เมืองหลวง อัมมาน
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาระเบีย ระหว่างเส้นละติจูด 29 องศา 11 ลิปดา-33 องศา 22 ลิปดาเหนือกับลองจิจูด 34 องศา 59 ลิปดา-39 องศา 18 ลิปดาตะวันออก พื้นที่ 89,342 ตร.กม. (พื้นดิน 88,802 ตร.กม. น่านน้ำ 540 ตร.กม.) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 113 ของโลก และเล็กกว่าไทยประมาณ 5.7 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 6,830 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับซีเรีย 379 กม.
ทิศใต้ ติดกับทะเลแดง 26 กม. และซาอุดีอาระเบีย
ทิศตะวันออก ติดกับซาอุดีอาระเบีย 731 กม. และอิรัก 179 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับอิสราเอล 307 กม. ทะเลสาบ Dead Sea 50 กม.
เขตเวสต์แบงก์ (ปาเลสไตน์) 148 กม.
ภูมิประเทศ ทางตะวันออกส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย ทางตะวันตกเป็นที่ราบสูงและป่าเมดิเตอร์เรเนียน มีหุบเขา Great Rift กั้นระหว่างจอร์แดนกับเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์และอิสราเอล มีพื้นที่ต่ำสุดของโลก คือ ทะเลสาบ Dead Sea ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,378 ฟุต (408 ม.) จุดที่สูงที่สุดในประเทศ คือ ภูเขา Umm adDami สูง 1,854 ม. พื้นที่เพาะปลูก 11.4%
ภูมิอากาศ แบบผสมระหว่างเมดิเตอร์เรเนียนกับแห้งแล้งแบบเขตทะเลทราย โดยทางตอนเหนือและตะวันตกสภาพอากาศเป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน มี 2 ฤดู คือ ฤดูหนาว ช่วง พ.ย.-มี.ค. มีฝนตกและมีหิมะตก
ในอัมมาน อุณหภูมิเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนในช่วงที่เหลือของปี อากาศร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติที่เคยประสบ ได้แก่ ภัยแล้งและแผ่นดินไหว
ศาสนา อิสลาม (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) 97.2% คริสต์ 2.2% (ส่วนใหญ่นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์) อื่น ๆ (พุทธ ฮินดู ยูดาย และไม่มีศาสนา) 0.6%
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษใช้อย่างแพร่หลายในการติดต่อธุรกิจ ราชการ รวมทั้งในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูง
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 98.2% จำนวนปีเฉลี่ยของการเข้ารับการศึกษาของประชาชน คือ 13 ปี
วันชาติ 25 พ.ค. (วันได้รับเอกราชจากอาณัติของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2489)
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2
His Majesty King Abdullah Ibn al Hussein
(ประมุขของประเทศ)
ประชากร 10,775,049 คน (ปี 2563 สำนักงานสถิติจอร์แดน)
รายละเอียดประชากร เป็นชาวอาหรับ 97.4% (ชาวจอร์แดน 69.3% แรงงานและผู้อพยพชาวซีเรีย 13.3% ชาวปาเลสไตน์ 6.7% ชาวอียิปต์ 6.7% ชาวอิรัก 1.4%) และอื่น ๆ 2.6% (เซอร์คัสเซียนและอาร์เมเนียน) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 33.05% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 63.27% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.67% อายุเฉลี่ยของประชากร 23.5 ปี อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 75.5 ปี เพศชาย 74 ปี เพศหญิง 77.1 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 23.5 ปี เพศชาย 23.9 ปี เพศหญิง 22.9 ปี อัตราการเกิด 23 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.4 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.4%
การก่อตั้งประเทศ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) สหราชอาณาจักร ซึ่งได้อาณัติในการปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง แบ่งเขตกึ่งปกครองตนเอง Transjordan ออกจากปาเลสไตน์ ต่อมา สหราชอาณาจักรร้องขอต่อสันนิบาตชาติ เพื่อให้เอกราช Transjordan เมื่อปี 2489 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นราชอาณาจักร “จอร์แดน” ตั้งแต่ปี 2493 โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 1 เป็นผู้ปกครองพระองค์แรก อนึ่ง ความพ่ายแพ้ในสงคราม 6 วันกับอิสราเอลเมื่อปี 2510 ส่งผลให้จอร์แดนต้องสูญเสียดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เขตเวสต์แบงก์) ให้อิสราเอล ก่อนที่จะตัดสินใจประกาศสละการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2531
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 7 ก.พ.2542 เจ้าชายฮุเซน พระราชบุตรองค์โต ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ก.ค.2552
ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีอำนาจแต่งตั้ง นรม. และ นรม. แต่งตั้ง ครม.
โดยผ่านความเห็นชอบของสมเด็จพระราชาธิบดี นรม.คนปัจจุบัน คือ นายบิชิร อัลเคาะศาวนะฮ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 ต.ค.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มี 2 สภาได้แก่ 1) วุฒิสภา (Majlis al-Ayan หรือ House of Notables) สมาชิก 65 คน แต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี มีวาระ 4 ปี 2) สภาผู้แทนราษฎร (Majlis al-Nuwaab หรือ House of Representatives) สมาชิก 130 คน วาระ 4 ปี โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วน/บัญชีรายชื่อ 115 คน (ในจำนวนนี้ มีโควตาที่สงวนไว้สำหรับชนกลุ่มน้อย 12 คน แบ่งเป็น ชาวคริสต์ 9 คน และผู้ที่มีเชื้อสายเชเชน หรือ Circassian อีก 3 คน) ที่เหลือเป็นโควตาที่สงวนไว้สำหรับสตรี 15 คน การเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อ 10 พ.ย.2563 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2567)
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายมีพื้นฐานจากหลักกฎหมายอิสลามและระบบกฎหมายแบบ Civil Law มีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ส่วนผู้พิพากษาคนอื่น ๆ มาจากการเสนอชื่อของสภาตุลาการสูงสุดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงพิจารณารับรอง นอกจากนี้ ยังมีศาลศาสนา และศาลพิเศษอื่น ๆ เช่น ศาลภาษี ศาลทหาร และศาลคดีความมั่นคง
พรรคการเมือง : แบ่งเป็น 5 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ฝ่ายอิสลามนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม ชาตินิยมอาหรับ และสายกลาง พรรคการเมืองสำคัญ เช่น 1) Jordanian Arab Socialist Ba’ath Party 2) Arab Ba’ath Progressive Party 3) Jordanian Democratic People’s Party 4) Jordanian Democratic Popular Unity Party 5) Islamic Action Front นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญ เช่น 1) Anti-Normalization Committee 2) Jordan Bar Association 3) Jordanian Press Association และ 4) Jordanian Muslim Brotherhood
เศรษฐกิจ แบบเสรีนิยม เศรษฐกิจมีขนาดเล็กที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ขาดแคลนน้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงภาคการเงินการธนาคาร เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น การแก้ไขปัญหา
ความยากจน การว่างงาน เงินเฟ้อ และการขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ดี ภาคเศรษฐกิจของจอร์แดนยังคงอ่อนแอ แม้จะดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามเงื่อนไขของ IMF แล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดจากโรค COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอน
ในภูมิภาค ทั้งยังส่งผลต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของจอร์แดน จึงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจอร์แดนอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ จอร์แดนเป็นประเทศที่จัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยจัดทำกับสหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป (EU) ตูนิเซีย แอลจีเรีย ลิเบีย อิรัก ตุรกี และซีเรีย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนารจอร์แดน (Jordanian dinar:JOD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 0.709 ดีนารจอร์แดน
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 0.023 ดีนารจอร์แดน (ต.ค.2563)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 43,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2562 ของธนาคารโลก)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.3% (ปี 2563 สำนักงานสถิติจอร์แดน)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 4,330.32 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2562 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 1,377,905 คน (ปี 2562 สำนักงานสถิติจอร์แดน)
อัตราการว่างงาน : 23% (ปี 2563 สำนักงานสถิติจอร์แดน)
อัตราเงินเฟ้อ : 1.68% (ปี 2563 สำนักงานสถิติจอร์แดน)
ผลผลิตทางการเกษตร : ส้ม มะเขือเทศ แตงกวา มะกอก และสตรอเบอร์รี
ผลผลิตอุตสาหกรรม : การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปุ๋ย โพแทซ เหมืองแร่ฟอสเฟต เวชภัณฑ์ ปิโตรเลียมกลั่น เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเบา
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 536.1 ล้านดีนารจอร์แดน (ปี 2563 สำนักงานสถิติจอร์แดน) หรือขาดดุลประมาณ 756.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 5,902.2 ล้านดีนารจอร์แดน (ปี 2562 สำนักงานสถิติจอร์แดน) หรือประมาณ 8,32
4.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปุ๋ย โพแทช เวชภัณฑ์ ฟอสเฟต และพืชผัก
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ 19.3%, ซาอุดีอาระเบีย 12.1%, อินเดีย 9.82%, อิรัก 8.54%, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.03%
มูลค่าการนำเข้า : 13,729.1 ล้านดีนารจอร์แดน (ปี 2562 สำนักงานสถิติจอร์แดน) หรือประมาณ 19,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : รถยนต์ ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม เวชภัณฑ์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ซาอุดีอาระเบีย 16.7%, จีน 13.4%, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6.9%, สหรัฐฯ 6.54%, เยอรมนี 4.45%
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทรัพยากรธรรมชาติ : ฟอสเฟต โพแทซ และน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil)
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณด้านการทหาร 1,691 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4.62% ของ GDP (ปี 2562) กำลังพลรวม ทหาร 100,500 นาย (เป็น ทบ. 86,000 นาย ทร. 500 นาย และ ทอ. 14,000 นาย) ตำรวจ (Gendarmerie) 15,000 นาย กำลังสำรอง 65,000 นาย โดยเป็นกำลังสำรอง ทบ. 60,000 นาย กำลังสำรองร่วม 5,000 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น FV4034 Challenger 1 (Al Hussein) จำนวน 100 คัน (เตรียมปลดประจำการ) รุ่น M60A3 จำนวน 182 คัน รุ่น M60A3 (274 FV4030/2 Khalid) จำนวน 182 คัน รถถังเบา รุ่น FV101 Scorpion จำนวน 19 คัน รถถังโจมตี รุ่น B1 Centauro จำนวน 141 คัน รถรบทหารราบ (IFV) รุ่น AIFV-B-C25 จำนวน 13 คัน รุ่น Marder 1A3 จำนวน 50 คัน รุ่น Ratel-20 จำนวน 321 คัน รุ่น YPR-765 PRI จำนวน 336 คัน รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) มากกว่า 879 คัน ยานยนต์อเนกประสงค์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Cougar จำนวน 35 คัน ปืนใหญ่แบบต่าง ๆ อย่างน้อย 1,393 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศชนิดป้องกันเป็นจุด (point-defence) อย่างน้อย 140 ลูก
ทร. ได้แก่ เรือเร็วตรวจการณ์ (PBF) รุ่น Response Boat-Medium (RB-M) จำนวน 2 ลำ
เรือตรวจการณ์ (PB) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 7 ลำ หน่วยนาวิกโยธินมีเรือสะเทินน้ำสะเทินบก 1 ลำ
ทอ. ได้แก่ บ.โจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-16AM Fighting Falcon จำนวน 33 ลำ รุ่น F-16BM Fighting Falcon จำนวน 14 ลำ บ.โจมตี (ATK) รุ่น AC235 จำนวน 2 ลำ บ.ลาดตระเวน (ISR) รุ่น AT-802U Air tractor จำนวน 10 เครื่อง ฮ.โจมตี (ATK) รุ่น AH-1F Cobra จำนวน 12 ลำ ฮ.อเนกประสงค์ (MRH) รุ่นต่าง ๆ จำนวน 14 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ประเภทลาดตระเวนรบ (CISR)
และประเภทลาดตระเวนหาข่าว (ISR) ไม่ปรากฏจำนวน อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยไกล จำนวน
40 ลูก พิสัยกลาง จำนวน 24 ลูก อาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศ (AAM) และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่ผิวพื้น (ASM) ไม่ปรากฏจำนวน
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) จอร์แดนแบกรับภาระผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง มีผู้ลี้ภัยในจอร์แดนที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) ประมาณ 750,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย
มีจำนวน 661,997 คน เป็นเด็ก 51% และผู้สูงอายุ 4% (พ.ย.2563) และมีผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น เช่น อิรัก เยเมน ซูดาน และโซมาเลีย ประมาณ 90,000 คน ซึ่งการดูแลผู้ลี้ภัยสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ต่อจอร์แดน แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Food Programme-WFP) เมื่อ ก.ค.2563 ประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็ตาม
2) การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในค่ายผู้ลี้ภัย เนื่องจากจอร์แดนมีค่ายผู้ลี้ภัย Zaatari ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีค่ายผู้ลี้ภัยอื่นอีกหลายแห่ง ทำให้การป้องกัน
การแพร่ระบาดของโรคทำได้ยาก และต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก
3) เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างมากจากผลกระทบของโรค COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การใช้จ่ายเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่เพิ่มขึ้น การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ความเสียหายจากการขาดรายได้ภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญหนึ่งของจอร์แดน ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของจอร์แดนไม่อาจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ความสัมพันธ์ไทย-จอร์แดน :
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยและจอร์แดนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 10 พ.ย.2509 จนกระทั่งในช่วงก่อนเกิดสงครามสหรัฐฯ บุกโจมตีอิรักเมื่อ มี.ค.2546 เจ้าหน้าที่ สอท.ไทย ณ แบกแดด
ได้อพยพออกจากอิรัก และตั้งสำนักงานชั่วคราวในอัมมาน จอร์แดน ภายหลังไทยได้เปิด สอท.ไทย ณ อัมมาน เป็นการถาวร และมีภารกิจครอบคลุมอิรัก
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2562 การค้าระหว่างไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 159.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,514.63 ล้านบาท) ไทยส่งออกไปจอร์แดน 152.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,726.9 ล้านบาท) และนำเข้าจากจอร์แดน 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (212.3 ล้านบาท) ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าจอร์แดน 145.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,514.63 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 การค้าไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 84.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,626.88 ล้านบาท) ไทยส่งออก 102.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,221.24 ล้านบาท) และนำเข้า 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (325.9 ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปจอร์แดน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผ้าผืน และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผ้าผืน
สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ปรากฏข้อมูล มีคนไทยในจอร์แดนประมาณ 647 คน (ปี 2563)
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากจอร์แดนเดินทางมาไทย มีจำนวน 11,333 คน และในช่วง ม.ค.-ส.ค. 2562 มีจำนวน 7,768 คน และในช่วง ม.ค.-ก.ย. 2563 คนสัญชาติจอร์แดนมาไทย (เพื่อการท่องเที่ยวและวัตถุประสงค์อื่น ๆ) มีจำนวน 3,255 คน
ข้อตกลงสำคัญ : กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ลงนามเมื่อ 30 ก.ค.2547) บันทึกความเข้าใจด้านการบิน (24 ส.ค.2548) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (15 ธ.ค.2548) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (19 มิ.ย.2549)