หากนับย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 15-20 ปีก่อน เราคงจะได้เห็นตัวร้ายในหนังฮอลลีวูดที่เป็นมหาอำนาจแห่งเทคโนโลยีเดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันชื่อของประเทศญี่ปุ่นเริ่มหายไป กลับกลายเป็นจีนหรือเกาหลีเหนือแทน และเมื่อภาพยนตร์เป็นตัวสะท้อนประเด็นสำคัญของโลก แสดงว่ากระแสความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทางด้านญี่ปุ่นเริ่มจางหายไปแล้วจริงหรือไม่? หรือบ่งบอกได้ว่า ความน่าสนใจของประเทศญี่ปุ่นต่อชาวโลกนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นเกิดขี้นอย่างต่อเนื่องหลังจากแพ้สงครามโลก จนก้าวขึ้นสู่อันดับ 2 ของประเทศเศรษฐกิจในช่วงปี 2534 ทำให้เป็นเจ้าของค่ายเทคโนโลยีแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ฮอนด้า ซูซูกิ มิทซูบิชิ แคนนอน โซนี่ พานาโซนิค โตชิบา แบรนด์เหล่านี้เป็นที่คุ้นหูเมื่อนึกถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์ กล้อง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย แต่เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันอย่างโทรศัพท์มือถือ หรือรถยนต์ไฟฟ้า เรากลับไม่พบชื่อแบรนด์จากญี่ปุ่นเข้ามาแข่งขันในท้องตลาด ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนั้นได้จางลงหรืออาจหายไปแล้ว
ไม่เพียงแค่ภาพลักษณ์ทางด้านความทันสมัย แต่ชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมก็ถูกบดบังด้วยเช่นกัน จากตัวแทนภาพลักษณ์ชาวเอเชียของญี่ปุ่นถูกแทนที่ด้วยกระแส K-pop ของเกาหลีใต้ และนับเป็นโชคร้ายของญี่ปุ่นที่โอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรม soft power ของญี่ปุ่นจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 32 ในปี 2563(2020) ต้องถูกเลื่อนไป 1 ปี เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 31 ที่ประเทศบราซิล ค่อนข้างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นเตรียมการจะเผยแพร่การ์ตูนอนิเมชันสู่สายตาชาวโลก ถือเป็นเอกลักษณ์และ soft power ที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ตั๋วเข้าชมกว่า 630,000 ใบต้องถูกยกเลิกไป รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทุ่มงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1.64 ล้านเยนเพื่อเสริมมาตรการป้องกัน เพื่อลดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขัน รวมไปถึงห้องพัก และการท่องเที่ยวที่ไม่เกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย รวมถึงพลาดโอกาสที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านการถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่ชาวโลกอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นสูญเสียโอกาสจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไปมากทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากหลายสาเหตุที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่พังอย่างต่อเนื่องจากโควิด 19 ปัญหาเงินเฟ้อ การตกอยู่ในสงครามการค้าระหว่างพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่นอย่างจีนที่ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นทำได้ยากมากขึ้น และปัญหาใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คนวัยทำงานที่จำนวนเท่ากันกับวัยชราทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลง จนรัฐบาลต้องเริ่มทบทวนนโยบายสวัสดิการของรัฐในการดูแลประชาชนสูงวัย
ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุด แม้จะไม่ใช่อันดับสุดท้าย แต่หากเทียบขนาดพื้นที่กับจำนวนประชากรของประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุดอย่างประเทศไซปรัส ที่มีจำนวนประชากร 1.1 ล้านคน บนพื้นที่ 9,251 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่ประชากร 123 คนต่อตารางเมตร ขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราความหนาแน่นประชากรอยู่ที่ 342 คนต่อตารางกิโลเมตร นั่นหมายถึงญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับการบริโภคจำนวนมาก แม้จะมีทรัพยากรที่จำกัดและกำลังผลิตจากวัยแรงงานที่ลดลง
ในขณะที่โลกและวัฏจักรของเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงหมุนเร็วมากขึ้น บางประเทศใช้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นมาเป็นกระแสใหม่ของโลก และอาศัยกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเชื้อเชิญการลงทุนเพื่อขยายเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่า…ญี่ปุ่นจะตามกระแสนี้ไม่ทันและต้องจัดการกับปัญหาภายในประเทศมากมาย อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังมีจุดแข็งสำคัญมาก ๆ คือ “การให้ความสำคัญกับความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ” โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะต้องมีการทดลองให้แม่นยำก่อน จึงจะปล่อยเข้าสู่ตลาดได้ แม้จะทำให้กระบวนการล่าช้า แต่ญี่ปุ่นทำให้ทั่วโลกมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นนั้นจะเปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพ และบริการที่ดี
ดังนั้น แม้ว่าโลกที่หมุนเร็วตอนนี้อาจไม่ใช่เวลาที่เฉิดฉายของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับความละเอียดละออและประณีต แต่เมื่อทั่วโลกเหนื่อยกับความรวดเร็ว และต้องการหาคุณภาพมากกว่าปริมาณ เมื่อนั้น เราน่าจะได้เห็นญี่ปุ่นที่พร้อมจะกลับเข้าสู่กระแสผู้นำโลกอีกครั้ง ซึ่งน่าจะทำได้ดีไม่แพ้ในอดีตด้วย