบวนการทั้งหมดและต้องเพิ่มสิ่งที่ไม่ถนัด ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการล้มเหลวได้ง่าย
อาจเปรียบเรื่องนี้ได้ง่าย ๆ กับการเลือกเล่นเกมส์ที่ถนัด และหา backup ดี ๆ มากกว่าการเลือกเข้าสู่เกมส์ใหญ่ที่อาจจะแพ้ได้ง่ายกว่า
การย้ายธุรกิจ และการหาที่ปรึกษาเพื่อการเติบโตของธุรกิจ เป็น 2 ปัจจัยหลักที่เหล่า Startup ต้องการ ในประเทศไทยที่มี Startup เกิดขึ้นจำนวนมาก ก็มีการสนับสนุนเช่นเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มีแนวทางการสนับสนุนธุรกิจใหม่เหล่านี้ให้มีโอกาสเติบโตด้วยบทบาทของที่ปรึกษาและการเปิดโอกาสให้พบเจอกับแหล่งเงินทุน แต่ด้วยแนวคิดที่แหวกแนวและตลาดออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายธุรกิจมีเนื้อหาใหม่เกินกว่าที่จะหาผู้มีประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษา และการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลไม่สามารถครอบคลุมความหลากหลายของธุรกิจได้ บทบาทของรัฐที่สำคัญจึงอาจต้องเปลี่ยนแปลงไป จากการเป็น “ที่ปรึกษา” ก็เปลี่ยนไปเป็นผู้เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเหล่านี้ สอดคล้องกับนโยบายการขยายตัวของเมืองสำหรับย่านเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในหัวเมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางธุรกิจเติบโตสู่ระดับสากลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ