หลังจากรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 20 ม.ค.64 ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน วัย 78 ปี นักการเมืองชาวเพนซิลเวเนีย สังกัดพรรคเดโมแครต ผู้นำของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ พร้อมกับรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ก็เร่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้ชาวอเมริกันและประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า สหรัฐฯ จะกลับมาเป็นผู้นำโลกที่เข้มแข็ง และจะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศให้ยังคงอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตย มีเสรีภาพ และเคารพสิทธิมนุษยชน
ท่าทีดังกล่าวเป็นทั้งการบอกชาวอเมริกันอย่างน้อย 81 ล้านคนที่โหวตให้ประธานาธิบดีไบเดนชนะการเลือกตั้งว่า สหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปจากยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบาย “America First” แต่กลายเป็น “America Alone” ด้วยการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงและความร่วมมือสำคัญ ๆ ที่อยู่ในความสนใจของโลก เช่น ข้อตกลงโลกร้อน (Paris Agreement) โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ของ WHO รวมทั้งข้อตกลงทางเศรษฐกิจอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีเรื่องกับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งในยุโรปและเอเชีย จากการร้องขอให้สมาชิกเนโตเพิ่มงบประมาณสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคง และให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้รับภาระเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการประจำการกองทัพสหรัฐฯ ในประเทศทั้งสองด้วย
สำหรับการที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นผู้นำโลกที่เข้มแข็ง ประธานาธิบดีไบเดนย้ำนโยบายดังกล่าว ด้วยการแถลงการณ์ โทรศัพท์หารือกับผู้นำต่างชาติ สร้างเว็บไซต์ รวมทั้งทวีตข้อความเพื่อย้ำความจริงจังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เมื่อประกาศแล้วประธานาธิบดีไบเดนก็ต้องขับเคลื่อนให้นโยบายเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างผลงานใน 100 วันแรก ที่เป็นช่วงเวลาที่สื่อมวลชนและชาวอเมริกันจับตาเพราะถือว่า 100 วันแรกเป็นเกณฑ์ (benchmark) ที่จะวัดความสามารถและประเมินความสำเร็จของรัฐบาลชุดใหม่ได้
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประธานาธิบดีไบเดนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงและรวดเร็ว คือ การออกคำสั่งผู้บริหาร (executive order) รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้นำรัฐบาล เพื่อสั่งการให้หน่วยงานสหรัฐฯ ทบทวนนโยบายต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ หรือคองเกรส ตั้งแต่รับตำแหน่ง ประธานาธิบดีไบเดนลงนามในคำสั่งผู้บริหารแล้วอย่างน้อย 45 ฉบับ มากกว่าประธานาธิบดีคนอื่น ๆ และอย่างน้อย 16 ฉบับเป็นคำสั่งยกเลิกนโยบายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น ระงับการสร้างกำแพงบริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ยกเลิกมาตรการเข้มงวดการคัดกรองบุคคลจากประเทศมุสลิมที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมัน Keystone XL การกลับเข้าข้อตกลงโลกร้อน และการเข้าร่วมโครงการพัฒนาวัคซีน COVAX ของ WHO
การใช้อำนาจผู้บริหารดังกล่าว นอกจากจะเป็นการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวอเมริกันที่เป็นฐานเสียงแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า ประธานาธิบดีคนใหม่กำลังรีบร้อนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะต้องทำให้แตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ถูกใจชาวอเมริกัน และทำให้ถูกใจประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ กำลังต้องการกลับมาเป็นผู้นำและเป็นผู้เล่นสำคัญอันดับต้น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ ถูกจีนแทนที่ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และในพื้นที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะดำเนินนโยบายบางอย่างของประธานาธิบดีไบเดนที่หวังจะนำสหรัฐฯ กลับไปเป็นผู้นำโลกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาย เพราะกำลังถูกโจมตีว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันอย่างแท้จริง หรือถูกเรียกว่า “America Last” ทั้งเรื่องการยกเลิกโครงการท่อขนส่งน้ำมัน และการกลับเข้าข้อตกลงโลกร้อน เพราะชาวอเมริกันในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันอาจตกงาน ดังนั้น ประธานาธิบดีไบเดนอาจเผชิญความท้าทายจากชาวอเมริกันที่กังวลกับความแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ในประชาคมระหว่างประเทศ แต่ชาวอเมริกันกลับต้องมารับภาระจากการเป็นผู้นำโลก จนชาวอเมริกันอาจกลับไปคิดถึงนโยบายแบบอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่คอยบอกว่าเป็น “America First” ซึ่งแค่ได้ฟังก็รู้สึกดี ทั้งทีผลงานอาจจะไม่เป็นไปตามที่สัญญาไว้ก็ได้
เรียบเรียงจาก
– https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/10/donald-trump-foreign-policy-america-first/616872/
– https://edition.cnn.com/interactive/2021/politics/biden-executive-orders/index.html
– https://www.foxnews.com/media/laura-ingraham-joe-biden-america-last-agenda