แนวคิดเรื่องการสร้างและพัฒนา “ผู้นำ” เพื่อให้เป็นผู้ขับเคลื่อน หรือบริหารจัดการสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์มนุษย์ให้อยู่ในรูปแบบที่ดีขึ้น รวมทั้งบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกัน ผู้นำนั้นมีหลากหลายรูปแบบ จนอาจเรียกได้ว่าเราสามารถเลือกจะเป็น “ผู้นำ” ในแบบใดก็ได้ และเราพัฒนาตัวเองเพื่อจะเป็นผู้นำในแบบที่อยากจะเป็นได้
ก่อนหน้านี้ ในเชิงทฤษฎี มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาของสหรัฐฯ ที่แบ่งพฤติกรรมของผู้นำเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ ผู้นำแบบเผด็จการ ผู้นำแบบประชาธิปไตย และผู้นำแบบเสรีนิยม ทั้ง 3 แบบมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง หลังจากนั้นก็มีการศึกษาพฤติกรรมผู้นำในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในปัจจุบัน เราได้ยินลักษณะการเป็นผู้นำอยู่ 2 รูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม ได้แก่ ผู้นำที่คล่องตัว (Agile Leadership) และผู้นำแบบผู้รับใช้ (Servant Leadership) ทั้ง 2 คำนี้มีที่มาอย่างไร ใครบ้างที่ควรจะเป็นผู้นำแบบนี้ และถ้ามีผู้นำแบบนี้เราจะได้อะไร!?..ลองอ่านดูแล้วทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน
ขอเริ่มที่แนวคิดการเป็น “ผู้นำที่เป็นผู้รับใช้” หรือ Servant Leadership คำนี้ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นแนวคิดที่พัฒนาและนำเสนอขึ้นมาโดยนายโรเบิร์ต กรีนลีฟ (Robert K. Greenleaf) ชาวอเมริกัน ผู้เป็นอดีตผู้บริหารบริษัท AT&T ของสหรัฐอเมริกาที่ผันตัวเองไปเป็นนักวิชาการ ผู้ให้คำปรึกษาแก่มหาวิทยาลัย MIT นักเขียนและผู้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับ The Servant As Leader สาเหตุที่ตัวเขาเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ Journey to the East ของนาย Hermann Hesse และจากประสบการณ์จากการทำงานในสหรัฐฯ ซึ่งเห็นว่าในยุคสมัยนั้น (ช่วงปีค.ศ.1970) อเมริกาเต็มไปด้วยผู้นำแบบ power-centered authoritarian leadership หรือในภาษาไทยอาจแปลได้ว่า “ผู้นำเผด็จการที่ชอบรวบอำนาจเอาไว้ที่ศูนย์กลาง”
คุณกรีนลีฟมีความคับข้องใจ จึงได้คิดค้นหาแนวทางที่จะเสนอรูปแบบการเป็นผู้นำใหม่ ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนองค์กร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ชอบใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ และอีกส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่า ผู้นำที่ดีควรจะเริ่มจากการมีจิตให้บริการและอยากช่วยเหลือผู้อื่นก่อน นอกจากนั้นคือ ความสามารถในการรับฟัง โน้มน้าวใจ วิเคราะห์ คาดการณ์ มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน มีความริเริ่ม มีความสามารถในการมอบอำนาจให้ผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจและเห็นคุณค่าของผู้อื่น มีความตระนักรู้ มีความเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น และมีความมุ่งมั่นเพื่อสาธารณะ
สิ่งเหล่านี้เป็นทั้ง “Character” และเป็น “แนวทาง” ให้ผู้นำได้ลองใส่ใจมากขึ้น เพื่อให้ได้เป็นผู้นำแบบที่ “ใคร ๆ ก็รัก” และมีทีมคอยสนับสนุนอยู่เสมอ เพราะผู้นำแบบนี้จะเป็นคนที่เข้าใจผู้ตามและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เฉลียวฉลาดที่จะยอมมอบอำนาจของตัวเองให้ผู้ตามได้ตัดสินใจแทน เพื่อแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ผู้นำแบบ Servant Leadership ได้รับการพิสูจน์มาบ้างแล้วว่าทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ เพราะการมีผู้นำสาย support ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีม ก่อนการรักษาหรือแสดงพลังอำนาจของตัวเอง ย่อมทำให้องค์กรมี “คนที่มีศักยภาพ” มากขึ้น เพราะผู้นำแบบนี้จะส่งเสริมโอกาสในการเติบโตให้กับคนในทีม และองค์กรก็จะมีความสามารถในการปรับตัวหลังภาวะวิกฤตได้
สำหรับตัวอย่างองค์กรที่ว่ากันว่าใช้หลักคิดแบบ Servant Leadership แล้วประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ก็เช่น Google ที่โดดเด่นด้านการใส่ใจดูแลพนักงาน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมไปถึง Starbucks ที่มีโมเดลการสนับสนุนเครือข่ายร้านค้า และวางตำแหน่งพนักงานทุกคนเป็นหุ้นส่วน หรือ Partner มากกว่าเป็นลูกน้องทั่ว ๆ ไป
การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ …สามารถนำไปใช้กับองค์กรในไทยได้หรือไม่? จากการวิจัยของหลาย ๆ องค์กรพบว่า วัฒนธรรมไทยที่ชื่นชอบการดูแลเอาใจใส่ และยอมรับความเสี่ยงได้ เรื่องนี้อาจจะทำให้การสร้างผู้นำแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่ยาก แต่ก็ยังอาจมีความท้าทายจากการที่วัฒนธรรมไทยยังมีความเป็นปัจเจกบุคคลในระดับที่น้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็น และไม่ค่อยมีการวางแผนในระยะยาว ประเด็นเหล่านี้อาจทำไห้ผู้นำที่คิดจะบริหารจัดการแบบใหม่ ต้องใช้แรงกระตุ้นอย่างมากในการนำเสนอวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและจูงใจในระยะยาว ควบคู่กับการสร้างทีมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมายต่อไป….จะเห็นได้ว่า “ผู้นำแบบผู้รับใช้” หรือ Servant Leadership เป็นแนวทางที่น่าสนใจในการเอาไปปรับใช้ เพราะมีโอกาสนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้มีทีมที่เก่ง กล้า และสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้มีประสิทธิภาพได้
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับยุคที่ทุก ๆ อย่างปรับตัวรวกเร็วและว่องไวนี้ คือ “ผู้นำแบบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้รวดเร็ว” หรือ Agile Leadership ซึ่งมีคุณลักษณะหลายอย่างที่เหมือนกับผู้นำแบบผู้รับใช้ คือ การวางบทบาทผู้นำเป็นผู้จัดสรรและหาสิ่งที่ทีมในองค์กรต้องการ ทั้งความรู้และเครื่องมือ เพื่อให้สมาชิกในทีมสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยขับเคลื่อนทีมไปด้วยความไว้วางใจ เคารพกันและกัน รวมทั้งเน้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการทำงานของทีม
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแนวคิด Agile Leadership ก็คือ การที่แนวคิดนี้พัฒนามาจากความพยายามของกลุ่มผู้พัฒนา software คอมพิวเตอร์ ที่ต้องการสร้างแนวปฏิบัติในการทำงาน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี แนวปฏิบัติดังกล่าวจึงกลายมาเป็นรูปแบบการทำงานที่สามารถตอบสนองโลกไซเบอร์ที่วุ่นวาย ผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก จนกลายเป็นแนวปฏิบัติหรือหลักการในการทำงานที่นักพัฒนา software ยึดถือกันมา ที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับ Servant Leadership เช่น “การให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ มากกว่ากระบวนการและเครื่องมือ” “บุคคลต้องการเป้าหมายและเข้าใจคุณค่าของงานที่ทำร่วมกัน” “ความเป็นผู้นำสามารถสร้างได้ทั้งองค์กร” และ “การให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากกว่าการมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนที่วางไว้” รวมทั้ง “ความเรียบง่ายคือสิ่งสำคัญ”
สะท้อนว่า วงการเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ได้ให้หลักคิดอะไรดี ๆ กับเรามากกว่าแค่เครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น
เรากำลังเห็นความเชื่อมโยงและจุดร่วมระหว่างผู้นำแบบผู้รับใช้ กับผู้นำที่พร้อมเปลี่ยนแปลง …จริง ๆ แล้วผู้นำทั้ง 2 แบบนี้อาจจะปรากฏอยู่ในตัวคน ๆ เดียว หรือทั้งทีมงานที่ขับเคลื่อนองค์กรเลยก็เป็นไปได้ เพราะสุดท้ายแล้ว พฤติกรรมมนุษย์จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม จากประสบการณ์ที่หลากหลาย และจากภาวะตามธรรมชาติ ..และท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าเราจะเป็น “ผู้นำ” อยู่หรือไม่? ต้องการเป็นหรือเปล่า? หรืออยากจะเป็นตัวเองที่เหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่? แนวคิดทั้ง 2 รูปแบบนี้อาจเป็นประโยชน์ในการเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสม โดยคุณลักษณะบางส่วนอาจเป็น “ส่วนผสม” ที่ลงตัวหากเอาไปใช้ร่วมกับภาวะผู้นำไม่ว่าจะเป็นแบบเผด็จการ ประชาธิปไตย เสรีนิยม ผู้นำตามสถานการณ์ หรือผู้นำในรูปแบบใดก็แล้วแต่!!
……..เราเชื่อว่าการเรียนรู้และปรับใช้เทคนิคใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นวิธีการที่น่าทดลอง มากกว่าการนิ่งเฉยกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจทำให้ตัวผู้นำ (leader) และผู้ตาม (follower) เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย…