สาธารณรัฐคาซัคสถาน
Republic of Kazakhstan
สาธารณรัฐคาซัคสถาน
Republic of Kazakhstan
เมืองหลวง นูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) เปลี่ยนชื่อจากอัสตานาเมื่อ 23 มี.ค.2562 เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ผู้นำแห่งรัฐ (Elbasy) และประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียกับอุซเบกิซสถาน พื้นที่ 2,724,900 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) รองจากรัสเซีย (ใหญ่ประมาณ 5 เท่าของไทย) แบ่งเป็นพื้นดิน 2,699,700 ตร.กม. และพื้นน้ำ 25,200 ตร.กม. มีพรมแดนทางบกยาว 13,364 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ติดรัสเซีย
ทิศตะวันออก ติดจีน
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดคีร์กีซสถาน
ทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ติดเติร์กเมนิสถานและอุซเบกิสถาน
ทิศตะวันตก จรดทะเลแคสเปียนยาว 1,894 กม.
ภูมิประเทศ ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่แผ่จากแม่น้ำวอลกาทางตะวันตกไปถึงเทือกเขาอัลไตทางตะวันออก และมีที่ราบไซบีเรียทางเหนือ โอเอซิสและทะเลทรายทางใต้
วันชาติ 16 ธ.ค. (ปี 2534) วันแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียต
นายคาซีม-โยมาร์ต โตคาเยฟ
Kassym-Jomart Kemelyevich Tokayev
(ประธานาธิบดีคาซัคสถาน)
ประชากร 19,042,081 คน (ส.ค.2564) ประกอบด้วย ชาวคาซัค (Qazaq) 68% รัสเซีย 19.3%
อุซเบก 3.2% ยูเครน 1.5% อุยกูร์ 1.5% ตาตาร์ 1.1% เยอรมัน 1% และอื่น ๆ 4.4%
การก่อตั้งประเทศ ชาวคาซัคเป็นเชื้อชาติผสมระหว่างชนเผ่าชาวเตอร์กิชและชาวมองโกล ต่อมารัสเซียเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ในศตวรรษที่ 18 และคาซัคสถานกลายเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2479 และเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 16 ธ.ค.2534
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 แคว้น (provinces) และ 4 เมือง มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 28 ม.ค.2536 และจัดการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อ ส.ค.2538 ต่อมาปรับแก้ไขเมื่อ พ.ค.2550 (ปรับลดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 7 ปี เหลือ 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกัน) และ ก.พ.2554 (เลื่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เร็วขึ้นจากปี 2555 เป็น เม.ย.2554 และให้คงวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี) ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญคาซัคสถาน ประธานรัฐสภาจะเข้ารับตำแหน่งหากประธานาธิบดีเสียชีวิต ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่
ประธานาธิบดีนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2533 ประกาศลาออกเมื่อ 19 มี.ค.2562 พร้อมแต่งตั้งนายนายคาซึม-โจมาร์ท โทคาเยฟ ประธานรัฐสภา (ในขณะนั้น) รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี มีผลตั้งแต่ 20 มี.ค.2562 ก่อนจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคาซัคสถานเมื่อ 9 เม.ย.2562 เลื่อนขึ้นจากกำหนดเดิมใน เม.ย.2563 ซึ่งนายโตคาเยฟได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคาซัคสถานคนใหม่ (ประธานาธิบดีคนที่ 2) ด้วยคะแนนเสียง 70.96% จากการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยรอบแรกคัดเลือกผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาเลือกตั้งในรอบที่ 2 (รอบแรกมีผู้สมัคร 7 คน) ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโตคาเยฟเข้าพิธีรับตำแหน่งเมื่อ 12 มิ.ย.2562 พร้อมกับแต่งตั้งนางดาริกา นาซาร์บาเยฟ บุตรสาวคนโตของอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา รวมถึงการประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากอัสตานา (Astana) เป็นนูร์-ซุลตัน (Nur-Sultan) อย่างไรก็ดี นายนาซาร์บาเยฟ (อดีตเลขาธิการ
พรรคคอมมิวนิสต์คาซัคสถานตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต) อดีตประธานาธิบดีคนแรก (ได้รับเลือกตั้งเมื่อ 1 ธ.ค.2534 ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 สมัย ประกาศลาออกเมื่อ 19 มี.ค.2562) ยังคงสถานะเป็นผู้นำแห่งรัฐ (Elbasy) หัวหน้าพรรค Nur Otan Democratic People’s Party และคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจแต่งตั้งและปลดนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของรัฐสภา คาซัคสถานประกาศคุณสมบัติของผู้สมัครประธานาธิบดีใหม่ เมื่อ 11 ก.ค.2560 กำหนดให้ผู้สมัครต้องเป็นพลเรือนคาซัคสถานที่มีประสบการณ์การทำงานภาครัฐไม่น้อยกว่า 5 ปี มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เกิดที่คาซัคสถาน และพำนักในคาซัคสถานอย่างน้อย 15 ปี และพูดภาษาคาซัคได้ดี โดยยังคงวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวละ 5 ปี ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา คือ 1) สภาผู้แทนราษฎร (Mazhilis) มีสมาชิก 107 ที่นั่ง (98 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 9 ที่นั่งมาจากการเลือกของสมัชชาประชาชนคาซัคสถาน ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาของประธานาธิบดี) วาระ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 10 ม.ค.2564 พรรค Nur Otan ของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟชนะด้วยคะแนนเสียง 71.09% (มี ส.ส. 76 คน ลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 ที่ได้รับเลือกจำนวน 84 คน) พรรค Ak Zhol ได้รับเลือก 10.95% (มี ส.ส. 12 คน) พรรค People’s Party (ชื่อเดิม Communist People’s Party) ได้รับเลือก 9.1% (มี ส.ส. 10 คน) และพรรคอื่น ๆ ได้รับเลือกรวม 8.86% สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2569 และ 2) วุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก 49 ที่นั่ง (ประธานาธิบดีแต่งตั้ง 15 ที่นั่ง และสภาท้องถิ่นแต่งตั้ง 34 ที่นั่ง) วาระ 6 ปี โดยสมาชิกกึ่งหนึ่งต้องเลือกตั้งใหม่ ทุก 3 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 12 ส.ค.2563 ทั้งนี้ คาซัคสถานอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง จากเดิมกำหนดขั้นต่ำพรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ต้องได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนไม่ต่ำกว่า 7% ให้เหลือเพียง 5%
ฝ่ายตุลาการ : แบ่งเป็น ศาลสูง ได้แก่ ศาลฎีกา (44 คน) และศาลรัฐธรรมนูญ (7 คน) ประธานาธิบดีเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาตามคำแนะนำของคณะตุลาการศาลฎีกา และผ่านการรับรอง
จากวุฒิสภา ปกติผู้พิพากษาศาลฎีกาปฏิบัติงานได้ถึงอายุ 65 ปี แต่ขยายเวลาได้ถึงอายุ 70 ปี ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งสมาชิกศาลรัฐธรรมนูญได้คนละ 2 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี นอกจากนี้
ยังมีศาลอื่น ๆ ได้แก่ ศาลประจำภูมิภาคและศาลท้องถิ่น ทั้งนี้ ระบบศาลของคาซัคสถานใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายโรมัน-เยอรมันในทางทฤษฎี และอิทธิพลจากรัสเซียในทางปฏิบัติ Judicial branch
พรรคการเมือง : Nur Otan (NO) หรือ Light-Fatherland เป็นพรรครัฐบาล ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ ได้แก่ Ak Zhol (Bright Path), People’s Party of Kazakhstan (QKHP) (ชื่อเดิม Communist Party of Kazakhstan, Auyl People’s Patriotic Democratic Party (Auyl) และ Adal
เศรษฐกิจ คาซัคสถานมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อาทิ น้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว ปริมาณ 30,000 ล้านบาร์เรล มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โครเมียม ทองแดง สังกะสี เฉพาะอย่างยิ่งยูเรเนียม โดยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2552 ทั้งนี้ ปี 2562 ผลิตมากถึง 43% ของการผลิตโลก อีกทั้งมีความร่วมมือกับหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย จีน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อินเดีย สำหรับปี 2563 ผลิต 23% ของการผลิตโลก
นอกจากนี้ ยังมีขีดความสามารถทางการเกษตรเพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่สำหรับการเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ แม้ผลิตผลด้านการเกษตรยังไม่สูงนัก การปฏิรูประบบเศรษฐกิจและแปรรูปรัฐวิสาหกิจระหว่าง
ปี 2538-2540 ส่งผลให้เศรษฐกิจคาซัคสถานขยายตัวอย่างมาก โดยเติบโตขึ้น 4 เท่าในระหว่างปี 2548-2558 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติสูงถึง 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ ได้แก่
รัสเซีย สหรัฐฯ จีน และยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงาน
เศรษฐกิจของคาซัคสถานพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 60% ของการส่งออกทั้งหมด (คาซัคสถานส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่งหลายเส้นทาง อาทิ ท่อส่งน้ำมันจากแปลง Tengiz ทางตะวันตกของคาซัคสถานไปยังเมืองท่า Novorossiysk ริมทะเลดำของรัสเซีย ซึ่งเปิดใช้เมื่อปี 2543
ท่อส่งน้ำมันไปจีนตั้งแต่ปลายปี 2548 และเริ่มส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่ง Baku-Tbilisi-Ceyhan ระหว่างอาเซอร์ไบจาน-จอร์เจีย-ตุรกี เมื่อปี 2551 เพื่อลดการพึ่งพารัสเซียในการส่งออกน้ำมัน) แต่การพึ่งพารายได้จากภาคพลังงานเป็นหลัก ทำให้สภาพเศรษฐกิจของคาซัคสถานมีความเสี่ยงตามความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก คาซัคสถานจึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การขนส่ง เวชภัณฑ์ โทรคมนาคม ปิโตรเคมี และการแปรรูปอาหาร ตามยุทธศาสตร์ Kazakhstan 2050 ที่ประกาศเมื่อ ธ.ค.2555 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ที่มีเป้าหมายการติดอันดับหนึ่งใน 30 ประเทศแรกของโลก
ที่มีการพัฒนามากที่สุดภายในปี 2593 ขณะที่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึงระดับความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2603
นอกจากนี้ คาซัคสถานยังประกาศยุทธศาสตร์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเป็นระยะ เช่น ยุทธศาสตร์การลงทุนแห่งชาติระหว่างปี 2561-2565 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง (เมื่อปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 156,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเมื่อปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 143,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติระหว่างปี 2561-2565 เพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่ทรัพยากร โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการส่งออกเป็น 2 เท่าของปี 2558 ภายในปี 2568 มีการกำหนดตลาดเป้าหมายการส่งออกไว้ 27 ประเทศ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับความสนใจของรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มที่ให้ความสำคัญมากที่สุด กลุ่มที่ให้ความสำคัญมาก กลุ่มที่ให้ความสำคัญ และกลุ่มที่มีศักยภาพการส่งออกในระยะยาว
คาซัคสถานยังพยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันด้วยการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ Nurly Zhol (The Path to the Future)
เมื่อ ก.ย.2557 เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดและแรงผลักดันจากแนวคิดการพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โดยคาซัคสถานตั้งเป้าหมายการลงทุนตามแผนดังกล่าวสูงกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 และคาดหวังจะได้ประโยชน์จากการเป็นเส้นทางขนส่งเชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป จึงมีความร่วมมือกับหลายประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่นในการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟ
สำหรับแผนพัฒนาโครงการแห่งชาติที่ประกาศในปี 2564 กำหนดเป้าหมายระยะกลางถึงปี 2568 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 15.9 ล้านล้านเทงจาคาซัคสถาน มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 5% มุ่งการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมและนวัตกรรม ศูนย์กลางด้านปิโตรเคมีและพลังงาน อุตสาหกรรมด้านธรณีวิทยา และการส่งออกที่ไม่ใช่พลังงาน พร้อมตั้งเป้าหมายการเป็นประเทศ “Open economy” และพัฒนาจากอันดับที่ 93 (ปี 2561) สู่อันดับ 55 ในปี 2568 โดยตัวชี้วัดดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Economic Complexity Index-ECI) ที่ใช้วัดความหลากหลายของสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตได้ โดยปี 2562 อยู่อันดับที่ 78
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Kazakhstani Tenge (KZT) หรือเทงจาคาซัคสถาน
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 431.24 KZT : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 100 KZT : 7.59 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ต.ค.2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 170,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ธ.ค.2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.5% (ต.ค.2564)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 11,075 ดอลลาร์สหรัฐ (ธ.ค.2563)
ทุนสำรองทองคำและเงินตราระหว่างประเทศ : 35,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2564)
แรงงาน : 8.77 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ 64% อุตสาหกรรม 21% เกษตรกรรม 15% (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : 4.9% (มี.ค.2564)
อัตราเงินเฟ้อ : 8.9% ขณะที่กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ 4.6% (ต.ค.2564)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ได้เปรียบดุลการค้า 1,707 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส.ค.2564)
มูลค่าการส่งออก : 5,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส.ค.2564)
สินค้าส่งออก : น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โลหะจำพวกเหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล ธัญพืช ขนสัตว์ เนื้อสัตว์ ถ่านหิน
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อิตาลี 18% จีน 12% เนเธอร์แลนด์ 11% รัสเซีย 10% ฝรั่งเศส 6% (ส.ค.2564)
มูลค่าการนำเข้า : 3,709 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส.ค.2564)
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์จากโลหะ ผลิตภัณฑ์อาหาร
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : รัสเซีย 34% จีน 17% เยอรมนี 5.1% สหรัฐฯ 4.3% อิตาลี 3% (ส.ค.2564)
ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ยูเรเนียม แร่เหล็ก แร่แมงกานีส แร่โครเมียม ทองคำ นิกเกิล โคบอลต์ ทองแดง โมลิบดีนัม ตะกั่ว สังกะสี และบอกไซต์
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : การจัดกำลังทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ของคาซัคสถานส่วนใหญ่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต จัดตั้ง กห.คาซัคสถาน ปี 2535 มีการปรับปรุงและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่เข้าประจำการต่อเนื่องโดยนำเข้าจากรัสเซียกว่า 80% สำหรับความร่วมมือทางทหารมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย
ให้สัตยาบันข้อตกลงกับรัสเซียในการจัดตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศร่วมระหว่างสองประเทศเมื่อ พ.ค.2557 และร่วมฝึกรบในกรอบขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization-SCO) และ
กรอบองค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization-CSTO) รัสเซียสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์และการป้องกันทางอากาศแก่คาซัคสถาน เช่น เฮลิคอปเตอร์ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และรถหุ้มเกราะ ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างเหล่าทัพยังล่าช้า การประจำการกำลังพลส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก เกือบทั้งหมดอยู่ที่อัลมาตี ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง คาซัคสถานมีกำลังทางทหารใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอุซเบกิสถาน
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
กำลังพลรวม : ปี 2563 จำนวน 39,000 นาย งบประมาณด้านการทหารปี 2564 ประมาณ 1,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1% ของ GDP ซึ่งลดลงจากปี 2563
ทบ. 20,000 นาย แบ่งเป็น 4 มณฑลทหาร ได้แก่ อัสตานา ตะวันออก ตะวันตก และใต้ ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.หลัก (MBT) T-72BA 300 คัน ยานลาดตระเวน (RECCE) 100 คัน (รุ่น BRDM-2 40 คัน และ BRM-1 60 คัน) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) 607 คัน (รุ่น BMP-2, BTR-80A) ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ แบบ APC 432 คัน (รุ่น MT-LB, BTR-3E, BTR-80 และ Arlan) แบบ AUV ไม่ต่ำกว่า 17 คัน
(รุ่น Cobra; SandCat) รถลากจูงสะเทินน้ำสะเทินบกอเนกประสงค์รุ่น MT-LB เครื่องปล่อยขีปนาวุธ MSL
ไม่ต่ำกว่า 3 ระบบ (รุ่น SP BMP-T; HMMWV, MANPATS 9K111 Fago) ปืนต่อต้านรถถังลำกล้องขนาด
11 มม. 68 คัน (รุ่น MT-12/T-12) ปืนใหญ่ 611 กระบอก (แบบ SP, TOWED, GUN/MOR, MRL, MOR) อาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น Tochka (SS-21 Scarab) 12 ชุด
ทร. 3,000 นาย มีเรือลาดตระเวนและเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 14 ลำ (แบบ PCGM, PCC, PBF, PB) เรือขุดทุ่นระเบิด 1 ลำ (รุ่น Alatau) เรือสำรวจ 1 ลำ (รุ่น Zhaik) และยานรบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก 70 คัน (รุ่น BTR-82A)
ทอ. 12,000 นาย มี บ.รบรวม 113 เครื่อง เป็น บ.ขับไล่ 45 เครื่อง (แบบ MiG-29 Fulcrum 12 เครื่อง MiG-29UB Fulcrum 2 เครื่อง และ MiG-31/MiG-31BM Foxhound 31 เครื่อง) บ.ขับไล่/โจมตีภาคพื้นดิน 54 เครื่อง (แบบ MiG-27 Flogger D, MiG-23UB Flogger C, Su-27 Flanker, Su-27UB Flanker และ Su-30SM) และ บ.โจมตี 14 เครื่อง (แบบ Su-25 Frogfoot และ Su-25UB Frogfoot) บ.ลาดตระเวน/สอดแนมแบบ An-30 Clank 1 เครื่อง บ.ขนส่ง 19 เครื่อง และ บ.ฝึก 19 เครื่อง (แบบ L-39 Albatros และ Z-242L) ส่วน ฮ.โจมตี 32 เครื่อง (แบบ Mi-24V Hind และ Mi-35M Hind) ฮ.อเนกประสงค์ 26 เครื่อง (แบบ Mi-17V-5 Hip 20 เครื่อง และ Mi-171Sh Hip 6 เครื่อง) ฮ.ขนส่ง 16 เครื่อง (แบบ Mi-26 Halo 4 เครื่อง Bell-205 (UH-1H Iroquois) 4 เครื่อง และ H145 จำนวน 8 เครื่อง) อากาศยานไร้คนขับขนาดใหญ่ 2 ลำ (รุ่น Wing Loong พัฒนาโดยจีน) ระบบต่อต้านอากาศยานจากพื้นสู่อากาศไม่ต่ำกว่า 40 ระบบ (ระยะไกล รุ่น S-200, S-300, S-300PS กลาง รุ่น 2K11 Krug, S-75M Volkhov ใกล้ รุ่น 2K12 Kub, S-125 Neva, 9K35 Strela-10) ระบบอากาศสู่อากาศ ระบบจรวดนำวิถี (รุ่น R-60, R-73) ระบบนำทาง
เรดาห์ (รุ่น R-27, R-33, R-77) ระบบอากาศสู่พื้น (รุ่น Kh-23, Kh-25, Kh-27, Kh-29, Kh-58)
กห. 4,000 นาย
กำลังกึ่งทหาร 31,500 นาย แบ่งเป็นกองกำลังรักษาความมั่นคงประจำ มท. 20,000 นาย
กองกำลังรักษาความปลอดภัยรัฐบาล 2,500 นาย และกองกำลังรักษาชายแดนประมาณ 9,000 นาย โดยมี บ. 7 เครื่อง (รุ่น An-26 Curl, An-74T, An74TK, SSJ-100) ฮ. 15 เครื่อง (รุ่น Mi-171, Mi171Sh) มีเรือลาดตระเวนและเรือตรวจการณ์ 22 ลำ (รุ่น Almaty, Sardar, Zhuk, Aibar, FC-19, Saygak) นอกจากนี้ ยังส่งทหารร่วมกับสหประชาชาติประจำในซาฮาราตะวันตก (MINURSO) และเลบานอน (UNIFIL) และร่วมกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปประจำในยูเครนและมอลโดวา
ปัญหาด้านความมั่นคง
ภัยคุกคามจากการแพร่ขยายแนวคิดสุดโต่งทางศาสนาและกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะ กลุ่ม Islamic State (IS) เนื่องจากมีชาวคาซัคไปร่วมกับกลุ่ม IS ที่ซีเรียและอิรัก ซึ่งทางการคาซัคสถานกังวลว่า กลุ่มคนเหล่านี้อาจนำแนวคิดนิยมความรุนแรงกลับมาเผยแพร่และก่อเหตุในคาซัคสถาน จึงพยายามสกัดกั้นการก่อเหตุด้วยการจับกุมผู้จัดหาสมาชิกและเผยแพร่แนวคิด และผู้เดินทางไปร่วมรบ โดยใช้วิธีการทางกฎหมาย และการใช้กำลังหากขัดขวาง/ต่อสู้ เช่น คาซัคสถานออกกฎหมายตัดสิทธิความเป็นพลเรือนสำหรับประชาชนที่ทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและความมั่นคงแห่งชาติ (จัดหา เข้าร่วม กระทำการที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์สำคัญของชาติ หรือวางแผนสังหารประธานาธิบดี) เมื่อ 11 ก.ค. 2560 ตลอดจนวางแผน
เพิ่มงบประมาณ 4 เท่าหรือ 837 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในห้วงปี 2561-2565 เพื่อใช้ในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย
นอกจากนี้ ปี 2564 แม้คาซัคสถานไม่มีพรมแดนติดกัน แต่ก็เฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในกลุ่มเอเชียกลางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน อีกทั้งคาซัคสถาน
มีบทบาทสนับสนุนกลไกของ UN อาทิ การจัดตั้ง สนง.องค์การสหประชาชาติชั่วคราว ในคาซัคสถาน
เพื่อรองรับ จนท.ที่ต้องย้ายออกจากอัฟกานิสถาน
ความสัมพันธ์ไทย-คาซัคสถาน
ด้านการทูต ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคาซัคสถานเมื่อ 6 ก.ค.2535 ไทยมี สอท. ณ อัสตานา และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี ส่วนคาซัคสถานมี สอท. ที่กรุงเทพฯ และ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำ จ.ชลบุรี นอกจากนี้ เมื่อ 11 พ.ค.2559 ครม.อนุมัติการเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถานประจำกรุงเทพฯ และแต่งตั้งนายกำพล ศุภรสหัสรังสี ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำ จ.ชลบุรี (โดยมีเขตกงสุลครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด) ส่วนกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งนางสาวไอกุล สุลตาโนวา (Miss Aigul Sultanova) เป็น Trade Representative ณ อัสตานา คาซัคสถาน เริ่มปฏิบัติภารกิจเมื่อ 15 ธ.ค.2559 เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการ และส่งเสริมการลงทุนของไทยในคาซัคสถาน สำหรับปี 2564 สถานกงสุลกิตติมศักดิ์คาซัคสถาน จ.ภูเก็ต เริ่มเปิดทำการอย่างเป็นทางการ โดยมีนายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกประจำ จ.ภูเก็ต
ด้านการเมือง ไทยและคาซัคสถานมีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันหลายครั้ง โดยประธานาธิบดีคาซัคสถานเยือนไทย เมื่อปี 2536 และ นรม.ไทยเยือนคาซัคสถาน เพื่อร่วมประชุมสุดยอด CICA ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2549 ไทยและคาซัคสถานมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน (Joint Commission for Bilateral Cooperation-JC) เป็นเวทีในการทบทวน ติดตาม และผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในมิติต่าง ๆ มีการประชุมร่วมกันมาแล้ว 3 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 ห้วง 21-22 ต.ค.2545 ที่อัสตานา ครั้งที่ 2 ห้วง 21-22 มิ.ย.2555 ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ 3 ห้วง 21-22 มิ.ย.2560 ที่อัสตานา ซึ่งครบรอบ 25 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับคาซัคสถาน นอกจากนี้ ไทยเข้าร่วมงาน Astana Expo 2017 ที่คาซัคสถาน ระหว่าง 10 มิ.ย.-10 ก.ย.2560 ภายใต้แนวคิด “Future Energy” คาซัคสถานสนับสนุนไทย ในการสมัครเป็นสมาชิก CICA ซึ่งเป็นกรอบการประชุมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียที่คาซัคสถานริเริ่มขึ้น โดยไทยเข้าเป็นสมาชิก CICA เมื่อ ต.ค.2547 ขณะที่ไทยสนับสนุนคาซัคสถานเข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD) โดยที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์รับคาซัคสถานเข้าเป็นสมาชิกระหว่างการประชุมรัฐมนตรี ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 21 มิ.ย.2546 นอกจากนี้ คาซัคสถานขอรับการสนับสนุนจากไทยในการสมัครเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum (ARF)
ด้านเศรษฐกิจ คาซัคสถานเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในเอเชียกลางของไทย การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ห้วง ม.ค.-ธ.ค.2562 มีมูลค่า 109.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 92.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 119,400 ดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกของไทยไปคาซัคสถาน ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์ เครื่องจักรกล โพลิเมอร์ และสินค้าปลีกสำเร็จรูป ส่วนสินค้านำเข้าจากคาซัคสถาน ได้แก่ สินแร่โลหะ แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไทยลงทุนในคาซัคสถาน 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาซัคสถานลงทุนในไทย 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันคาซัคสถานมีการลงทุนด้านการท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต มูลค่าประมาณ 155 ล้านบาท โดยขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับแรงงานไทยในคาซัคสถานเมื่อปี 2558 มีจำนวน 193 คน ส่วนใหญ่ทำงานที่เมือง Atyrau และ Aktau ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน ผู้ประกอบอาหารและพนักงานสปาในเมืองใหญ่ของคาซัคสถาน มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานในไทย 57,236 คน ปี 2560 (เพิ่มขึ้น 19%) สร้างรายได้ 3,727 ล้านบาท
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน (21 ก.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-คาซัคสถาน (3 พ.ค.2539 โดยผลการเจรจาการบินระหว่างผู้แทนเมื่อ 7 ส.ค.2561 ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ตกลงปรับปรุงสิทธิการบิน และข้อบทเพื่อเพิ่มโอกาสการบินระหว่างกัน ความตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมคาซัคสถาน (29 ส.ค.2546) พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-คาซัคสถาน (20 ต.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องเมืองพัทยาและเมืองชิมเคนท์ (ปี 2545) ความตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอัสตานาและกรุงเทพฯ (บ้านพี่เมืองน้อง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านข้าราชการพลเรือนไทย-คาซัคสถาน (ปี 2547) ไทยและคาซัคสถานลงนามข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ/หนังสือเดินทางราชการ (ก.ค.2560) และการลงนามความร่วมมือโครงการก่อสร้างสายส่งก๊าซระยะที่ 5 (เฟส 2 ระยะทางยาว 200 กม.) ระหว่าง บมจ.ปตท. กับ บจ.KazStroyService ของคาซัคสถาน เมื่อ 27 มิ.ย.2561
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับรัฐบาล ภายหลังนายนาซาร์บาเยฟ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคาซัคสถานยาวนานกว่า 28 ปี ลาออก เมื่อ 19 มี.ค.2562 เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ โดยมีนายนายคาซึม-โจมาร์ท โทคาเยฟ อดีตประธานรัฐสภา และเป็นบุคคลใกล้ชิด รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี และภายหลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกัน นายโทคาเยฟ ได้ปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี และ จนท.ระดับสูงจำนวนมาก
2) การแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศต่อการรับมือสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ทั้งในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ที่มีนโยบายมุสลิมสายกลาง
3) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีอุซเบกิสถานเป็นคู่เปรียบเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง
4) การรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระดับทวิภาคีกับรัสเซีย จีน และสหรัฐฯ รวมถึงระดับพหุภาคี อาทิ บทบาทในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union-EAEU) ร่วมกับรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน กรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่ม 5 ประเทศเอเชียกลาง กับสหรัฐฯ USA and 5 Central Asian Foreign Ministers หรือ C5+1 (สหรัฐฯ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน)