เมื่อ 24 ตุลาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันโลมาน้ำจืดโลก มีข่าวดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ก็คือการที่ประเทศในเอเชียกับประเทศในอเมริกาใต้รวมกัน 11 ประเทศ จะร่วมมือกันอนุรักษณ์ปลาโลมาน้ำจืด สาเหตุที่ต้องอนุรักษ์และให้ความสำคัญเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมีข้อมูลว่าโลมาเหล่านี้เสี่ยงจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า จากข้อมูลที่เชื่อถือได้บอกว่าจำนวนโลมาน้ำจืดลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีภัยคุกคามหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการทำประมงแบบผิดวิธีการ การสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ มลภาวะจากการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งแหล่งที่อยู่ของโลมาที่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเพราะโลกรวน
……และสำหรับใครที่สงสัยว่าทำไม 2 ภูมิภาคนี้ถึงมาร่วมมือกัน นั่นก็เป็นเพราะว่าแม่น้ำสายสำคัญของทั้ง 2 ภูมิภาคก็มีโลมาน้ำจืดอาศัยอยู่ ได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำแยงซีในเอเชีย ส่วนในอเมริกาใต้ ได้แก่ แม่น้ำแอมะซอน และแม่น้ำ Orinoco เป็นต้น
ความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศอเมริกาใต้ครั้งนี้เกิดขึ้นในการประชุมที่ประเทศโคลอมเบีย โดยเป็นการลงนามในข้อตกลงที่จะอนุรักษ์โลมา 6 สายพันธุ์ เรียกว่า Global Declaration for River Dolphins เป้าหมายสำคัญคือลดคาวมเสี่ยงที่โลมาเหล่านี้จะสูญพันธุ์ รักษาสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อโลมาที่มีอยู่ในปัจจุบัน แก้ไขปัญหามลภาวะที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ พร้อม ๆ กับเพิ่มจำนวนให้มันมากขึ้นผ่านการวิจัยร่วมกัน โดยใช้ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ และ NGO
โลมาน้ำจืด 6 สายพันธุ์ ที่จะได้รับการอนุรักษ์ภายใต้ข้อตกลงนี้ ได้แก่ โลมาอิระวดี โลมาสินธุ โลมาแม่น้ำคงคา โลมาแม่น้ำแยงซี โลมาทูคูซี และโลมาแอมะซอน หรือที่รู้จักในชื่อ “โบโต”
สำหรับประเทศที่ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ กัมพูชา….ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นก็จะมีอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังกลาเทศ บราซิล โบลิเวีย เอกวาดอร์ เปรู และโคลอมเบียที่เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้นั่นเอง จริง ๆ แล้วมีผู้แทนจากอินโดนีเซียไปเข้าร่วมด้วย แต่ไม่มีรายงานว่าอินโดนีเซียร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว แม้ว่าจะมีแม่น้ำ Mahakam เป็นหนึ่งในถิ่นที่อยู่ของโลมาน้ำจืดก็ตาม
หลังจากการไปลงนามในข้อตกลงนี้ ประเทศเหล่านี้ก็จะมีหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อปกป้องโลมาน้ำจืด เช่น จะต้องรับผิดชอบการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์โลมาน้ำจืด ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหามลภาวะในแหล่งน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อที่อยู่ของโลมาน้ำจืด ต้องกำจัดปัญหาการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน ต้องสร้างเครือข่ายองค์กรสนับสนุนการอนุรักษ์โลมาน้ำจืด และสนับสนุนการวิจัยเพื่ออนุรักษ์โลมาน้ำจืดด้วย
กัมพูชา…เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งเดียวที่ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งมีข้อสังเกตว่าในปี 2566 นี้ รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ “โลมาอิระวดี” โลมาน้ำจืดที่อยู่ในแม่น้ำโขงค่อนข้างมาก เช่น การขอความร่วมมือให้ประชาชนไม่จับปลาในพื้นที่บางส่วนที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ รวมทั้งให้ยุติการประมงด้วยการช็อตไฟฟ้า เป็นต้น การดำเนินการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชาให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์โลมาน้ำจืดจริง ๆ อาจเป็นเพราะการอนุรักษ์โลมาน้ำจืดนี้เป็นผลดีต่อการขอความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ให้สนับสนุนและช่วยเหลือกัมพูชาในการอนุรักษ์โลมาเหล่านี้ ให้ยังอยู่ในแม่น้ำโขง และยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในกัมพูชาต่อไป เนื่องจากชาวกัมพูชาในบริเวณพื้นที่ที่พบโลมาน้ำจืดนี้ ก็ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโลมาน้ำจืดมานานแสนนาน โดยเฉพาะการนำนักท่องเที่ยวลงเรือไปชมโลมาในแม่น้ำโขงนั่นเอง
อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะกัมพูชาอยากจะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายในกัมพูชาที่เป็นเหตุให้โลมาอิระวดีต้องตายไปจำนวนมาก เรื่องนี้อาจเพิ่มแรงกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพราะโลมาอิระวดี หรือโลมาแม่น้ำโขง เป็นสัตว์ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ในบัญชีแดงของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ตั้งแต่ปี 2547
สำหรับไทย..เราก็มีการพบโลมาอิระวดีนี้ได้ที่ทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันมีจำนวนอยู่ประมาณ 14 ตัว ว่ากันว่าเป็นฝูงสุดท้าย ซึ่งหลายหน่วยงานและสถาบันศึกษาก็ให้ความสำคัญกับการปกป้องโลมาน้ำจืดนี้เอาไว้ให้รอดต่อไปได้ และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของไทย แม้จะมีโครงการพัฒนารอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งในประเด็นนี้ ไทยมีความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรของอินโดนีเซียด้วย เพราะมีโลมาอิระวดีเหมือนกัน และกำลังเสี่ยงจะสูญพันธุ์เหมือนกันด้วย
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า “การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์” ได้กลายเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาค ทั้งที่มีที่ตั้งห่างไกลกัน แต่เมื่อมีผลประโยชน์ร่วม ก็สามารถขยายความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกันได้ หากข้อตกลงในกรอบ Global Declaration for River Dolphins ประสบความสำเร็จหรือมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม เช่น สามารถเพิ่มจำนวนโลมาน้ำจืดได้เรื่อย ๆ หรือมีวิธีการทำประมงที่ปลอดภัย… ก็จะช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในลุ่มน้ำของทั้ง 2 ภูมิภาค และสามารถทำให้แหล่งน้ำเหล่านี้กลับไปเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพได้ต่อไปในระยะยาว
————————————————————————–