สหประชาชาติเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาสมัยสามัญครั้งที่ 78 หรือ การประชุม United Nations General Assembly (UNGA) ไปแล้วเมื่อกันยายน 2566 ภายใต้หัวข้อชื่อว่า “Rebuilding trust and reigniting global solidarity” หรือสาระสำคัญเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือและภราดรภาพของโลก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน การประชุม UNGA ครั้งที่ 78 นี้จัดขึ้นที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเหมือนเช่นทุกปี มีผู้แทนจาก 193 ประเทศเข้าร่วม และครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า 1 ในบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ ที่มาเข้าร่วม ก็คือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติชาวโปรตุเกส ที่เข้าร่วมการประชุมวาระสำคัญ ๆ และเรียกได้ว่าแสดงบทบาทได้ชัดเจนในฐานะการเป็นกระบอกเสียงให้ประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นสัดส่วนจำนวนมากในโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงหลากหลายรูปแบบ ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนและโลกเดือด โรคระบาด และผลประทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ
บทความนี้จึงอยากชวนทำความรู้จักและเข้าใจบทบาทของคุณแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN คนปัจจุบันที่นับว่าเป็นบุคคลที่อยู่ท่ามกลางแรงกดดัน การเปลี่ยนผ่าน และความท้าทายอย่างแท้จริง
แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติวัย 74 ปี เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อ 1 มกราคม 2560 ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้คนที่ 9 สำหรับตำแหน่งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่อย่างสหประชาชาติให้สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ของมันไปได้ เพราะในฐานะหัวหน้าสำนักงานตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 7 นายกูเตอร์เรสจะต้องกำหนดวาระหารือต่าง ๆ ต้องประสานการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเลขาธิการในการประชุมของสมัชชา คณะมนตรี และทำหน้าที่ตามที่องค์กรภายใต้ UN มอบหมายให้ นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศได้ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่แสวงหาหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลใดภายนอกองค์กร
เมื่อย้อนดูประวัติคร่าว ๆ ก็จะเข้าใจได้ว่านายกูเตอร์เรส มีประสบการณ์ทางการเมืองและการต่างประเทศยาวนาน ก่อนที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ UN โดยเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของโปรตุเกส ที่ได้รับฉายาว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในรอบ 30 ปี เป็นนักการเมืองสายสังคมนิยม อยู่ในทีมเจรจาของโปรตุเกสช่วงที่เจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และเคยมีบทบาทนำในการทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) โดยดำรงตำแหน่งสูงสุดใน UNHCR อยู่นาน 5 ปี และมีผลงานสำคัญคือการปฏิรูป UNHCR ให้มีความคล่องตัว รวมทั้งขยายพื้นที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินและภาวะสงครามได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ซีเรียในช่วงที่มีวิกฤตสงครามกลางเมืองได้
…เท่ากับว่านายกูเตอร์เรสมีผลงานที่โดดเด่นในเวทีการเมืองในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศในขณะนั้น รวมทั้งในช่วงที่ตัวเขาเสนอตัวเป็นผู้แทนของโปรตุเกสเพื่อให้สมาชิกสหประชาชาติคัดเลือกเป็นเลขาธิการ UN จากภูมิภาคยุโรปในการประชุม UNGA ครั้งที่ 71 ตัวเขาก็ดูจะได้เปรียบคู่เทียบคนอื่น ๆ แม้ว่าในตอนนั้นหลายฝ่ายจะคาดหวังว่าเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่จะเป็น “สตรี” ก็ตาม แต่เขาเป็น “ตัวเลือก” ที่ดีที่สุดสำหรับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการทำให้ UN ยังคงเป็นองค์การที่น่าเชื่อถือ
ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ปริมาณงานของนายกูเตอร์เรสก็อาจเรียกได้ว่าไม่น้อยไปกว่าใคร ๆ เพราะโลกเผชิญทั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ห่วงโซ่อุปทานติดขัด วิกฤตผู้อพยพ และความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แถมยังซ้ำเติมด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงผันผวนรุนแรง ภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง จนทั่วโลกยอมรับและยกระดับจากปัญหา “โลกร้อน” ไปเป็นภาวะ “โลกเดือด” หรือ Global Boiling กันแล้ว ตลอดจนการลุกฮือของกองกำลังติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ก็ยังไม่ยุติ
ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยปัญหาความมั่นคงทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่แบ่งแยก หรือ Fragmentation นายกูเตอร์เรสเผชิญความท้าทายอย่างมากในการโน้มน้าวให้นานาชาติหันหน้าเข้าพูดคุยเพื่อร่วมมือกันหาทางออกสำหรับปัญหาต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อทบทวนผลงานของนายกูเตอร์เรสที่ผ่านมา ก็ถือว่าเขาได้ใช้บทบาทของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงให้นานาชาติได้ดีเท่าที่เขาจะทำได้แล้ว เพราะทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ความไม่มั่นคงระดับโลก สื่อต่าง ๆ ก็จะรายงานความเห็นและข้อเรียกร้องของเลขาธิการ UN อยู่เรื่อย ๆ ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความรุนแรง ปัญหาด้านการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และปัญหาความมั่นคงมนุษย์
ที่สำคัญและน่าสนใจ ก็คือ นายกูเตอร์เรสคนนี้สนับสนุนโลกที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว (multipolar world) ที่มอบโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ มากกว่าขั้วอำนาจรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้น เราน่าจะได้เห็นบทบาทของนายกูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติคนนี้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มหาอำนาจ ได้มีบทบาทนำในเวทีโลกมากขึ้น และที่น่าติดตามต่อไป คือบทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติคนนี้ในการประชุม Summit of the Future ในปี 2567 ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่เปิดให้ประเทศต่าง ๆ ได้กลับเข้ามายืนยันคำมั่นสัญญาต่อกฎบัตรสหประชาชาติ หรือ UN Charter กันอีกครั้ง เพื่อให้ทุกประเทศยังคงมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมสันติภาพ เศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก ร่วมมือกันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนบทบาทของเยาวชน และการเปลี่ยนแปลงโลกสู่หลักธรรมาภิบาล
ทั้งหมดนี้ แม้ว่านายกูเตอร์เรสจะมีบทบาทเด่นในการนำเสนอและย้ำเตือนผู้แทนนานาชาติ และมีสิทธิในการกำหนดวาระการพูดคุยที่สำคัญต่าง ๆ แต่เลขาธิการสหประชาชาติจะประสบความสำเร็จเพียงลำพังไม่ได้ และ UN ยังจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายเป้าหมายสำคัญระหว่างประเทศ เพื่อให้ “บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติ” ยังคงได้รับความเชื่อถือและมี impact ต่อการแก้ไขปัญหาระดับโลกอย่างแท้จริง.