การบริหารรัฐกิจ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นวิชาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งสามารถปรับใช้ในงานบริหารทั่วไปได้ ไม่ว่าเป็นบริหารองค์กร หน่วยงาน หรือบริหารงานที่เรากำลังรับผิดชอบอยู่….และในโลกปัจจุบันต้องยอมรับว่า “วิชาบริหารรัฐกิจ” หรือ Public Administration ยังคงมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะทักษะในการจัดการให้กระบวนการและขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ราบรื่นได้นั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชนขนาดใดก็ตาม ซึ่ง “การบริหารรัฐกิจ” อาจจะแตกต่างจากการบริหารธุรกิจอยู่ด้วย เพราะบริหารธุรกิจจะเน้นเพื่อสร้างผลกำไร ขณะที่บริหารรัฐกิจจะมีเป้าหมายที่ไม่ใช่เรื่องกำไร แต่เป็นเรื่องของ “ความเป็นอยู่ของประชาชน” และการดำเนินกิจการของภาครัฐให้ราบรื่น
แม้ว่าประสบการณ์ในการบริหารจะเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริหารส่วนใหญ่…อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีประสบการณ์มากมายหรือชั่วโมงบินในการทำงานยังไม่สูง …ก็ไม่ต้องกังวล เพราะในวงการการบริหารรัฐกิจมีความรู้และทฤษฎีมากมายที่ถ่ายทอดกันมา สามารถใช้เป็น “หลักคิด” และ “ทางลัด” เพื่อเรียนรู้และจัดการกับการบริหารได้ ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอนาคต ที่ผ่านมา
……นักคิดนักทฤษฎีด้านการเมือง ได้สรรค์สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจขึ้นมาหลากหลายแนวทาง เป้าหมายเพื่อทำให้การบริหารจัดการระบบราชการเป็นไปอย่างมีระเบียบ ลดอุปสรรค และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมด้วย ตัวอย่างที่โด่งดังและน่าจะเคยได้ยินได้อ่านผ่านตากันบ่อย ๆ เช่น แนวคิดของแม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ชาวเยอรมนีที่เสนอทฤษฎีบริหารรัฐกิจด้วยระบบราชการ (Bureaucracy) ที่ให้อำนาจกับหน่วยงานราชการ ข้าราชการ เป็นผู้มีสิทธิในการจัดการกิจการของรัฐ โดยระบบราชการของเวเบอร์จะลักษณะเด่นอยู่ 5 อย่างด้วยกัน คือ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เน้นการบันทึกแบบลายลักษณ์อักษร มีกระบวนการทำงานชัดเจนและจริงจัง มีความเป็นเหตุเป็นผลสูงมาก และให้คุณค่ากับความสามารถ ความรู้ และอำนาจ
…ทฤษฎีของเวเบอร์เรียกได้ว่าเป็นทฤษฎียุคคลาสสิค ที่ยังปรับใช้กับการบริหารในทุกวันนี้ได้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย รูปแบบของรัฐและประชาชนเปลี่ยนไป ทำให้เกิดทฤษฎีการบริหารรัฐกิจแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น บ้างก็มีรากฐานพัฒนามาจากแนวคิดของทฤษฎียุคคลาสสิค บ้างก็แหวกแนวไปเลย เพราะเป็นสายคิดใหม่ทำใหม่ จนเกิดแนวคิดหรือหลักการด้านการบริหารที่เพิ่มขึ้นมา เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับนักบริหารองค์กร เช่น ทฤษฎี Democratic Citizenship ที่เน้นความคิดและสิทธิ รวมถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการปกครองและบริหารจัดการกิจกรรมของรัฐ และทฤษฎีการจัดการปกครองสาธารณะแนวใหม่ (New Public Governance) ที่นาย Stephen P. Osborne ชาวสวิตเซอร์แลนด์นำเสนอเมื่อปี 2553 ซึ่งให้ความสำคัญกับการแบ่งระดับการจัดการเป็นหลากหลายรูปแบบ และเชื่อว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ของรัฐและสังคมนั้นเชื่อมโยง รวมทั้งพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ดังนั้น ข้อเสนอของ Osborne ที่มีความหลากหลายย่อมครอบคลุมทุกรูปแบบความสัมพันธ์ในรัฐ และอาจเป็นทางออกให้กับการบริหารรัฐกิจในอนาคตได้
การบริหารรัฐกิจแบบเดิม ๆ จะสามารถรับมือกับอนาคตได้ดีแค่ไหน?…คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาครัฐและความพร้อมของประชาชน เพราะทฤษฎียุคใหม่ ๆ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและสาธารณะ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าการบริหารราชการแบบดั้งเดิมที่มีขั้นตอนเป๊ะ ๆ หรือให้อำนาจเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเกินไป อาจไม่ได้เป็นผลดีต่อการตอบสนองสถานการณ์โลกที่แปรเปลี่ยนไปเร็วขึ้นทุกที ดูเหมือนว่า การบริหารรัฐกิจ หรือรัฐประศาสนศาสตร์จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ดังนั้น แค่ความรู้และประสบการณ์เรื่องการบริหารรัฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นนักบริหารที่ครบเครื่องได้ นักบริหารรุ่นใหม่อาจจำเป็นต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เพื่อร่วมกันทำงานสำหรับการบริหารที่ราบรื่นในอนาคต
บทความนี้จึงอยากเสนอไว้ 4 ประเด็นที่เชื่อว่าสำคัญ …..และอาจจัดได้ว่าเป็น “ความท้าทายในอนาคต” เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องการบริหาร รวมทั้งการบริหารรัฐกิจ เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความท้าทาย ได้แก่ บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชน การปรับการทำงานภาครัฐ และเรื่องจริยธรรม
เรื่องแรก บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ …ทุกวันนี้เราอาจคุ้นเคยกับเป้าหมาย “รัฐบาลดิจิทัล” หรือการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำให้การบริหารและการให้บริการต่าง ๆ สะดวกรวดเร็วง่ายดาย ที่สำคัญคือเข้าถึงง่ายมากขึ้น เพราะตั้งแต่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตกระจายไปทั่วโลก การเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลก็กลายเป็นเรื่องสนุก สร้างโอกาส ตรวจสอบได้ง่าย และสร้างความท้าทายไปพร้อม ๆ กัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปส่งเสริมหรือพัฒนาการบริหารรัฐกิจจึงเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นทุกประเทศ พร้อม ๆ กับการใช้ข้อมูล (data) เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจ และการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกำหนดนโยบายด้วยอารมณ์ สัญชาตญาณ หรือความรู้สึกมากเกินไป ตัวอย่างของการใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนและกำหนดนโยบาย เช่น การคัดเลือกคนเข้าทำงานด้วยข้อมูล และการออกแบบนโยบายด้วยข้อมูลความต้องการของประชาชน เป็นต้น
เรื่องที่สอง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายมากขึ้น นี่คือ เทรนด์สำคัญที่นักบริหารรัฐกิจต้องให้ความสำคัญมากจริง ๆ เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทำให้การตรวจสอบต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่ประชาชนก็สนใจเรื่องกิจการของรัฐ ดังนั้น การเชิญชวนและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการกำหนดนโยบาย รวมทั้งตัดสินใจ จะยิ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการของรัฐ เพราะมีประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน รวมทั้งเป็นผู้เสนอทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยส่งข้อมูล ข้อคิดเห็น และประสานงาน
เรื่องที่สาม การปรับรูปแบบการทำงานของรัฐให้ยืดหยุ่น…ทุกวันนี้ใครปรับตัวได้เร็วกว่า ก็มีโอกาสชนะมากกว่า!! เช่นเดียวกันกับการบริหารจัดการองค์กรและหน่วยงาน การเตรียมพร้อมองค์กรและคนในองค์กรให้มีความสามารถในการปรับตัว พลิกแพลง และยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับระบบมากเกินไป ให้โอกาสกับทางเลือกใหม่ ๆ จะเป็นการสร้างความคล่องตัวให้กับการบริหารราชการ ซึ่งเมื่อองค์กรมีความคล่องตัวนี้ ไม่ว่าความท้าทายในอนาคตจะเป็นยังไง และมีหลากหลายแง่มุมแค่ไหน (multifaceted issues) ก็จะสามารถรับมือและเอาตัวรอดไปได้ด้วยการจัดการที่ดีขึ้น
และเรื่องที่สี่ คือ…… ความสำคัญของเรื่องจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล นี่คือเรื่องจำเป็นและเรื่องสำคัญสำหรับการบริหาร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะไม่ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารที่ดีได้มากแค่ไหน ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง หรือองค์กรมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าไม่มีจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล (Privacy) ในยุคดิจิทัลนี้ บอกได้เลยว่าการบริหารภาครัฐนั้นก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะอาจไม่ได้รับ “ความไว้วางใจ” ที่เป็น key สำคัญอันดับแรก ๆ ของการบริหารภาครัฐ
ทั้ง 4 ประเด็นที่สำคัญต่อการบริหารราชการในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงหลักคิด หรือ “ทฤษฎี” ในวิชาบริหารรัฐกิจตามยุคสมัย เวลา และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องนี้อาจทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า หลักคิดและความรู้เชิงวิชาการ ก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง และการปรับหลักคิดต่าง ๆ มาใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันทั้งยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมทางสังคมก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์…มากกว่าการยึดมั่นกับหลักการใดเพียงหลักการเดียว เพราะสังคมทุกวันนี้อาจต้องการนักบริหารที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว เพื่อพร้อมตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและดำเนินการให้นโยบายต่าง ๆ บรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
————————————————-