ตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ รัฐบาลมีความพยายามระดมงบประมาณของภาครัฐไปลงทุนประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงนำเงินบำนาญมาใช้พักผ่อนและเกษียณอายุภายในประเทศไทย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand กลายเป็นกระแสภายในสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ทำให้ความต้องการท่องเที่ยวไทยมีสูงขึ้น เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าไทยปีละมากกว่า 5,000,000 คน โดยเมื่อห้วง 1-2 ปีก่อนไวรัส COVID-19 จะระบาดในไทย จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศดังกล่าวได้ทะยานขึ้นไปสู่ระดับ 10,000,000 คนต่อปี สร้างรายได้แก่ไทยถึง 60,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลกจนส่งผลให้หลายประเทศปิดการเดินทางเข้า-ออก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็ซบเซาลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยห้วงปี 2563-2564 เกิดการชะงักงันและชะลอตัว จนสำนักข่าวในไทยหลายแห่ง อาทิ The Momentum เริ่มออกมาตั้งคำถามถึงกรณีที่ไทยพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากจนเกินไปหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเห็นได้ว่าสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นร้อยละ 22 ของ GDP เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 21 และเม็กซิโก ร้อยละ 16 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และแคนาดา พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 6-7 ของ GDP
แน่นอนในระยะสั้นและกลาง ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ผูกโยงกับหลายภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่การบริการ การขนส่ง คมนาคม ค้าปลีก และเกษตรกรรมที่ร่วมกันผลิตวัตถุดิบหล่อเลี้ยงการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งในห้วง 3-5 ปีที่ผ่านมา กระแสการท่องเที่ยวในหัวเมืองรอง นอกกรุงเทพฯ ยังได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งกำลังขยายตัวออกไปยังภาคส่วนอื่นๆนอกกรุงเทพฯ มิพักกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่าตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวประจำปี 2566 จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ประเมินถึงกรณีที่ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามารวมกว่า 30,000,000 คนภายในสิ้นปี และอาจนำมาซึ่งรายได้ถึง 2,300,000,000,000 บาท ภาคธุรกิจจึงยังคงต้องอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักไปก่อน
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคส่วนด้านนโยบายและเอกชนของไทยควรให้ความตระหนักในห้วงหลังจากนี้ คือ สิ่งที่เรียกว่ากับดัก หรือคำสาปด้านทรัพยากร (Resource trap) ซึ่งหมายถึง การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งพึ่งพาทรัพยากรชนิดหนึ่งชนิดเดียวในการสร้างรายได้แก่ประเทศมากจนเกินไป ตั้งแต่ในอัตราส่วนร้อยละ 20-40 ขึ้นไป ดังเช่น กรณีที่ประเทศแถบแอฟริกาอย่างไนจีเรีย และอเมริกาใต้อย่างเวเนซูเอลามุ่งสร้างรายได้จากทรัพยากรน้ำมันมากเกินไป โดยไม่วางแผนจะพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆในประเทศขึ้นมาทดแทนกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวต่ำลง ……ไทยเองที่มีสัดส่วนการพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวถึงร้อยละ 22 ต่อ GDP เองก็เช่นกัน ย่อมมีความเปราะบาง อ่อนไหวต่อสถานการณ์ของความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นภายในประเทศ ไม่ว่าจะสถานการณ์ด้านโรคระบาด การก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการเมืองซึ่งต้องไม่ลืมว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจีน หรือไม่ว่าชาติใดนั้น แม้จะมีความชื่นชอบในสถานที่ท่องเที่ยวไทย แต่หากมีความไม่สะดวก หรือไม่ปลอดภัยอุบัติขึ้นเพราะมูลเหตุใดๆ ก็ตาม คนกลุ่มดังกล่าวก็พร้อมจะยกเลิกแผนการเดินทางมาไทยได้ในทันที
ความไม่แน่นอนข้างต้นนี้ สะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยควรวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศ คู่ขนานไปกับภาคการท่องเที่ยวในระยะยาวได้แล้ว โดยเฉพาะในโอกาสที่ปัจจุบันไทยได้รับความไว้วางใจจากอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี และยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) จากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่ง เช่น BYD, NETA V, และ Great Wall Motors ซึ่งเลือกย้ายฐานการผลิตมายังไทย เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและเกมการกีดกันทางการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน
ไทยจึงควรใช้ประโยชน์กรณีนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะผ่านการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือการลงทุนเพื่อการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกต่อนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย หากประสบความสำเร็จจะทำให้ในระยะยาวไทยสามารถยกเครื่องให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยมีศักยภาพมากขึ้น และในขณะเดียวกันเมื่อลักษณะงานอุตสาหกรรมมีความพิเศษเฉพาะตัวมากขึ้นตามรูปแบบของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นสำหรับกลุ่มแรงงานทักษะในไทย