ประชากร (Population) หนึ่งในสี่องค์ประกอบของความเป็นรัฐ นอกเหนือไปจากดินแดน (Territory) รัฐบาล (Government) และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ทำให้ในแง่หนึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าหากไม่มีประชากร ความเป็นรัฐก็จะก่อเกิดอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรหากจำนวนประชากรเริ่มไม่สมดุลกับทรัพยากรที่ประเทศมีอยู่ ?
Plan 75 วันเลือกตาย ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นของผู้กำกับหญิงฮายาคาวะ จิเอะ (Hayakawa Chie) เริ่มต้นด้วยฉากที่มีเค้าโครงจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2559 ที่ชายคนหนึ่งก่อเหตุสังหารผู้พิการและผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสถานดูแล Sagamihara จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน และบาดเจ็บ 26 คน โดยมีแรงจูงใจจากความคิดที่ว่าผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหล่านี้ไม่ควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป และการกระทำของเขาเป็นการทำไปอย่างกรุณา เพื่อประโยชน์แก่ญี่ปุ่นและโลก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ต่อยอดเหตุการณ์ดังกล่าวร่วมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของญี่ปุ่นในปัจจุบันในแง่ของความกังวลต่อภาวะความเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณและสวัสดิการจำนวนมากเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลออกโครงการ Plan75 ที่เปิดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการปลิดชีวิตตนเองหรือการการุณยฆาต (Euthanasia) ได้อย่างสมัครใจ โดยจะได้เงินชดเชยจำนวน 1 แสนเยน และสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อใช้ในบั้นปลายชีวิต พร้อมกับที่รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครไปจนถึงการฌาปนกิจ
ในแง่หนึ่งโครงการนี้ก็เป็นไปโดย “ความสมัครใจ” ของผู้สูงวัยอย่างปัจเจกบุคคล โดยแลกกับจำนวนเงินและสวัสดิการชดเชยที่เป็นเหมือนรางวัลในบั้นปลายก่อนจะจบชีวิตลง แต่ขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็ฉายภาพให้เห็นถึงบริบทสังคมที่ผู้สูงอายุจะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะในแง่ของการทำงานหรือหางานที่ดูจะเป็นได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ความโดดเดี่ยวจากการสูญเสียเพื่อนในวัยไล่เลี่ยกันที่ทยอยจากหาย ความคิดเห็นของสังคมที่ว่าด้วยการอุทิศชีวิตของผู้สูงวัยดังกล่าวมีคุณค่าและเป็นไปเพื่ออนาคตของชาติ ทำให้สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีครอบครัวหลงเหลืออยู่แล้ว การเลือกที่จะจบชีวิตมันช่างตอบโจทย์กว่า “ความหวัง” ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเสียเหลือเกิน
กลับกันหากเพื่อความรุ่งเรืองของชาติแล้ว คุณในวัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของชีวิตให้ผู้อื่นหรือไม่ ?
อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย การ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น ผลงานของ มาเสะ โมโทโระ (MASE motoro) และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2551 ว่าด้วยเรื่องราวในประเทศที่มีกฎหมายที่ชื่อ “กฎผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ” ซึ่งรัฐบาลจะฉีดวัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาติ หรือก็คือวัคซีนป้องกันโรคติดต่อธรรมดาให้แก่ประชากรในวัยแรกเข้าชั้นประถมศึกษาทุกคน แต่ที่พิเศษคือจะมีวัคซีนร้อยละ 0.1 ที่ผสมนาโนแคปซูล ซึ่งจะทำปฎิกิริยากับหลอดเลือดส่งผลให้หัวใจของเจ้าของร่างหยุดทำงาน ในวัย 18-24 ปี โดยผู้ที่มีนาโนแคปซูลอยู่ในร่างจะได้รับอิคิงามิหรือใบแจ้งมรณะระบุวันและเวลาก่อนเผชิญความตาย 24 ชั่วโมง ในขณะที่ครอบครัวผู้สูญเสียจะได้รับเงินค่าตอบแทนสำหรับการเสียสละในครั้งนี้
กล่าวคือประชากร 1 ใน 1,000 จะถูกกำหนดความตายไว้ล่วงหน้า โดยจะได้รับแจ้งจดหมายก่อนเสียชีวิต 24 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าประชาชน (ในวัยแรกเข้าชั้นประถม) รับทราบถึงความเสี่ยงดังกล่าวว่า วัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาตินี้เป็นไปเพื่อสร้างความตื่นตัวต่อภยันตรายที่เรียกว่าความตาย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในแง่การเพิ่มขึ้นของจีดีพี ตลอดจนอัตราการเกิดเพิ่ม ขณะที่จำนวนฆ่าตัวตายและอาชญากรรมลดลง
แม้อิคิงามิจะแตกต่างจาก Plan75 ไม่ว่าจะในแง่ของอายุของผู้ที่ต้องสละชีวิตจากวัยสูงอายุกลายเป็นวัยหนุ่มสาว หรือความสมัครใจของปัจเจกชนที่กลายเป็นการสุ่มบังคับ แต่ในความเหมือนอย่างหนึ่งคือการใช้นโยบายประชากรที่พยายามชูว่าการสละชีวิตตามนโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตของชาติ ในระดับที่ครอบคลุมทุกอาชีพไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพที่ขึ้นชื่อเรื่องความเสียสละอย่างทหารหรือตำรวจเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายประชากรส่วนใหญ่ในโลกแห่งความจริงแน่นอนว่ามุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราการเกิดมากกว่า เนื่องจากอัตราเกิดที่มีจำนวนมากตามบริบทสังคมได้สร้างความกังวลต่อการมีประชากรล้นเกิน ซึ่งไทยก็เคยปรากฏนโยบายประชากรอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2513 ที่มีสาระสำคัญมุ่งให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะการคุมกำเนิด ด้วยการทำหมันและการใช้ถุงยาง รวมถึงการรณรงค์ผ่านคำขวัญในปี 2515 อย่าง “มีลูกมาก จะยากจน” เพื่อชะลออัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้น
ปัจจุบันความกังวลกับอัตราการเกิดของไทยกลับสวนทางจากในอดีต โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าอัตราคนเกิดเมื่อปี 2565 กลับมีจำนวนน้อยกว่าคนตายถึง 93,858 คน บ่งชี้ว่าอัตราการเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรไทยกำลังติดลบ 0.1% ซึ่งน่าสนใจว่าอัตราการเกิดที่ต่ำลงนี้ อาจสะท้อนภาพสภาวะความกังวลและบริบทที่ไม่เอื้อให้คนอยากมีลูก ไม่ว่าจะเป็นรายได้ เศรษฐกิจ สวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่รองรับคนท้อง ตลอดจนการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขของเด็กที่จะเกิดมาในอนาคต
Plan 75 และอิคิงามิอาจดำเนินเรื่องราวในโลกสมมติที่ฉายภาพการเห็นประชากรเป็นเครื่องมือที่จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของรัฐ ผ่านการใช้นโยบายควบคุมประชากร โดยพยายามโน้มน้าวว่าเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตของชาติ สัมพันธ์กับการตอบสนองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เป็นที่น่ากังขาว่ารัฐมีสิทธิอันชอบธรรมขนาดไหนต่อการพรากความหวังหรือตัดสินคุณค่าการมีชีวิตของประชากร ในทำนองเดียวกันนี้ อัตราการเกิดที่ลดลงจริงในปัจจุบันก็อาจเป็นผลพวงจากความกังขาของประชากรต่อรัฐในการสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่พร้อมจะรองรับความหวังและอนาคตตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรที่ดำรงชีวิตอยู่รวมถึงที่กำลังจะกำเนิดมา
———————————————
อ้างอิง
https://www.facebook.com/hotguyinthemovies/posts/pfbid02k37Xs9DAfVcoD1JuXYxhLJ1YkHCrbSRhCMcDULMJR4F8MMbiSf7gSZt3AZ7zG78Bl?fbclid=IwAR2CAi0gvXveHmmATl5c9zB8XcjZpjgo2mxrgXy7pQscjZkB4fHhAcI1iQ4
https://en.wikipedia.org/wiki/Sagamihara_stabbings
https://urbancreature.co/aged-society/
https://filmclubthailand.com/review/film-review/plan-75/
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต, กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
http://www.cps.chula.ac.th/newcps/journalnew/myfilepdf/6-1-6-2533.pdf
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2605361
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2319640