ไม่ว่าจะ Work Life Balance หรือ Work From Home ก็ดูเหมือนเป็นค่านิยมที่ทำให้วิธีการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมการทำงานของวัยแรงงานยุค Baby Boom (ปี 2489 – 2507) ที่เป็นยุคสร้างตัว สร้างเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลก คนในช่วงก่อนหน้านี้เน้นการทำงานหนักเพื่อสร้างความสำเร็จ สร้างรายได้เป็นเงินเก็บก้อนโตเพื่อใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายหลังเกษียณอายุการทำงาน ถือเป็นยุคที่ธุรกิจใหม่ๆ เกิดและเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและกลายเป็นรากฐานของเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าความคิดต่อการทำงานแบบนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อคนยุคหลังเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่คนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ทำ จนเกิดแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่อาจกล่าวได้ว่าส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก
“ทำไมจะต้องทุ่มเทกำลังแรงกายทำงานเก็บเงินก้อนโต เพื่อนำไปใช้ในตอนชรา ทั้งที่สามารถแบ่งรายได้มาสร้างความสุขได้เลย” นี่เป็นแนวคิดของคนในรุ่น Gen X และ Gen Y ทำให้พวกเขาเริ่มมองหารูปแบบการใช้ชีวิตในวัยทำงานที่ไม่ได้มีแต่เรื่องงานอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาไปท่องเที่ยว ทำงานอดิเรก สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ ดูแลสุขภาพ เลือกการทำงานที่มีเวลาชั่วโมงในการทำงานชัดเจน หรืองานที่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องเวลา แต่มีการประเมินผลจากผลงาน ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาได้อย่างมีอิสรภาพ จนทำให้วัยแรงงานรุ่นใหม่มองหางานที่สามารถทำให้ Work Life Balance ได้ มากกว่าเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก
แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างการทำงานของยุค Baby Boom กับ Gen X-Y ถึงความสำเร็จในการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่ในที่สุด Work From Home จากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เห็นแล้วว่า การทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าและออกงานตามเวลานั้นสามารถสร้างสุขภาวะในการทำงานที่ดีได้ และยังมีผลสำรวจจาก Flexjobs ที่พบว่าคุณภาพของงานนั้นดีขึ้นด้วย โดยมีเทคโนโลยีออนไลน์ที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน ลดการเดินทาง และทำให้เวลาเหลือสำหรับทำสิ่งต่างๆ
เมื่อไม่จำเป็นต้องเข้าสำนักงานเพื่อทำงาน นั่นหมายความว่า พนักงานจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยภายในเมืองที่อยู่ใกล้กับแหล่งงาน ปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุโรป พนักงานยินดีที่จะลาออกจากงานที่ต้องเข้าสำนักงานสัปดาห์ละ 5 วันเพื่อหางานที่มีการอนุญาตให้ Work From Home ประกอบกับการที่ค่าครองชีพในเมืองหลวงหรือย่านเศรษฐกิจนั้นมีราคาแพง เช่น สิงคโปร์ นครนิวยอร์ก ปักกิ่ง เป็นแรงผลักดันให้ประชาชนเตรียมเปลี่ยนแหล่งงานย้ายออกจากเมืองเหล่านี้เพื่อไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในชนบท
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น….เมื่อวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเมืองที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ต่างพากันย้ายออก จนทำให้เมืองนั้นต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตึกสำนักงานขนาดใหญ่มีการใช้งานน้อยลง ที่อยู่อาศัยแนวตั้งที่แออัดอย่างคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมน้อยลงไป …การที่สิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ด้านการคมนาคมมีผู้ใช้งานน้อยลง จนไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากแนวคิดด้านการทำงานของวัยแรงงานทวีความรุนแรงขึ้น
….ความตึงเครียดและการแข่งขันในการทำงานนั้น กดดันจนทำให้วัยแรงงานชาวจีนหลายคนเลิกที่จะทำงานและหันกลับมาเป็น “ลูกเต็มเวลา” คอยช่วยเหลือพ่อแม่เล็กๆ น้อยๆ และค่าจ้างไปวันๆ สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้มหานครที่มั่งคั่ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมแหล่งงานที่ทุกคนต่างมุ่งเข้าหาในอดีต “พังทลายลง”…จากค่านิยมในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
มหานครเขตเศรษฐกิจสำคัญอาจไม่จำเป็นต้องมีอยู่ต่อไป แต่คุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่ในประเทศนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ดังนั้น การเตรียมการปรับตัวของเมืองต่อค่านิยมในการทำงาน แม้จะดูว่าเป็นเรื่องเล็ก ที่ดูเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลังในการทำงาน ที่อาจไม่ต้องการรองรับความเครียดและความกดดันได้เหมือนกับคนรุ่นก่อน ….หากไม่มีการทำความเข้าใจความเห็นที่แตกต่างกันของคนในแต่ละรุ่นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ เมืองที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่ ก็อาจจะถูกทิ้งไว้ให้เงียบเหงาได้