“มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราษฎร์โจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาวศิวิไลซ์” ถ้อยคำไม่กี่คำที่คาดการณ์ว่าเป็นการทำนายทายทักเกี่ยวกับการเมืองไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งเป็นคำทำนายฉบับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ของ “สมเด็จโต” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี หลังจากที่ “สมเด็จโต” มรณภาพเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2415 ในรัชกาลที่ 4 เช้าวันรุ่งขึ้น นายอาญาราช (อิ่ม) ศิษย์ก้นกุฏิได้เข้าไปเก็บกวาดในกุฏิ ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งซุกอยู่ใต้เสื่อ มีลายมือของท่านเขียนคำไว้ 10 คำ ตามที่กล่าวข้างต้น จึงตีความกันว่าเป็นคำพยากรณ์คาดการณ์อนาคตบ้านเมืองของ “สมเด็จโต” จากอดีตที่ผ่านมาก็ได้มีการตีความของคำทำนาย โดยผูกโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองและการเมืองของไทยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
โหราศาสตร์เดิมเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีผู้รู้จำกัด เพราะเหมือนถูกผูกขาดโดยมีผู้รู้เฉพาะชนชั้นสูงในสังคม และผู้คนในสังคมไทยก็มีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการถือฤกษ์ถือยามในเรื่องพระราชพิธี ฤกษ์ยามเฉลิมฉลอง การทำภารกิจใหญ่โตสำคัญ นอกจากนี้ความเป็นศาสตร์ยังอยู่ที่การมีหลักเกณฑ์ มีการเก็บสถิติ ความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของดวงดาว ความสัมพันธ์ระหว่างดวงดาวแต่ละดวง การจับกลุ่ม และที่ตั้งของดวงดาว
การเก็บข้อมูลเหล่านี้ทำกันมาหลายพันปี จนได้แบบฉบับหลายแบบนับเป็นพัน ๆ แบบที่เกิดขึ้น ดวงดาวแต่ละดวงก็เป็นตัวแทนของคุณสมบัติทั้งด้านดีและด้านร้าย อีกทั้งความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์จะยึดโยงเกี่ยวพันกับการตัดสินใจหลายเรื่องอย่างแยกไม่ออก แม้จะปรากฏในรูปแบบนามธรรมแต่โหราศาสตร์แทรกซึมอยู่ในสังคมไทย และยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ก็คล้ายว่าโหราศาสตร์จะอยู่เบื้องหลังความเป็นไปเหล่านั้นเสมอมา ตัวอย่างในหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ดังต่อไปนี้
…………ปี 2325 ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการตั้งเสาหลักเมืองเพราะเปลี่ยนพระนครใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ข้าง ๆ วัดพระแก้วในปัจจุบัน ในบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีบอกว่ามีงู 4 ตัวลงไปในหลุมที่จะฝังเสาหลักเมือง ซึ่งพอได้พระฤกษ์ฝังเสา หลักเมืองก็วางทับงูลงไปจนทำให้งูทั้ง 4 ตัวตายในหลุม ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยนั้นว่าจะเกิดเหตุเพทภัยต่อบ้านเมืองหรือไม่ เลยมีการคำนวณกันทางโหราศาสตร์ จนมีคำพยากรณ์ออกมาว่ากรุงรัตนโกสินทร์หรือราชวงศ์จักรีจะอยู่ได้แค่ 150 ปี…….
………..พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มเปลี่ยนมาเป็นกรุงเทพฯ ยุคกลางแล้ว รัชกาลที่ 4 มีความรู้ทางโหราศาสตร์ และคงได้ยินเรื่องราวที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์จักรี เลยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่อีกเสาหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสาหลักเมืองในกรุงเทพฯ จึงมีสองเสา เป็นการแก้ทางโหราศาสตร์ แก้ฤกษ์ยามที่เสียไป….
………..จนพอถึง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เขาก็กลัวว่าคำทำนายจะเป็นจริง เลยมีการแก้เคล็ดด้วยการสร้างสะพานเชื่อมต่อขนาดใหญ่ระหว่างกรุงเทพฯ กับธนบุรี ซึ่งคือสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และมีการสร้างพระรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีไว้ด้วยภายใต้ความวิตกกังวล แต่สุดท้ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งครบ 150 ปีของคำทำนายพอดี……
หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง แน่นอนว่าวงการโหรก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน มีการยุบกรมโหรที่อยู่ในวัง และทำให้โหราศาสตร์กลายเป็นเรื่องของประชาชนมากขึ้น อีกทั้งเมื่อปัจจุบันโลกกว้างขึ้น ทำให้เกิดการเข้าถึงโหราศาสตร์ของประเทศอื่น และมีการนำแนวโหราศาสตร์ของประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงการนำโหราศาสตร์สากลมาผสมผสานมากขึ้น ทำให้การคำนวณเปลี่ยนไป
โหรและหมอดูในความหมายของแนวความคิดเรื่องการครองอำนาจ (Hegemony) และ ปัญญาชน (Intellectual) ตามแนวคิดของอัตโตนีโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) เป็นเรื่องของอุดมการณ์ ซึ่งมีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของกลุ่มคนหรือมวลชนได้ แนวความคิดเรื่องการครองอำนาจนำอยู่ในส่วนของโครงสร้างส่วนบน ซึ่งพื้นที่โครงสร้างส่วนบนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1) พื้นที่สังคมการเมือง (Political society) เป็นพื้นที่ที่ใช้กำลังในการบังคับ รัฐเป็นผู้ผูกขาดอำนาจ (Coercion exercised by the state) ซึ่งเป็นลักษณะของการไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกส่วนใหญ่ในประชาสังคม และ 2) พื้นที่ประชาสังคม (Civil society) เป็นพื้นที่ไม่มีรัฐเข้ามาผูกขาด แต่ถึงกระนั้นก็เป็นพื้นที่เอกชนของรัฐซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่รวมเอาวัฒนธรรมศีลธรรม ศาสนาต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และเป็นพื้นที่ที่กลุ่มผู้ปกครองมีไว้สำหรับสร้างการครองอำนาจนำ
พื้นที่ประชาสังคม….จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถวัดได้ว่าชนชั้นใดจะครองอำนาจนำเหนือชนชั้นอื่น เนื่องจากการจะครองอำนาจนำเหนือชนชั้นอื่นได้ต้องได้รับการยอมรับ (Consent) จากสมาชิกส่วนใหญ่ในประชาสังคม (Great masses) และพื้นที่ประชาสังคมยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการ“เผยแพร่อุดมการณ์”
ถ้ามองด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ก็จะรู้สึกว่าความรู้เรื่องโหราศาสตร์เป็นเรื่องที่ล้าหลัง แต่เมื่อมาวิเคราะห์ฟังก์ชั่นหรือการทำหน้าที่ของโหราศาสตร์ รวมถึงการนำแนวคิดหลักทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มาผนวกเข้าด้วยกันก็จะพบว่า โหราศาสตร์แทบจะไม่แตกต่างจากวิธีอื่น ๆ ในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ คือเพิ่มโอกาสความสำเร็จและลดโอกาสความล้มเหลว ปัจจุบันการเติบโตของความเชื่อด้านโหราศาสตร์กับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกลับกลายเป็นเป็นสิ่งที่สามารถเดินไปด้วยกันได้ โดยไม่ได้มีเพียงมุมที่เดินสวนทางกันเสมอไป
หากมองในมิติการเมือง บริบทของปัญญาชนทางโหราศาสตร์ที่ทำหน้าที่ทั้งผลิตและเผยแพร่คำทำนายคำพยากรณ์ซึ่งเป็นชุดการอธิบายทางโหราศาสตร์เพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งการเผยแพร่คำทำนายคำพยากรณ์ของโหรและหมอดูเป็นการสร้างหรือทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะของสังคม ไม่ใช่การบังคับให้เชื่อ……แต่เป็นการสร้างให้เกิดความเชื่อในหมู่ผู้คน เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการได้รับความยินยอมของผู้คนในสังคม เพื่อสร้างระบอบใหม่ให้เกิดขึ้น
การได้มาซึ่งความยินยอม เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้าง แต่การสร้างและใช้ชุดคำอธิบายทางโหราศาสตร์ในสังคมของประเทศไทยเป็นไปได้โดยง่าย เพราะมีพื้นฐานความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติผูกพันมายาวนาน การได้มาซึ่งความยินยอมจากกลุ่มคนในสังคมกลุ่มอื่น ๆ เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าการก้าวขึ้นสู่อำนาจของระบอบใหม่จะมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งต่างจากการก้าวเข้าสู่อำนาจของระบอบใหม่ที่ยึดอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว โดยการบังคับและปราศจากการยินยอมในหมู่กลุ่มคนในสังคม
………จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมีคำทำนายในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยออกสู่สาธารณชนในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในแต่ละครั้ง รวมไปถึงการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เช่นกัน ต้องมาลุ้นต่อไปว่าจะมีหมอดูท่านไหนออกมาทำนายดวงการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ว่าจะเป็นอย่างไร
———————————————————————–
อ้างอิง
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000090703
https://mgronline.com/daily/detail/9500000007789
https://www.the101.world/astrology/
https://www.voicetv.co.th/read/192921
https://dspace.lib.buu.ac.th/bitstream/1234567890/4442/1/2565_138.pdf
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jmbr/article/view/190901/148282
ขอบคุณ ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_99989