ญี่ปุ่น
Japan
ญี่ปุ่น
Japan
เมืองหลวง โตเกียว
ที่ตั้ง ทางตะวันออกของทวีปเอเชียและตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเส้นละติจูดที่ 20-45 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 123-154 องศาตะวันออก พื้นที่ 377,972 ตร.กม. (0.3% ของพื้นที่โลก) ประกอบด้วย เกาะใหญ่ที่สำคัญ คือ ฮอกไกโด (83,424 ตร.กม.) ฮอนชู (231,231 ตร.กม.) ชิโกกุ (18,804 ตร.กม.) คิวชู (42,232 ตร.กม.) และโอกินาวา (2,281 ตร.กม.) ส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 33,889 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ มีทะเลโอคอตสค์กั้นระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย
ด้านตะวันตก มีทะเลญี่ปุ่นกั้นระหว่างญี่ปุ่นกับคาบสมุทรเกาหลีและจีน
ด้านตะวันออก จรดมหาสมุทรแปซิฟิก
ทิศใต้ จรดทะเลฟิลิปปินส์
ภูมิประเทศ ตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลก 3 แผ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุด (ฟูจิสูง 3,776 ม.) พื้นที่ป่า 250,000 ตร.กม. (67%) พื้นที่การเกษตร 50,000 ตร.กม. (12%) และพื้นที่ปลูกสร้าง 20,000 ตร.กม. (5%) มีแม่น้ำรวม 10 สาย แม่น้ำชินาโนะยาวที่สุด 367 กม.
วันชาติ 11 ก.พ. (เป็นวันก่อตั้งประเทศญี่ปุ่น)
นายคิชิดะ ฟูมิโอะ
Kishida Fumio
(นรม.ญี่ปุ่น)
ประชากร 125.71 ล้านคน (ปี 2564)
รายละเอียดประชากร จำนวนประชากรญี่ปุ่นเมื่อปี 2564 มีมากเป็นอันดับ 11 ของโลก แต่มีแนวโน้มลดลง อย่างต่อเนื่องจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญกับสภาวะขาดแคลนแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งแรงงานภาคการบริการและภาคเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างประเทศมากขึ้น โดยปรับปรุงกฎหมายขยายระยะเวลาการพำนักอยู่ญี่ปุ่นให้กับแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2561 เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 345,000 คนในปี 2568 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง (Womenomics) โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและเพิ่มโอกาสการเติบโตทางการทำงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
การก่อตั้งประเทศ การปกครองของญี่ปุ่นแบ่งเป็นยุคโบราณและยุคปัจจุบัน ยุคปัจจุบันซึ่งเริ่มในสมัยจักรพรรดิเมจิ มีการปฏิรูปการเมือง การปกครอง สังคมและวัฒนธรรม มีการติดต่อกับชาติตะวันตก นโยบายชาตินิยมทำให้ญี่ปุ่นรุกรานประเทศเพื่อนบ้านและเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามเมื่อ 14 ส.ค.2488 ทำให้ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังพันธมิตร นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งได้ร่างรัฐธรรมนูญให้กับญี่ปุ่น โดยจำกัดบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นไม่ให้ก่อสงครามขึ้นอีกในอนาคต ญี่ปุ่นได้รับอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาหลังการลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2494
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุด และนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร สมเด็จพระจักรพรรดิมีฐานะเป็นประมุขรัฐ
สถาบันกษัตริย์ กษัตริย์ญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดิที่ปัจจุบันมีเพียงพระองค์เดียวในโลก และมาจากพระราชวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งสืบทอดต่อเนื่องนานที่สุดในโลก หรือเป็นเวลานานกว่า 2,600 ปี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทและพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 3 พ.ค.2490 ให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชน รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุให้ทรงสามารถแต่งตั้ง นรม.ตามที่รัฐสภาเสนอ และแต่งตั้งประธานผู้พิพากษาศาลฎีกาตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และมาตรา 7 สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ได้ โดยอาศัยคำแนะนำและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่ 1) ประกาศแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญาต่าง ๆ 2) เรียกประชุมรัฐสภา 3) ยุบสภาผู้แทนราษฎร 4) ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5) ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งแต่งตั้ง หรือถอดถอนรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งแต่งตั้งเอกอัครราชทูต 6) ลงพระปรมาภิไธยในการนิรโทษกรรม อภัยโทษ เลื่อนการประหาร และการคืนสิทธิต่าง ๆ 7) พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 8) ลงพระปรมาภิไธยที่เกี่ยวกับการให้สัตยาบัน และเอกสารการทูตอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด 9) รับคณะทูตและพระราชอาคันตุกะ และ 10) ประกอบพระราชพิธี
ปัจจุบันสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น คือ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะหรือสมเด็จ พระจักรพรรดิองค์ที่ 126 (เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 1 พ.ค.2562 และเป็นการเริ่มนับรัชสมัยเรวะปีที่ 1) พระองค์ประสูติเมื่อ 23 ก.พ.2503 และทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมารเมื่อ 23 ก.พ.2534 ทรงสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยกะกุชูอิน และทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยมอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งถือเป็นรัชทายาทในราชวงศ์ญี่ปุ่นพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ ซึ่งเป็นสามัญชนและเป็นนักการทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 9 มิ.ย.2502 มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าหญิงไอโกะ
ปี 2563 ญี่ปุ่นจัดพระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายฟูมิฮิโตะแห่งอากิชิโนะเป็นมกุฏราชกุมารอากิชิโนะเมื่อ 8 พ.ย.2563 อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤติเรื่องการสืบราชสมบัติ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นปี 2490 ระบุให้ผู้สืบราชสมบัติจะต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันราชวงศ์ญี่ปุ่นเหลือพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า (บุรุษ) เพียง 3 พระองค์ คือ มกุฏราชกุมารอากิชิโนะ (พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ) เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ (พระโอรสในมกุฏราชกุมารอากิชิโนะและว่าที่องค์ รัชทายาทอันดับที่ 2) และเจ้าชายมาซาฮิโตะ (พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ) จึงเกิดข้อถกเถียงเรื่องการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้ผู้สืบราชสมบัติเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ก็ได้ รวมถึงเห็นควรให้เจ้าหญิงทุกพระองค์มิต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์หากเสกสมรสกับสามัญชน และสถาปนาคืน พระยศให้กับพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่กลับมาดำรงพระยศเดิมได้
ฝ่ายบริหาร : นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มาจากการคัดเลือกของรัฐสภาตามมติของรัฐสภา ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมาก กรณีรัฐบาลมาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภา นรม.จะเป็นผู้คัดเลือกคณะรัฐมนตรีก่อนเสนอชื่อให้รัฐสภารับรอง หากพรรครัฐบาลไม่ได้ครองเสียงข้างมาก คณะรัฐมนตรีจะมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้รัฐสภารับรองก่อนเสนอรายชื่อต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 18 คน และครึ่งหนึ่งต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 21 ตำแหน่ง (รวมนายกรัฐมนตรี) โดยมีการปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด หลังนายคิชิดะ ฟูมิโอะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อ 5 ต.ค.2564 ต่อจากนายสึกะ โยชิฮิเดะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ ก.ย.64
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภา (Diet) เป็นระบบ 2 สภา
1) วุฒิสภา สมาชิกมีวาระ 6 ปี ปัจจุบันมีจำนวน 245 คน แต่มีการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทุก 3 ปี จำนวนรอบละ 124 ที่นั่ง การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุดเมื่อ 21 ก.ค.2562 พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) และพรรคร่วมรัฐบาลพรรคโคเม (Komeito Party-KP) ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้พรรครัฐบาลยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยจำนวนที่นั่ง 141 ต่อ 104 ที่นั่ง
2) สภาผู้แทนราษฎร มีวาระ 4 ปี มีสมาชิกจำนวน 465 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (Single Member Constituency) เขตละ 1 คน จำนวน 289 คน และระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (Proportional Representation) จำนวน 176 คน ผู้มีสิทธิสมัครเป็น ส.ส.และสมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่นต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 31 ต.ค.2564 หลังนายคิชิดะ ฟูมิโอะประกาศยุบสภาเมื่อ ต.ค.2564 โดยพรรค LDP ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้นายคิชิดะ หัวหน้าพรรค ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา และศาลครอบครัว สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งประธานผู้พิพากษาศาลฎีกาตามการเสนอของคณะรัฐมนตรี
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรค ปัจจุบันพรรครัฐบาล ได้แก่ 1) พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) ก่อตั้งเมื่อปี 2498 ปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หัวหน้าพรรคคือ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ 2) พรรคโคเม (Komeito Party-KP หรืออดีต New Komeito Party) ก่อตั้งโดยสมาชิกขององค์กรพุทธศาสนาขนาดใหญ่ คือ สมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) เมื่อปี 2541 ปัจจุบันเป็นพันธมิตรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค LDP
พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ 1) พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (Constitutional Democratic Party of Japan-CDPJ) เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ก่อตั้งเมื่อ 2 ต.ค.2560 ก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 22 ต.ค.2560 โดยแยกออกมาจากพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party Japan-DPJ หรือมินชินโต) แกนนำคือนายเอดาโนะ ยูกิโอะ มีแนวทางคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 สนับสนุนให้ยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว และระงับการขึ้นภาษีการบริโภค ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของพรรค LDP 2) พรรคแห่งความหวัง (Party of Hope หรือ Kibo no To) ก่อตั้งโดยนางยูริโกะ โคอิเกะ อดีต รมว.กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลพรรค LDP และอดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว เป็นพรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ คัดค้านการขึ้นภาษีการบริโภค แต่มีแนวนโยบายด้านความมั่นคงเหมือนพรรค LDP คือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และสนับสนุนการไปเคารพศาลเจ้ายาสุคุนิ 3) พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (Japan Communist Party-JCP) ก่อตั้งเมื่อ ก.ค.2465 คัดค้านนโยบายของพรรค LDP ในทุกประเด็น และต้องการมีนโยบายต่างประเทศที่ยืดหยุ่นต่อประเทศเพื่อนบ้านในประเด็นทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 320,000 คน และ
4) พรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น (Japan Innovation Party-JIP) หรือ Nippon Ishin no Kai หรือ NIK ก่อตั้งเมื่อ ต.ค.2558 โดยกลุ่มการเมือง Initiative from Osaka 5) พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party-SDPJ) เดิมชื่อพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น (Japan Socialist Party-JSP) ก่อตั้งเมื่อปี 2488 มีแนวคิดต่อต้านลัทธิทหารนิยม และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสมัย นรม.ยูกิโอะ ฮาโตยามะ (ปี 2552-2553) แต่ต่อมาถอนตัว เนื่องจากไม่พอใจข้อตกลงการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ 6) พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (Democratic Party for the People-DPP) ก่อตั้งเมื่อ 7 พ.ค.2561 จากการรวมตัวของนักการเมืองพรรค DPJ และพรรคแห่งความหวัง 7) พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan-DPJ) เป็นพรรคการเมืองสายกลาง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากพรรค LDP ก่อตั้งเมื่อ 27 เม.ย.2541 จากการยุบรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก 4 พรรค ต่อมาเมื่อ 27 มี.ค.2559 พรรค DPJ ได้ยุบรวมกับพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น 8) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party-LP) ก่อตั้งในชื่อ People’s Life Part เมื่อ ธ.ค.2555 และ 9) พรรคกลุ่มอิสระ (The Group of Independents/ Mushozoku no Kai) จัดตั้งเมื่อ 7 พ.ค.2561 จากการรวมกันของนักการเมืองพรรค DPJ และพรรคแห่งความหวัง
การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด (Prefecture) และระดับเทศบาลในแต่ละจังหวัด (Municipal) โดยแบ่งออกเป็น 47 จังหวัด 1,718 เทศบาล รวม 23 เมืองและโตเกียว โดยมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (Local Elections) ได้แก่ ผู้บริหารราชการส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล และการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกทุกองค์กรมีวาระ 4 ปี เว้นแต่ประชาชนจะลงคะแนนให้ยุบสภาเสียก่อน โดยปกติจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่นใหม่ทุก 4 ปี ในช่วง เม.ย.-พ.ค. เรียกว่า การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นรวมทั่วประเทศ
เศรษฐกิจ ญี่ปุ่นมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 (รองจากสหรัฐฯ และจีน) และมีศักยภาพการแข่งขันสูงอันดับ 6 ของโลก (จาก Global Competitiveness Index 2021) รองจากสิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีปัจจัยบวกด้าน อัตราภาษี กฎระเบียบแรงงานเข้มงวด และนวัตกรรม ญี่ปุ่นมีปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยมอันดับ 5 ของโลก แรงงานคุณภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นโยบายทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีคิชิดะมุ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นอันดับแรก หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 ต.ค.2564 โดยระยะสั้นเตรียมผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นพร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคเอกชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อุดหนุนด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค COVID-19 รวมถึงสนับสนุนการขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากต่างชาติมายังญี่ปุ่น
ขณะที่ระยะยาวจะมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤต COVID-19 โดยผลักดันนโยบายทุนนิยมใหม่ (New Capitalism) ที่เน้นเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการกระจายรายได้ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลาง เช่น ฏิรูประบบภาษีและสวัสดิการด้านการศึกษาและผู้สูงอายุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในชนบทญี่ปุ่น รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น พร้อมมุ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นมีบทบาทนำด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาคเอเชียตามยุทธศาสตร์ Green Growth Economy ที่เป้าหมายให้ญี่ปุ่นปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon neutrality) ในปี 2593
นอกจากนี้ จะมุ่งสานต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีสึกะ โยชิฮิเดะ ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคที่ 4 และการดำเนินนโยบายสังคม 5.0 ควบคู่กับการปฏิรูปการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการกระจายตัวของรายได้ที่เป็นธรรม รวมถึงการเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินงบประมาณแบบได้ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะสำเร็จภายในปีงบประมาณ 2568 โดยเน้นการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม
ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan-BOJ) ประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2564 (1 เม.ย.2564-31 มี.ค.2565) เพิ่มขึ้น 3.4% และคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2565 (1 เม.ย.2565-31 มี.ค.2566) จะเพิ่มขึ้น 2.9% และในปีงบประมาณ 2566 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) จะเพิ่มเป็น 1.3%
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เยน (JPY)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 113.63 เยน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 3.43 : 1 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 4,975,415.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มี.ค.2564)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0.5% (มี.ค.2564)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 39,538.9 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 0.4% (ส.ค.2564)
หนี้สาธารณะ : 224.9%
อันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาล : Standard & Poor’s : A+, Moody’s : A1 และ Fitch : A
อัตราการว่างงาน : 2.8% (ก.ค.2564)
ปีงบประมาณ : 1 เม.ย.-31 มี.ค.
งบประมาณปี 2564 : 938,610,431,500 ดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ความมั่นคงทางสังคม 33.6%
ภาระหนี้รัฐบาล 22.3% รัฐบาลท้องถิ่น 15% สาธารณูปโภค 5.7%
การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 5.1% การป้องกันประเทศ 5%
รับมือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 4.7% และ อื่น ๆ 8.7 %
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 1,285,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.64)
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : การส่งออก 560,322,304 ดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า 559,088,610 ดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค-ก.ย.2564)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุลการค้า 1,233,694 ดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้า : สหรัฐฯ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ไทย อินเดีย
สหราชอาณาจักร และปานามา
ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า : ซาอุดีอาระเบีย จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การ์ตา รัสเซีย
อิตาลี อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ และคูเวต
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ (19.3%) จีน (19%) เกาหลีใต้ (7.6%) ไต้หวัน (5.8%)
ฮ่องกง (5.1%) ไทย (4.2%)
สินค้าส่งออกสำคัญ : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก
และเหล็กกล้า มอเตอร์
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็กกล้า
และอัญมณี
ความมั่นคงและการทหาร ญี่ปุ่นจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น (National Security Council) เมื่อปี 2556 เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในทุกมิติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีส่วนร่วมพิจารณางบประมาณและจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกับกระทรวงการคลังและกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2556 ซึ่งยุทธศาสตร์หลักที่กำหนดกรอบนโยบายความมั่นคงและต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ มีแผนปรับปรุงยุทธศาสตร์ดังกล่าวในห้วงกลางปี 2565 และคาดว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.2565 ซึ่งประเด็นที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มให้น้ำหนักมากขึ้นในยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุง ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การรับมือกับการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีน ความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีฐานที่มั่นศัตรู และการกระชับความร่วมมือกับชาติพันธมิตรความมั่นคง เช่น กลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย) สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
ขีดความสามารถทางทหาร ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางทหารสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร (จาก Stockholm International Peace Research Institute-SIPRI) แม้ถูกจำกัดบทบาททางการทหารภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพและสันติ (Idealistic and Pacific Nature) ปี 2490 โดยสหรัฐฯ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ระบุว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำสงครามและจะไม่มีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ญี่ปุ่นพยายามเพิ่มบทบาททางทหาร ได้แก่ เปลี่ยนชื่อทบวงป้องกันประเทศเป็นกระทรวงกลาโหม เมื่อ 9 ม.ค.2550 แต่ยังใช้คำเรียกกองทัพต่าง ๆ ด้วยคำว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” (Self-Defense-Force) แบ่งเป็นกองกำลังป้องกันตนเองทางบก (Ground Self-Defense Force-GSDF) กองกำลังป้องกันตนเองทางเรือ (Maritime Self-Defense Force-MSDF) และกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ (Air Self-Defense Force-ASDF) นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังประจำคณะประสานภารกิจ คณะเสนาธิการร่วม และหน่วยข่าวกรองทางทหาร
รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการกระชับความร่วมมือทางการทหารกับมิตรประเทศ ได้แก่ 1) ความตกลงว่าด้วยการจัดหาและการบริการต่างฝ่าย (Acquisition and Cross-Servicing Agreement) เพื่อเอื้อต่อการเสริมสร้างศักยภาพทางทหารร่วมกันผ่านการฝึกร่วม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางทหารและยุทโธปกรณ์ระหว่างกัน โดยญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงดังกล่าวกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย และออสเตรเลียแล้ว 2) ความตกลงด้านการถ่ายทอดยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี (Transfer of Defence Equipment and Technology) เพื่อเอื้อต่อการส่งออกยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ หลังยกเลิกการห้ามส่งออกอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารเมื่อปี 2557 โดยล่าสุดญี่ปุ่นลงนามความตกลงดังกล่าวกับอินโดนีเซียเมื่อ 30 มี.ค.2564 และเวียดนามเมื่อ 11 ก.ย.2564 และ 3) ความตกลงเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการฝึกทหารร่วมกัน (Agreement Facilitating Joint Military Exercises) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกำลังพลและบุคลากรของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และกองทัพออสเตรเลียระหว่างการฝึกทางทหารร่วมกัน เฉพาะอย่างยิ่งการผ่อนปรนมาตรการตรวจคนเข้าเมือง
งบประมาณทางทหาร กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2564จำนวน 5.31 ล้านล้านเยน หรือ 46,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.5 % จากงบประมาณปี 2563 นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นร้องขอการจัดสรรงบประมาณกลาโหมประจำปี 2565 จำนวน 5.48 ล้านล้านเยน หรือ 48,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ทางทหาร เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 และขีปนาวุธโจมตีภาคพื้นดิน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้าน ความมั่นคงทางอวกาศ ไซเบอร์และอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากประเทศรอบบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาค
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ตั้งขึ้นเมื่อ 1 ก.ค.2497 นรม.ญี่ปุ่นเป็นผู้บัญชาการสูงสุด (Chief of Commander) ผลสำรวจของ Global Fire Power ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 ประเมินว่าญี่ปุ่นมีแสนยานุภาพทางทหารเป็นอันดับ 5 จาก 138 ประเทศ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมีกำลังพลประจำการจำนวน 319,000 นาย และกำลังสำรองพร้อมรบจำนวน 55,000 นาย โดยเป็นกำลังพลของ GSDF จำนวน 150,850 นาย MSDF จำนวน 45,364 นาย และ ASDF 46,950 นาย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจำนวน 3,996 คน นอกจากนี้ ยังมีกำลังคนที่สามารถเข้าร่วมกองกำลัง จำนวน 43,714,252 คน กองกำลังป้องกันฯ มียุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยุทโธปกรณ์ทางบก ได้แก่ รถถัง 1,004 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 5,500 คัน กองกำลังปืนใหญ่สำหรับการป้องกันระยะไกล ประกอบด้วย ปืนใหญ่ลากจูง 480 กระบอก ปืนใหญ่อัตตาจร 214 คัน และเครื่องยิงจรวด 99 เครื่อง ยุทโธปกรณ์ทางอากาศ มีเครื่องบินประจำการทั้งหมด 1,480 เครื่อง เช่น เครื่องบินขับไล่ 256 เครื่อง เครื่องบินอเนกประสงค์ 134 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ 552 เครื่อง และ ยุทโธปกรณ์ทางทะเล มีเรือประจำการทั้งหมด 155 ลำ ประกอบด้วย เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ เรือพิฆาต 37 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ เรือดำน้ำ 20 ลำ เรือลาดตระเวน 6 ลำ และทุ่นระเบิด 21 รายการ
ภัยคุกคามต่อความมั่นคง
มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ของแต่ละประเทศยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของญี่ปุ่นในต่างประเทศ เช่น กรณีฐานการผลิตญี่ปุ่นในจีน ที่กระบวนการผลิตหยุดชะงักจากมาตรการ ปิดเมืองและมาตรการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เข้มงวดจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของจีน ทำให้ภาคการผลิตของญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะขาดแคลนสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผลกระทบดังกล่าวกระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตจากจีนมากเกินไป ด้วยการดึงฐานการผลิตสำคัญกลับมายังญี่ปุ่น และกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังอนุมัติงบประมาณสนับสนุนบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing ซึ่งเป็นภาคเอกชนผู้ผลิต semiconductor รายใหญ่ของโลก ที่มีแผนขยายฐานการผลิต semiconductor มายัง จ.คุมาโมโตะ ญี่ปุ่นในปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มทำการผลิตได้เต็มรูปแบบในปี 2567 แผนขยายฐานการผลิตดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งของห่วงโซ่การผลิต semiconductor ระหว่างประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงพยายามแก้ไขปัญหาทางการเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่น โดยรัฐบาลเรียกร้องให้ทางการเกาหลีเหนือส่งกลับชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวจำนวน 17 คน แต่ทางการเกาหลีเหนือยืนยันว่ามีเพียงจำนวน 13 คนเท่านั้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการระงับการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากเกาหลีเหนือ และไม่อนุญาตให้เรือและเรือขนส่งสินค้าสัญชาติเกาหลีเหนือจอดเทียบท่าเรือญี่ปุ่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติคงมาตรการกดดันเกาหลีเหนือจนกว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่กลับมาดำเนินการอีก (Complete, Verifiable and Irreversible Denuclearization) รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ และประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมุ่งผลักดันประสานความร่วมมือเพื่อจัดประชุมสุดยอดญี่ปุ่น – เกาหลีเหนือ และส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นประสานความร่วมมือกับจีนและมองโกเลียอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี การเจรจาเพื่อจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสองประเทศยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเกาหลีเหนือยังไม่มีท่าทีตอบรับหรือสนใจที่จะจัดประชุมในลักษณะดังกล่าวกับญี่ปุ่น
แม้ญี่ปุ่นหวาดระแวงจีนว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง แต่ญี่ปุ่นยังคงพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญและเป็นฐานการผลิตของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามประสานความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนผ่านภาคเอกชน เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคเอกชนญี่ปุ่น-จีน ในประเทศที่สาม (Japan-China Private Economic Cooperation in Third Countries) เช่น การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor-EEC) และโครงการโรงกลั่นน้ำมันในคาซัคสถาน พร้อมทั้งเปิดโทรศัพท์สายด่วนทางทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันในทะเลจีนตะวันออก
1) ข้อพิพาทบริเวณหมู่เกาะเซ็นกากุ/เตียวหยูกับจีน โดยญี่ปุ่นอ้างความชอบธรรมจากการที่สหรัฐฯ ยึดเกาะโอกินาวาผนวกกับหมู่เกาะเซ็นกากุหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่จีนอ้างว่าหมู่เกาะเซ็นกากุถูกญี่ปุ่นบุกยึดครองพร้อมกับไต้หวันเมื่อปี 2438 แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคืน หมู่เกาะดังกล่าวทั้งหมดให้จีนเนื่องจากแพ้สงคราม ปัจจุบัน หน่วยลาดตระเวนชายฝั่งและกองกำลังป้องกันตนเองทางเรือของญี่ปุ่นตรึงกำลังโดยรอบบริเวณดังกล่าว และญี่ปุ่นมีการประท้วงจีนอย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมใกล้บริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อ มี.ค.2564 ญี่ปุ่นเพิ่มกองเรือเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวบริเวณ หมู่เกาะเซ็นกากุ ประกอบด้วย เรือลาดตระเวนจำนวน 12 ลำ ประจำการอยู่ที่เกาะอิชิกากิ ในจังหวัดโอกินาวา และเรือสังเกตการณ์จำนวน 3 ลำ ประจำการที่ท่าเรือคาโกชิม่า จังหวัดโอกินาวา
2) ข้อพิพาทบริเวณหมู่เกาะคูริล (Kuril)/ดินแดนทางเหนือ (Northern Territories) โดยญี่ปุ่นครอบครองมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ภายหลังแพ้สงครามถูกสหภาพโซเวียตบุกยึดครองดินแดน และกลายเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซีย โดยห้วงที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจรจาจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย (Peace Treaty) ส่งผลให้ญี่ปุ่นและรัสเซียพยายามผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหมู่เกาะคูริล เพื่อลดความตึงเครียดและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ดี การจัดการข้อพิพาทข้างต้นเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากทั้งสองประเทศยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว สะท้อนจากรายงานนโยบายต่างประเทศประจำปีของ กต.ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2561 ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น (under the sovereignty of Japan)
3) ข้อพิพาทบริเวณเกาะทาเคชิมะ (Takeshima) /เกาะด็อกโด (Dokdo) อยู่ห่างจากญี่ปุ่น 157 กิโลเมตร และห่างจากเกาหลีใต้ 92 กิโลเมตร สภาพเกาะเป็นโขดหินที่ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และคาดว่าจะมีแหล่งน้ำมันด้วย โดยญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์มาโดยตลอด ขณะที่เกาหลีใต้เริ่มอ้างกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2493 และรักษาสิทธิ์ในการครอบครองด้วยการตรวจตราเกาะเป็นประจำทุก 3 ปี นอกจากนี้ กองทัพเกาหลีใต้ได้เริ่มการซ้อมรบเพื่อปกป้องเกาะด็อกโดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 และทำการฝึกปีละ 2 ครั้งมาตั้งแต่ปี 2546
จากสถานการณ์ก่อการร้ายที่มีแนวโน้มซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย โดยอนุมัติกฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย (Anti-Terrorism Special Measures law) เมื่อปี 2554 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการควบคุมการเข้าเมือง การข่าวกรอง มาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ การปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย และตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายญี่ปุ่น (Counter-Terrorism Unit Japan-CTU-J) รับผิดชอบภารกิจด้านการต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรงเมื่อปี 2558 พร้อมทั้งลงนามความตกลงต่อต้านการก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency-IAEA) และอนุมัติกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism Bill) เมื่อ พ.ค.2560 ที่จะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (United Nations Convention against Transnational Organized Crime-UNTOC)
ขณะที่กลุ่มโอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) ยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศที่รัฐบาลญี่ปุ่นเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง กลุ่มดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 โดยนายมัตซึโมโตะ ชิซูโอะ หรือนายโชโกะ อาซาฮาระ รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้ายและยังคงติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มมีแนวทางการสอนการฝึกจิต การเข้าสมาธิ และโยคะ เพื่อให้ถึงการรู้แจ้งมีความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายต่อต้านรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 2531 กลุ่มโอมชินริเกียวลงทะเบียนเป็นกลุ่มศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของญี่ปุ่น และปี 2533 พยายามมีบทบาททางการเมืองนายอาซาฮาระ และสมาชิกกลุ่มลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ชื่อพรรคชินริ (Shinri) หรือ Supreme Truth Party แต่แพ้การเลือกตั้ง ทำให้เกิดความไม่พอใจสังคมเพิ่มขึ้น
ปฏิบัติการครั้งสำคัญของกลุ่ม คือ สาวกของลัทธิโอมชินริเกียวปล่อยก๊าซพิษซารินเหลวโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียว 5 จุด (มารุโนะอุจิ 2 สาย ฮิบิยะ 2 สาย จิโยดะ 1 สาย) ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เมื่อ 20 มี.ค.2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บสาหัส 50 คน และบาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน นอกจากนี้ กลุ่มโอมชินริเกียวได้เผยแพร่คำทำนายความหายนะครั้งใหญ่จนนำไปสู่วันสิ้นโลก (Doomsday) ภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค.2554 เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ภายหลังการจับกุมแกนนำและสาวกกลุ่มโอมชินริเกียวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซพิษในสถานีรถไฟใต้ดิน สำนักความปลอดภัยสาธารณะของญี่ปุ่นยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่ม โอมชินริเกียวแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาเลฟ (เปลี่ยนชื่อจากโอมชินริเกียว) ยึดมั่นแนวทางของนายอาซาฮาระ และกลุ่ม Hikari no Wa (Circle of Rainbow Light) ยึดมั่นแนวทางของนายฟูมิฮิโระ โจยู
นอกจากนี้ ยังปรากฏความเคลื่อนไหวของสาวกกลุ่มโอมชินริเกียวปลูกฝังอุดมการณ์ให้สมาชิกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน โดยปี 2559 รัฐบาลมอนเตเนโกรสั่งเนรเทศชาวต่างชาติที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มโอมชินริเกียวเป็นชาวญี่ปุ่น 4 คน และชาวรัสเซีย 43 คน และมีการตรวจพบภายหลังว่า กลุ่มดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนโจมตีมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่งผลให้รัสเซียกำหนดให้กลุ่มโอมชินริเกียวเป็นกลุ่มก่อการร้ายเมื่อ ก.ย.2559 ทั้งนี้ แม้ว่าเมื่อ 6 ก.ค.2561 แกนนำกลุ่ม โอมชินริเกียวและสมาชิกคนสำคัญทั้ง 13 คน ได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้วแต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น : สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 26 ก.ย.2430 และมีความตกลงแลกเปลี่ยนผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2484 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อไทยในทุกมิติ และถือว่าไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อการแข่งขันกับจีนด้านความมั่นคงและการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ทำให้ญี่ปุ่นและไทยมีความร่วมมือระหว่างกันครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และวิทยาการ พร้อมทั้งมีการกระชับความร่วมมือให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ
สถานการณ์การเมืองของไทยในห้วงปี 2549 และ 2557 มีความละเอียดอ่อนและสร้างความห่วงกังวลให้ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยลดระดับลงและจีนเริ่มมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลไทยประกาศ Roadmap การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณเชิงบวกและแสดงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยมากขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความยินดีต่อการจัดการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562 และแสดงความหวังที่กระชับความสัมพันธ์กับไทยต่อไป
การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ญี่ปุ่นและไทยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการหารือทวิภาคอย่างเป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยเดินทางเยือนญี่ปุ่นสำคัญ ดังนี้ 1) 8-10 ก.พ.2558 เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ตามการเชิญของ นรม.ญี่ปุ่น 2) 13-14 มี.ค.2558 เข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยพิบัติครั้งที่ 3 ที่เมืองเซนได 3) 2-4 ก.ค.2558 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่โตเกียว 4) 8-9 ต.ค.2561 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ที่โตเกียว 5) 28-29 มิ.ย.2562 เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในฐานะประธานอาเซียน และ 6) 21-24 ต.ค.2562 เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ
สำหรับปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2564 ทำให้งดแลกเปลี่ยน การเยือนระหว่างผู้นำ โดยปรับมาเป็นการหารือทางโทรศัพท์ โดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์หารือทางโทรศัพท์กับ อดีตนายกรัฐมนตรีสึกะ โยชิฮิเดะ เมื่อ 9 เม.ย.2564 เน้นหารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ
สถิติชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้าไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำปี 2564 (ม.ค.-ก.ย. 2564) มีจำนวน 3,261 คน (ลดลง 98.98%) มากเป็นอันดับที่ 18 สถิติของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2562 ระบุว่ามีชาวญี่ปุ่นที่พำนักในไทยจำนวน 54,809 คน ทั้งนี้ สำนักงานของไทยที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ได้แก่ กรุงโตเกียว (สถานเอกอัครราชทูตและทีมประเทศไทยหลายสำนักงาน) นครโอซากา (สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) จังหวัดฟุกุโอกะ (สถานกงสุลใหญ่และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) และจังหวัดฮิโรชิมา (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน) และญี่ปุ่นมีสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ และสถานกงสุลใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่
การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.2564) มีมูลค่า 1,425,867.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 22.28% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยการส่งออกของญี่ปุ่นมาไทยมีมูลค่า 844,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 581,008 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าไทยมูลค่า 263,852 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นนับเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากจีน ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของญี่ปุ่นรองจาก สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาด 4.25% (สัดส่วนสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน) ทั้งนี้ สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องมือวิทยาศาสตร์
การลงทุน ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด มีสัดส่วน 54% ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติสะสมในไทย สถิติการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเมื่อปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.2564) พบว่ามีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนญี่ปุ่นในไทยจำนวน 96 โครงการ รวมเป็นมูลค่า 23,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) การผลิต Hard Disk Drive การผลิตคอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicles-PHEV)
ด้านรถไฟและระบบราง ไทยและญี่ปุ่นลงนามบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางเมื่อปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบรางเชื่อมแต่ละภูมิภาคของไทย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการขนส่งด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวในอนาคต ความร่วมมือพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่นที่สำคัญ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (อยู่ระหว่างการเจรจา) 2) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor-SEC) กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และ 3) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก ช่วงแม่สอด-มุกดาหาร นอกจากนี้ บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับไทยในการสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ใช้เงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น) รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบรางและพื้นที่โดยรอบ เช่น ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เพื่อศึกษาการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบรางรถไฟเชิงพาณิชย์เส้นทางจากด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีถึงด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางใน กทม.และปริมณฑล ระยะที่ 2 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่บางซื่อสู่เมืองอัจฉริยะ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทักษะของแรงงานไทย โดยมีการจัดตั้งความริเริ่ม Thailand-Japan Industrial HRD Initiative ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับญี่ปุ่น เพื่อพร้อมรองรับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยสำนักงานอาชีวศึกษาแห่งชาติของญี่ปุ่น (KOSEN) ได้ตั้งสำนักงานที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทยเมื่อ ธ.ค.2559 เพื่อช่วยเหลือในการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาในไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและไทยยังมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ด้านสาธารณสุขในประเทศที่สาม รวมถึงความร่วมมือ ทวิภาคีในการพัฒนากลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) เมื่อ พ.ย.2558 ซึ่งญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนความรู้ด้านเทคนิคและงบประมาณสำหรับโครงการของภาคเอกชนไทยที่จะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น ภาคเอกชนญี่ปุ่นเตรียมจัดตั้ง EEC Automation Park ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics และ Automation ที่เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะตามแนวคิด e-F@ctory Alliance
องค์กรต่างๆ ของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมในไทย ได้แก่ 1) Overseas Human Resources and Industry Development Association (HIDA) Japan Oversea Development Corp. (JODC) 3) The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS) 4) Japan External Trade Organization (JETRO) 5) Japan International Corporation Agency (JICA) 6) Japan-Thailand Economic Corporation Soceity (JTECS) 7) Japanese Chamber of Commerce (JCC) 8) Japan Student Services Organization (JASSO) และ 9) Japan National Tourism Organization (JNTO)
กรอบความร่วมมือและข้อตกลงที่สำคัญระหว่างญี่ปุ่น-ไทย 1) การประชุมหุ้นส่วนทางการเมืองไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations-JTPPC) 2) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement-JTEPA) 3) คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ 4) การประชุมประจำปีความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Partnership Program in Technical Cooperation-JTPP) 5) ข้อตกลงทางการบิน มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 ก.ค.2496 6) ข้อตกลงทางวัฒนธรรม มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 ก.ย.2498 7) ข้อตกลงทางการพาณิชย์ มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.2501 8) ข้อตกลงทางภาษี มีผลบังคับใช้เมื่อ 24 ก.ค.2506 9) ข้อตกลงในการส่งอาสาสมัครร่วมมือเยาวชน มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ม.ค. 2524 10) ข้อตกลงความร่วมมือทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 พ.ย.2524 และ 11) สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษไทย-ญี่ปุ่น ลงนามเมื่อ 22 ก.ค.2552
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์เมื่อ 14 ต.ค.2564
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
2) ทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล
3) การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9
4) พัฒนาการความสัมพันธ์ญี่ปุ่น – ไต้หวัน และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน
5) บทบาทและนโยบายของญี่ปุ่นต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกตามแนวคิด Free and Open Indo-Pacific และความร่วมมือของกลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย)
6) บทบาทญี่ปุ่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในภูมิภาค